การเมือง

heading-การเมือง

"ไอติม"หลานอภิสิทธิ์ หนุนยกเลิก112 กระดุมเม็ดแรก สู่สังคมที่ประชาธิปไตย

11 ส.ค. 2564 | 13:20 น.
"ไอติม"หลานอภิสิทธิ์ หนุนยกเลิก112 กระดุมเม็ดแรก สู่สังคมที่ประชาธิปไตย

นาย"พริษฐ์ วัชรสินธุ" ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก พริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม - Parit Wacharasindhu ระบุเนื้อหาดังนี้

นาย"พริษฐ์ วัชรสินธุ" ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก พริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม - Parit Wacharasindhu ระบุเนื้อหาดังนี้

[ #ยกเลิก112 : กระดุมเม็ดแรก สู่สังคมที่ประชาธิปไตยและสถาบันพระมหากษัตริย์ อยู่ร่วมกันได้ในโลกยุคใหม่]

1 ปีที่แล้ว (10 สิงหาคม 2563) แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้ประกาศ 10 ข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

1 ปี ผ่านมา ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกพูดถึงโดยหลายกลุ่มอย่างกว้างขวางขึ้น
 

ไอติม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

heading-ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไม่ว่าจะคิดเห็นอย่างไร ทุกข้อเสนอมีความสำคัญยิ่งต่อโครงสร้างทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอด้านกฎหมาย (เช่น การแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112) ข้อเสนอด้านการบริหารราชการแผ่นดิน (เช่น การปรับลดงบประมาณรายจ่ายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์) หรือข้อเสนอด้านประเพณีปฏิบัติ (เช่น การบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล)

ไม่ว่าจะถูกเสนอโดยใครหรือด้วยวิธีใด ทุกข้อเสนอมักถูกโจมตีจากบางกลุ่มที่คัดค้านการปฏิรูปสถาบันฯว่าเป็น ‘การล้มล้าง-เปลี่ยนแปลงการปกครอง’ ไปเป็นระบอบสาธารณรัฐ

แต่หากเราวิเคราะห์ตัว “แก่น” หรือใจความสำคัญของข้อเสนอทั้งหมด เราจะสังเกตเห็นว่าข้อเสนอต่างๆ ล้วนเป็นข้อเสนอ ที่ไม่เพียงแต่อยู่ภายในกรอบของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและสอดคล้องกับหลักสากลของหลายประเทศทั่วโลกที่ปกครองด้วยระบอบนี้ แต่ยังเป็นการพยายามยืนยันและยับยั้งไม่ให้ประเทศเราไถลหลุดจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือ ราชาธิปไตยที่มีประชาธิปไตยเป็นเพียงไม้ประดับ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การบริหารประเทศภายใต้ระบอบประยุทธ์ทำให้หลายคนเกิดข้อกังขามากขึ้นต่อสถานะ ‘เหนือการเมือง’ และ ‘ใต้รัฐธรรมนูญ’ ที่ควรจะเป็นของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย เพราะการกระทำของระบอบประยุทธ์ที่ตั้งใจลาก หรือ ปล่อยให้สถาบันฯ ไหลเข้ามาในความขัดแย้งทางการเมือง ผ่านการกล่าวอ้างและผูกขาดความจงรักภักดีไว้กับตนเพียงผู้เดียว จนทำให้เกิดคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับคณะรัฐประหาร ผ่านความไม่กล้าหาญของนายกรัฐมนตรีที่จะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ เมื่อมีการกระทำใดที่สุ่มเสี่ยงจะขัดกับหลักระบอบประชาธิปไตย หรือผ่านการไม่สามารถชี้แจงอย่างตรงไปตรงมาถึงการตัดสินใจสนับสนุนงบประมาณแก่บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์เพื่อผลิตวัคซีนโควิด จนเกิดข้อครหาเรื่องการเอื้อประโยชน์

1 ปีผ่านมา แม้กลไกนอกระบบจะทำให้เมล็ดพันธุ์ทางความคิดถูกหว่านไปกว้างขวางทั่วประเทศจากความตื่นตัวของภาคประชาชนทั้งบนท้องถนนและในโซเชียลมีเดีย แต่ยังไม่มีต้นใดเติบโตแข็งแรงจนก้าวข้ามหรือทะลุกำแพงของกลไกในระบบ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขกฎหมาย การพิจารณางบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์โดยใช้มาตรฐานเดียวกับการพิจารณางบประมาณของหน่วยงานอื่น ความกล้าหาญของสื่อหลักในการนำเสนอข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมแม้เป็นประเด็นอ่อนไหว

เมื่อผนวกกับที่ฝ่ายอำนาจรัฐมีมุมมองต่อผู้เสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ ว่าเป็น “ภัยต่อความมั่นคงของชาติ” ที่ต้องถูกจับกุมดำเนินคดี ก็ยิ่งซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายลงกว่าเดิม โดยข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า นับตั้งแต่มีการเผยแพร่รายชื่อผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 116 ราย ใน 115 คดี ล่าสุดคือทนายอานนท์ นำภา ที่เมื่อวานนี้ได้เข้ามอบตัวตามหมายจับ กรณีการปราศรัยหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา

การกระทำเช่นนี้ นอกจากสะท้อนว่ารัฐไม่ใจกว้างมากพอจะเปิดใจเจรจารับฟัง ยังต้องการจะบดขยี้ผู้เห็นต่างให้อยู่อย่างยากลำบาก ทำให้หนทางในการเรียกร้องของผู้ชุมนุมหดแคบลงเรื่อยๆ และกำลังบีบให้พวกเขาต้องเลือก ระหว่างการทนอยู่ในระบอบปัจจุบันที่มีปัญหา หรือการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว (ที่มวลชนทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็มี “คำตอบ” อยู่ในใจ)

โจทย์ของวันนี้จึงไม่ต่างจาก 1 ปีที่ผ่านมา คือจะทำอย่างไรให้เรื่องที่ถูกขับเคลื่อนอย่างเข้มข้นอยู่นอกระบบ มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนจากทุกฟากฝ่ายมาร่วมถกเถียง และถูกผลักเข้าไปพิจารณาเพื่อความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในระบบ โดยไม่ต้องรอให้ “จุดต่ำสุด” เดินทางมาถึงและเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าหรือเกิดความสูญเสีย

แม้จะริบหรี่ลงไปมาก แต่ผมเชื่อว่าสังคมไทยยังพอมีโอกาสตอบโจทย์นี้ให้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม การพูดคุยเรื่องนี้จะทำไม่ได้เลย หากเราไม่ติดกระดุมเม็ดแรกที่สำคัญอย่างการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ขัดหลักสากลถึง 3 มิติ และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากรู้สึก “ไม่ปลอดภัย” ในการพูดคุยเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา

มิติที่ 1 = ปัญหาในเชิงการบังคับใช้

มาตรา 112 ไม่ได้วางขอบเขตชัดเจนระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต กับการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย

ในเชิงกฎหมาย การวิจารณ์โดยสุจริตไม่น่าจะเข้าข่ายความผิด เพราะมาตรา 112 เขียนถึงแค่ความผิดจากการที่ “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย..” แต่ในทางปฏิบัติ หลายคนที่แม้จะวิจารณ์โดยสุจริต ก็ยังถูกตัดสินว่าผิด

นอกจากนี้ ความคลุมเครือและความไม่แน่นอนในการบังคับใช้ก็ปรากฎให้เห็นมาโดยตลอด เช่น กรณีการแชร์บทความของสำนักข่าวบีบีซี ซึ่งผู้แชร์ (คุณไผ่ ดาวดิน) ถูกตัดสินว่าผิดมาตรา 112 (ทั้งที่ไม่น่าจะเข้าข่ายหมิ่นประมาท) แต่สำนักข่าวก็ไม่ได้โดนข้อหานี้แต่อย่างใด (ซึ่งถูกต้องแล้วที่ไม่โดนข้อหา และยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าเนื้อหาในบทความไม่น่าจะเข้าข่ายหมิ่นประมาท)

การเพิ่มความชัดเจนตรงนี้ ไม่ควรเป็นเรื่องที่แก้ยาก เพราะการเขียนกฎหมายให้แยกแยะอย่างชัดเจน เป็นสิ่งที่มีตัวอย่างอยู่แล้วในกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ในขณะที่กฎหมายอาญามาตรา 329, 330 ระบุไว้ชัดเจนสำหรับการหมิ่นบุคคลธรรมดา ว่าการ ‘วิจารณ์โดยสุจริต’ หรือการกล่าว ‘ความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน’ เป็นข้อยกเว้นที่ไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท แต่ข้อยกเว้นเหล่านี้กลับไม่ได้ถูกเขียนกำกับกรณีการหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ทั้งที่จริงแล้วการเปิดให้มีการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตอาจเป็นประโยชน์ต่อสถาบันเองด้วย

มิติที่ 2 = ความหนักของโทษ

มาตรา 112 ของไทยกำหนดโทษจำคุกอยู่ที่ 3-15 ปี ซึ่งถือเป็นโทษที่หนักมาก ไม่ว่าจะเทียบกับมิติไหน

ถ้าเทียบกับกฎหมายอื่นๆ ของไทย จะเห็นว่าโทษของมาตรา 112 เทียบเท่ากับการฆ่าคนโดยไม่เจตนา

ถ้าเทียบกับกฎหมายของไทยในอดีตที่มีลักษณะเดียวกัน โทษของมาตรา 112 ในปัจจุบันหนักกว่าโทษในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่กำหนดโทษไว้ที่จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ 7 ปี (แล้วแต่ช่วงเวลา) เสียอีก

หรือหากเทียบกับกฎหมายลักษณะเดียวกันของประเทศอื่นๆ ที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรา 112 ของเราก็มีโทษหนักกว่าหลายประเทศ เช่น สเปน 0-2 ปี, เดนมาร์ก 0-8 เดือน, เนเธอร์แลนด์ 0-4 เดือน ส่วนสหราชอาณาจักร นอร์เวย์ และญี่ปุ่น ไม่ได้กำหนดเป็นกฎหมายอาญา แต่เป็นกฎหมายแพ่ง จึงไม่มีโทษจำคุก มีแต่การเรียกร้องค่าเสียหาย

มิติที่ 3 = ใครฟ้องก็ได้

การที่มาตรา 112 อยู่ในหมวดความมั่นคงทำให้เป็นคดีที่ยอมความไม่ได้ ใครๆ จึงสามารถกล่าวโทษและฟ้องคนอื่นได้ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาหลายปัญหาได้

คนบางกลุ่มอาจตัดสินใจฟ้องมาตรา 112 ด้วยเจตนาที่ต้องการปกป้องสถาบันฯ แต่เมื่อจำเลยถูกตัดสินว่าผิด ความคับแค้นใจก็ไปตกอยู่ที่สถาบันฯ ส่งผลให้สถาบันฯ กลายเป็นคู่กรณีโดยอัตโนมัติ แม้ในบางครั้งสถาบันฯ อาจจะไม่รับรู้ก็ตาม

อีกตัวอย่างหนึ่งของปัญหา คือการที่สถาบันฯ ถูกนักการเมืองบางกลุ่มจงใจนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองกลั่นแกล้งฝั่งตรงข้าม หรือการนำสถาบันฯ ไปใช้ปกปิดการทุจริต เช่น การระบุว่าเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ จนทำให้คนไม่กล้าเข้าไปตรวจสอบ

เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ หลายประเทศจึงมีการระบุ ‘ผู้ฟ้อง’ อย่างชัดเจน อาทิ พระมหากษัตริย์ต้องมีพระราชกระแสรับสั่งหรือยินยอมให้ดำเนินคดีผ่านสำนักราชเลขาธิการ (สหราชอาณาจักร นอร์เวย์) การให้อำนาจนายกรัฐมนตรี (ญี่ปุ่น) หรือกระทรวงยุติธรรม (เดนมาร์ก) เป็นคนฟ้องเท่านั้น

จะเห็นได้ว่า การยกเลิกมาตรา 112 ไม่ใช่ข้อเสนอของ “ผู้ไม่หวังดี-คิดล้มล้างเปลี่ยนแปลงการปกครอง” และไม่ใช่เรื่องที่น่าหวั่นวิตก - หากไม่มีมาตรา 112 พระมหากษัตริย์ยังคงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายหมิ่นประมาททั่วไป

 

ไอติม

 

ในโลกที่ไม่มีมาตรา 112

1. ประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต สามารถทำได้ ไม่มีความผิด (เช่นเดียวกับข้อยกเว้นในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329-330) แต่หากเป็นการหมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย ก็ยังเอาผิดได้เช่นเดิม

2. ในการฟ้องร้อง จะต้องได้รับการอนุมัติจากพระมหากษัตริย์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในฐานะผู้เสียหาย

3. หากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดทำผิดจริง บุคคลนั้นก็ยังได้รับโทษทางอาญาเช่นเดียวกับการหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป (ซึ่งข้อนี้สามารถถกเถียงกันได้ว่าโทษจำคุก 0-2 ปี ฐานหมิ่นประมาท ณ ปัจจุบัน เป็นระยะเวลาที่สูงไปแล้วหรือไม่ ไม่ว่าสำหรับใครก็ตาม)

หากทั้งหมดนี้ยังไม่ทำให้รู้สึกสบายใจ หรือ กังวลว่าการคุ้มครองพระมหากษัตริย์ยังไม่ครอบคลุม ก็สามารถเพิ่มเติมข้อความต่อจากกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายลักษณะมาตรา 112 ที่อยู่ในหมวดความมั่นคง เช่น ที่ญี่ปุ่น เมื่อกังวลว่าข้อ 2 อาจทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องมาดำเนินการฟ้องร้องประชาชนเอง จึงระบุเพิ่มเติมในกฎหมายหมิ่นประมาทไปว่า หากผู้เสียหายคือพระมหากษัตริย์ นายกฯ (ในฐานะผู้นำรัฐบาล) จะเป็นผู้รับผิดชอบการฟ้องร้อง

การเสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 จะไม่เพียงแต่ทำให้กฎหมายของไทยสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยสากล คุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และปกป้องเสถียรภาพ-เกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สง่างาม แต่ยังเป็นหนทางเดียวด้วยซ้ำที่จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่กับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยได้อย่างยั่งยืน

หาก 1 ปีที่แล้ว การกล่าวถึงประเด็นปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ของกลุ่มผู้ชุมนุม ถูกมองว่าเป็นข้อเสนอที่ “ทะลุเพดาน” มาถึงวันนี้ ผมอยากเชิญชวนให้ทุกคนมองว่าการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ควรเป็น “ข้อเสนอพื้นฐาน” ที่สังคมไทยต้องช่วยกันผลักดันให้สำเร็จ ทั้งเพื่อยุติสังคมแห่งความหวาดกลัว เพื่อเป็นหมุดหมายสำคัญของการคลี่คลายวิกฤติการเมือง และเพื่อยืนยันหลักการพื้นฐานที่ว่า การวิจารณ์โดยสุจริต หรือ เผยแพร่ความจริงเพื่อประโยชน์สาธารณะ แม้ไม่ถูกใจผู้ฟังทุกคน แต่กฎหมายต้องคุ้มครองอย่างเท่าเทียม

ป.ล. ผมเคยให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ ใครสนใจอ่านต่อได้ครับ คลิก

#ยกเลิก112

ไอติม

ขอขอบคุณข้อมูลจาก Tnews

ข่าวล่าสุด

heading-ข่าวล่าสุด

ข่าวเด่น

เลขทะเบียนรถ "หลวงปู่ศิลา" ที่ใช้นั่งมาพิธีพุทธาภิเษก "หลวงพ่อใหญ่โชคดี"

เลขทะเบียนรถ "หลวงปู่ศิลา" ที่ใช้นั่งมาพิธีพุทธาภิเษก "หลวงพ่อใหญ่โชคดี"

ภาพสุดท้าย "น้องน้ำตาล" หายตัวปริศนา ก่อนพบร่างลอยแม่น้ำ

ภาพสุดท้าย "น้องน้ำตาล" หายตัวปริศนา ก่อนพบร่างลอยแม่น้ำ

ใครชอบกินของดิบ กินของไม่ค่อยสุก ต้องระวัง อันตรายกว่าที่คิด

ใครชอบกินของดิบ กินของไม่ค่อยสุก ต้องระวัง อันตรายกว่าที่คิด

พรุ่งนี้หนักอีก พายุฤดูร้อนกระหน่ำ 55 จังหวัด เตรียมรับมือ

พรุ่งนี้หนักอีก พายุฤดูร้อนกระหน่ำ 55 จังหวัด เตรียมรับมือ

3 อันดับ จังหวัดราคาที่ดินพุ่งแรงสุดในปี 2568 อยู่ที่ไหนบ้าง

3 อันดับ จังหวัดราคาที่ดินพุ่งแรงสุดในปี 2568 อยู่ที่ไหนบ้าง