วันพืชมงคล วันสำคัญ และประวัติพิธีแรกนาขวัญ

13 พฤษภาคม 2565

วันพืชมงคล และที่มา พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีความสำคัญอย่างไร เกี่ยวข้องกับเกษตรกรมากแค่ไหน และพระโคเสี่ยงทายคืออะไร

วันพืชมงคล 2565 ประวัติที่มา และความสำคัญ รวมถึงขั้นตอนต่างๆ ใน พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่ควรรู้มีอะไรบ้าง 

ประวัติวันพืชมงคล

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย โดยในสมัยนั้นพระมหากษัตริย์จะทรงเสด็จฯ มาเป็นองค์ประธานในพระราชพิธฯ ต่อมาสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ไม่ได้เสด็จฯ มาแต่จะทรงจำศีลเงียบ 3 วัน และมอบอาญาสิทธิ์ให้ “เจ้าพระยาจันทกุมาร” เป็นผู้แทนพระองค์

ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ผู้แรกนาได้เปลี่ยนเป็น “เจ้าพระยาพลเทพ” คู่กันกับการยืนชิงช้า ถัดมาอีกในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการเปลี่ยนกฎระเบียบ คือ ให้ถือว่าผู้ใดยืนชิงช้า ก็ให้ผู้นั้นเป็นผู้แรกนา

อีกทั้งในสมัยรัชกาลที่ 4 นอกจากพิธีพราหมณ์ที่สืบต่อกันมาอยู่แล้ว พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีทางสงฆ์เพิ่มเติม จึงกำเนิด “พระราชพิธีพืชมงคล” เริ่มต้นตั้งแต่บัดนั้นมา

วันพืชมงคล วันสำคัญ และประวัติพิธีแรกนาขวัญ

วันพืชมงคล คือ วันที่กำหนดให้มีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ นับว่าเป็นพระราชพิธีที่มีความเก่าแก่สืบต่อมาตั้งแต่โบราณเพื่อเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเกษตรกรของชาติ อีกทั้งยังเป็นการระลึกถึงความสำคัญของเกษตรกรที่มีต่อเศรษฐกิจไทย

ซึ่งการจัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนี้มีสืบเนื่องมาตั้งแต่เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย การประกอบพระราชพิธีจะกระทำขึ้นที่ท้องสนามหลวง อันประกอบด้วย 2 พระราชพิธี คือ พระราชพิธีพืชมงคล และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่มีความแตกต่างกันดังนี้

พิธีพืชมงคล เป็นพิธีทำขวัญเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ อาทิ ข้าวเปลือกจ้าว ข้าวเหนียว ข้างฟ่าง ข้าวโพก ถั่ว งา เผือก มัน เป็นต้น การประกอบพิธีพืชมงคลก็เพื่อให้พันธุ์เหล่านั้นปราศจากโรคภัย และอุดมสมบูรณ์ มีความเจริญงอกงามดี

พิธีแรกนาขวัญ เป็นพิธีที่เริ่มต้นการไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว ซึ่งการประกอบพิธีแรกนาขวัญนี้ก็เพื่อให้เป็นอาณัติสัญญาณว่า บัดนี้ ฤดูกาลแห่งการทำนา ทำไร่ และเพาะปลูกได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

วันพืชมงคล วันสำคัญ และประวัติพิธีแรกนาขวัญ

การเสี่ยงทายผ้านุ่ง และ พระโคเสี่ยงทาย

ในพระราชพิธีฯ แต่ละปี จะมีการ พยากรณ์ ความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารของปีนั้นๆ 2 ช่วง คือ

ช่วงแรก พระยาแรกนา จะเสี่ยงทายจากผ้านุ่งแต่งกาย โดยเลือกหยิบจากผ้าลาย 3 ผืน คือ สี่คืบ, ห้าคืบ, หกคืบ

ช่วงที่สอง เป็นการเสี่ยงทายจากอาหารเลี้ยงพระโค 7 อย่าง คือ ข้าวเปลือก, ข้าวโพด, ถั่วเขียว, งา, เหล้า, น้ำ, หญ้า โดยผลคำทายขึ้นอยู่กับความยาวของผ้าที่สุ่มเลือก และอาหารที่พระโคเลือกกิน มีดังนี้

ถ้าหยิบผ้าได้สี่คืบ : น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหาย ได้ผลไม่เต็มที่

ถ้าหยิบได้ผ้าห้าคืบ : น้ำจะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ ผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี

ถ้าหยิบได้ผ้าหกคืบ : น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอนจะเสียหาย ได้ผลไม่เต็มที่

ถ้าพระโคกินข้าว,ข้าวโพด : ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี

ถ้าพระโคกินถั่ว,งา : ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี

ถ้าพระโคกินน้ำ,หญ้า : น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์

ถ้าพระโคกินเหล้า : การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง

วันพืชมงคล วันสำคัญ และประวัติพิธีแรกนาขวัญ

ขอบคุณ : กรุงเทพธุรกิจ