"พล.อ.ประยุทธ์"สั่งสตช. เดินหน้าปฏิรูปตำรวจเร่งด่วน7ด้าน

27 สิงหาคม 2564

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. ให้ดำเนินการปฏิรูปในระยะเร่งด่วน 7 ด้าน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบข้อห่วงใยและกระแสเรียกร้องการปฏิรูปตำรวจจากภาคประชาชน ยืนยันว่ารัฐบาลเดินหน้าปฏิรูปองค์กรตำรวจ
 

โดยยึดหลักสาระสำคัญตามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ในหมวดปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ... อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการร่วมของรัฐสภาแล้ว

นายธนกร วังบุญคงชนะ

 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่า กระบวนการยุติธรรมที่เข้มแข็ง คือเสาหลักในการบริหารประเทศ และได้สั่งการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สตช. ให้ดำเนินการปฏิรูปในระยะเร่งด่วน 7 ด้านคือ

พล.อ.ประยุทธ์

1.ด้านโครงสร้างของตำแหน่งข้าราชการตำรวจ

2.ด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล

3.ด้านระบบงานสอบสวนและการบังคับใช้กฎหมาย

4.ด้านการนำระบบเทคโนโลยีมาสนับสนุนการรักษาความปลอดภัย

5.ด้านส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน

6.ด้านการตรวจสอบและกำกับการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส และ 7.ด้านสวัสดิการตำรวจ 

 

 


  สำหรับการปฏิรูปโดยแก้ไขกฎหมายนั้น มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2561 เห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....  ที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) เสนอ แล้วส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา

 

ต่อมามีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 203/2562 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2562 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. และร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. ....

พล.อ.ประยุทธ์

โดยมีนายมีชัย  ฤชุพันธุ์  เป็นประธานกรรมการ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นเลขานุการ ซึ่งได้ยกร่างกฎหมายจำนวน 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ....  และร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. ....

 

จากนั้นมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ปรับปรุงแก้ไขแล้ว และให้เสนอรัฐสภา

 

จากนั้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564  ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 4 ได้พิจารณาและลงมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.  ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .... โดยได้ประชุมมาแล้วถึง 11 ครั้ง

พล.อ.ประยุทธ์

"ท่านนายกรัฐมนตรีเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงองค์กรตำรวจ ด้วยการยกร่าง พ.ร.บ. ตำรวจ ที่ขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยรัฐสภา รัฐบาลพร้อมสนับสนุนเพื่อให้เกิดขึ้นจริง โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ

 

ขอให้ความมั่นใจว่า ทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมายทุกฉบับที่มีอยู่ด้วยความสุจริต โปร่งใส และหากเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายเป็นผู้กระทำความผิดเองนั้น ต้องได้รับโทษขั้นสูงสุดด้วย ซึ่งกรณีของ ผกก.โจ้ รวมทั้งคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เช่นกันเมื่อมีการกระทำผิดต้องรับโทษขั้นสูงสุด" โฆษกรัฐบาล กล่าว

 

ร่างกฎหมายตำรวจไม่คืบ สภาฯถกได้แค่ 14 มาตราจาก 100 กว่ามาตรา 

 

นายวิรัช  รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ กล่าวย้ำถึงสาเหตุที่พิจารณากฎหมายนี้ล่าช้า  เนื่องจากอยู่ในช่วงโควิด-19  สภาใหญ่ปิดต้องปิดการประชุม กรรมาธิการก็ต้องงดประชุมไปด้วย  

 

ขณะเดียวกัน ก็ติดการพิจารณากฎหมายสำคัญหลายฉบับทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และสัปดาห์หน้าก็จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

 

จากนั้นก็จะต่อด้วยการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสาม  แต่ก็คาดการณ์ว่าในช่วงปิดสมัยประชุมสภาจะมีการพิจารณาได้สัปดาห์ละหลายวันและพยายามจะเร่งให้เร็วที่สุดแต่ไม่สามารถตอบได้ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด เนื่องจากสังคมจับตา และคาดหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นส่วนในการปฏิรูปสถาบันตำรวจ

 

อย่างไรก็ตามหลังรัฐประหาร  ร่างกฎหมายนี้ผ่านการพิจารณามาหลายคณะแล้ว ทั้งพลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์  และนายมีชัย ฤชุพันธุ์ พิจารณาคณะละสองปี

 

 

และเมื่อมาถึงสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มอบให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีและสำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกันร่างเสนอต่อสภา ดังนั้นเวลาการพิจารณาต้องมีการหยิบยกร่างของพลเอกบุญสร้าง  ร่างของนายมีชัยและร่างปัจจุบันที่ครม. เสนอมาพิจารณาประกอบกันไป

 

ซึ่งหลายมาตรายังคงสามารถใช้ของเดิมได้  แต่ในส่วนที่มีการแก้ไขเช่น การครองยศ ตำแหน่งเป็นอีกเรื่องที่จะต้องใช้เวลาพิจารณากันนาน นอกจากนั้นก็เป็นไปตามร่างที่รัฐบาลเสนอมา

 

ทั้งนี้กรรมาธิการได้พิจารณาไปแล้วเพียง 14 มาตราจากทั้งหมด 172 มาตรา และปัญหาที่การพิจารณาล่าช้าส่วนหนึ่ง คือข้อถกเถียงในประเด็นโครงสร้างและจะทำอย่างไรให้ตำรวจเป็นของประชาชนมากที่สุด