วิกฤตหนัก พบตลาด 132 แห่ง แพร่เชื้อทำคนติดโควิดแล้ว 1.4 หมื่นรายทั่วประเทศ

24 สิงหาคม 2564

อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยพบตลาด 132 แห่ง แพร่เชื้อทำคนติดโควิดแล้ว 1.4 หมื่นรายทั่วประเทศ พร้อมสั่งยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ในตลาดให้มากขึ้น

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 64 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่พบการระบาดลักษณะกลุ่มก้อน ในสถานที่แออัดที่มีผู้คนมารวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมาก อย่างเช่น ตลาด เนื่องจากมีผู้คนมารวมกันหลายกิจกรรม ทั้งการค้า การขนส่ง รวมถึงลักษณะสถานที่ตลาด ที่มีแบบเก่าแก่ เปิดใหม่ ใกล้ชิดชุมชน และที่สำคัญคนทำงานในตลาดบางกลุ่มมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย

พบตลาด 132 แห่ง

โดยตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. - 10 ส.ค. 64 พบผู้ติดเชื้อในตลาด 14,678 ราย จากตลาด 132 แห่ง ใน 23 จังหวัด ทั้งพื้นที่สีแดงเข้ม สีแดงและสีส้ม  และจากการสำรวจพื้นที่เป็นตลาดที่ผ่านประเมิน 25% ไม่ผ่านประเมิน 5 % และไม่ได้ประเมินตนเอง 70 % บนแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID-19 ตามมาตรการที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ ดังนั้น จึงมีการยกระดับมาตรการเพื่อป้องกัน และควบคุมโรคโควิด-19 ในตลาดโดยเน้นการดำเนินการ 3 ด้าน คือด้านบุคคล สถานที่ และชุมชน ดังนี้

 

พบตลาด 132 แห่ง


1. ป้องกันคน ได้แก่ ผู้ค้า, ลูกจ้าง, แรงงานที่เดินทางเข้าออก, ผู้อยู่อาศัย ผู้ประกอบธุรกิจอื่นๆ ที่อยู่โดยรอบ และผู้ซื้อที่เข้าใช้บริการทุกคน โดยมีมาตรการหลัก คือไม่มีอาการสงสัยการติดเชื้อ ไม่มีประวัติเสี่ยง ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยง ส่วนมาตรการเสริม คือตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ทุกสัปดาห์ทุกคนตามความพร้อม หรือสุ่มตรวจ 10% มีหลักฐานแสดงก่อนเข้าตลาด โดยต้องตรวจไม่เกิน 7 วัน หรือฉีดวัคซีน 2 เข็ม มีหลักฐานแสดงก่อนเข้าไม่น้อยกว่า 14 วัน หรือเคยติดเชื้อหรือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ต้องมีหลักฐานแสดงก่อนเข้า ว่าทำการแยกกักกันไม่น้อยกว่า 14 วัน

2. ป้องกันสถานที่ ประเมินตลาดผ่าน Thai Stop COVID19 Plus เช่น จัดจุดทางเข้าออกทางเดียว คัดกรองอาการไข้ ตรวจประวัติเสี่ยง เป็นต้น จัดมาตรการ DMHTT จัดระบบสุขาภิบาลในตลาด จัดระบบผู้เข้าใช้บริการ และลดกิจกรรมสัมผัสใกล้ชิด


3.จัดระบบเฝ้าระวังควบคุมโรค สุ่มตรวจหาเชื้อในคนและสิ่งแวดล้อมหรือน้ำเสีย หากพบเชื้อโควิด ก็แสดงว่าน่าจะมีผู้ติดเชื้อในตลาด นำมาสู่การค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกต่อไป และทุกตลาดต้องร่วมกับ อปท. จัดทำแผนเผชิญเหตุ มีผู้รับผิดชอบและการซักซ้อมแผน โดยแผนจะปรับเปลี่ยนตามพื้นที่ ลักษณะตลาดและบริบทผู้คน นอกจากนั้น ให้เตรียมสถานที่แยกกักสำหรับผู้ที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวก ประยุกต์การควบคุมกลุ่มและการเดินทางไปกลับคนในตลาด Bubble and Seal ตามบริบทของตลาดและพื้นที่เป็นลักษณะกลุ่มตามการทำงาน หรือกิจกรรมการค้าครอบคลุมการเดินทางและที่พัก