เตรียมรับมือน้ำท่วม น้ำหลาก เตือนปชช.ที่อาศัยบริเวณลุ่มแม่น้ำชี แม่น้ำมูล

26 กันยายน 2564

แจ้งเตือนประชาชน ที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำชี แม่น้ำมูล และลำน้ำสาขา รับมือน้ำหลาก อาจส่งผลให้พื้นที่โดยรอบได้รับผลกระทบ

จากกรณีอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทย ส่งผลทำให้ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากในช่วงที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่าจะยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง ในวันที่ 25 -27 กันยายน 2564 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับมือเผชิญเหตุรับน้ำหลากได้ทันที 

 

- กรมราชทัณฑ์ แถลง ไม่พบเรือนจำระบาดใหม่ต่อเนื่อง

- กรมชลฯ เตือน 4 จังหวัด เตรียมรับมือ หลังเขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มการระบายน้ำ

- ผู้ปกครองกุมขมับ การบ้านวิชาภาษาไทย เขียนเป็นสำนวน หมายถึงอะไร?

  นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากปริมาณฝนที่ตกหนักสะสมในพื้นที่ลุ่มน้ำชีและสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนบน ส่งผลให้มีน้ำไหลลงมายังแม่น้ำชีตอนกลางและลำน้ำสาขา ประกอบกับในช่วง 1 – 2  วันที่ผ่านมา ลุ่มน้ำมูล ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี มีปริมาณฝนตกสะสมประมาณ 150 มิลลิเมตร ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำมูลเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่า ระดับน้ำบริเวณสถานีวัดน้ำ M.7 (บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย) อำเภอเมืองอุบลราชธานี จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและอาจล้นตลิ่งได้ รวมทั้งระดับน้ำในแม่น้ำชี แม่น้ำมูล และลำน้ำสาขา จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากปัจจุบันประมาณ 0.5 - 1 เมตร ในช่วงวันที่ 26 กันยายน – 2 ตุลาคม 2564 ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่โดยรอบได้รับผลกระทบ 

รับมือน้ำหลากลุ่มน้ำชี-มูล
สำหรับพื้นที่ใกล้เคียงแม่น้ำซีและลำน้ำสาขาที่อาจได้รับผลกระทบ ได้แก่ ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ บริเวณที่ลุ่มต่ำริมสองฝั่งแม่น้ำชี ในเขตอำเภอบ้านเขว้า อำเภอจัตุรัส อำเภอคอนสวรรค์ และอำเภอเมือง ลำปะทาว ในเขตอำเภอเมือง ลำคันฉู ในเขตอำเภอบำเหน็จณรงค์ และอำเภอจัตุรัส ลำน้ำพรม ในเขตอำเภอเกษตรสมบูรณ์  ส่วนในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น จะได้รับผลกระทบในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำชี ในเขตอำเภอแวงน้อย อำเภอแวงใหญ่ และอำเภอมัญจาคีรี ลำน้ำเชิญ ในเขตอำเภอภูผาม่าน และอำเภอชุมแพ  ด้านจังหวัดร้อยเอ็ด จะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบในลำน้ำยัง ในเขตอำเภอเสลภูมิ ส่วนจังหวัดยโสธร มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำชี บริเวณอำเภอเมือง อำเภอมหาชนะชัย อำเภอค้อวัง และอำเภอคำเขื่อนแก้ว 

รับมือน้ำหลากลุ่มน้ำชี-มูล
 

ในส่วนของพื้นที่ใกล้แม่น้ำมูลและลำน้ำสาขาที่อาจได้รับผลกระทบ ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่ได้รับผลกระทบบริเวณที่ลุ่มต่ำริมสองฝั่งแม่น้ำมูล ในเขตเมืองอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ อำเภอสว่างวีรวงค์ อำเภอดอนมดแดง อำเภอตาลสุม และอำเภอพิบูลมังสาหาร ลำเซบาย ในเขตอำเภอม่วงสามสิบ อำเภอเขื่องใน และอำเภอเมือง ลำเซบก ในเขตอำเภอตระการพืชผล อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอตาลสุม และอำเภอเหล่าเสือโก๊ก ลำโดมใหญ่ ในเขตอำเภอทุ่งศรีอุดม อำเภอนาเยีย อำเภอน้ำขุ่น อำเภอเดชอุดม อำเภอนาจะหลวย และอำเภอน้ำยืน 

   จึงขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่จุดเสี่ยงและพื้นที่ที่ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขังอยู่  พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชน ที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำชี แม่น้ำมูล และลำน้ำสาขา ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ เร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ เพื่อรองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน ลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัย การจัดจราจรน้ำในแม่น้ำชีตอนบน ด้วยลดการระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เพื่อเร่งระบายน้ำจากจังหวัดชัยภูมิ และเขื่อนชนบท จังหวัดขอนแก่น 

รับมือน้ำหลากลุ่มน้ำชี-มูล
กรณีที่หากเกิดน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำยัง ให้จัดจราจรน้ำแม่น้ำชีตอนกลาง โดยเร่งระบายน้ำจากเขื่อนยโสธร จังหวัดยโสธร และพิจารณาจัดจราจรน้ำในแม่น้ำชีตอนล่างและแม่น้ำมูล โดยแม่น้ำชีให้ปรับลดการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ รวมไปถึงการชะลอน้ำในลำน้ำสาขา ส่วนแม่น้ำมูลให้ชะลอน้ำที่เขื่อนหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านท้ายน้ำ เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำด้วย ลดการระบายน้ำเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เร่งระบายน้ำแม่น้ำมูลตอนล่าง ให้ไหลลงแม่น้ำโขงให้รวดเร็วมากขึ้น

รับมือน้ำหลากลุ่มน้ำชี-มูล

พร้อมกับเฝ้าระวังปริมาณน้ำในแม่น้ำมูลที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำ M.7 อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี อย่างใกล้ชิด 24 ชั่วโมง 
ทั้งนี้ กรมชลประทานได้เตรียมพร้อมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก ทั้งด้านบุคลากร เครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ รวมไปถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที จนกว่าสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว โดยสามารถติดตามสถานการณ์น้ำได้จากเฟสบุ๊ก กรมชลประทาน และโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือติดต่อสายด่วนกรมชลประทาน 1460 

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก Tnews