กงเต๊ก คืออะไร เรียนรู้ขั้นตอนตามความเชื่อ

21 ธันวาคม 2564

พิธีกงเต๊ก กงเต๊ก เป็นการทำบุญให้แก่ผู้ตาย ตามพิธีของนักบวชนิกายจีนและญวน มีการสวดและเผากระดาษที่ทำเป็นรูปต่างๆ มีบ้านเรือน คนใช้ คำว่า กงเต๊ก เป็นคำสองคำประกอบกัน กง แปลว่า ทำ เต๊ก แปลว่า บุญกุศล นั่นเอง

ในบทความนี้ Thainews จะพาไป เรียนรู้พิธีกรรมจีน ที่ยุคสมัยนี้เริ่มเลือนหายไปตามกาลเวลา นั่นก็คือ พิธีกงเต๊ก แล้ว พิธีกงเต๊กคืออะไร  หรือ กงเต๊ก คืออะไร ไปเรียนรู้พร้อมกัน

ประวัติกงเต๊กในประเทศไทย

เรียนรู้พิธีกรรมจีน

ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าพิธีกงเต๊กเกิดขึ้นสมัยใด งานวิจัยเรื่อง "การปรับตัวของธุรกิจบ้านและเครื่องใช้กระดาษในพิธีกงเต๊กของคนไทยเชื้อสายจีน" โดย สุพร ศาสตร์รัตนมณี ได้อ้างว่า "บันทึกบางแห่งได้ระบุว่าพิธีกงเต๊กมีขึ้นในสมัย (ราชวงศ์) จิ้น หรือประมาณปี พ.ศ. 808-1131 โดยในสมัยราชวงศ์จิ๋นซีฮ่องเต้ที่ได้มีการฝังหุ่นปั้นทหารและหุ่นปั้นม้าหินจํานวนมากมายไว้ภายในบริเวณสุสานของฮ่องเต้"

ส่วนในประเทศไทย งานวิจัยเรื่อง "วิถีชีวิตชุมชนเขตดุสิต กรุงเทพมหานครใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร กรณีศึกษาชุมชนวัดญวนคลองลำปัก" โดย ธีรารัตน์ ทิพย์จรัสเมธา ได้อธิบายว่า พระสงฆ์ญวนเป็นผู้นำเอาพิธีกงเต๊กมาเผยแผ่ในประเทศไทย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพิธีกงเต๊กพระราชทานให้กับพระบรมศพของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เมื่อปี พ.ศ.2405

พิธีกงเต๊กในยุคแรก ไม่นิยมประสานกับพิธีสงฆ์ของไทย จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) จึงได้มีการ จัดพิธีกงเต๊กประสานกับพิธีสงฆ์ไทย เป็นครั้งแรกในงานพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เมื่อปี พ.ศ. 2423

เงินกงเต๊ก

ลำดับ กงเต๊ก เรียนรู้พิธีกรรมจีน การเตรียมงาน

ลำดับ กงเต๊ก

1. ติดต่อ ซินแส หรืออาจารย์ (กรณีที่ต้องการให้มีการดูวันดี)หรือติดต่อวัดในสังกัด คณะสงฆ์จีนนิกาย
2. ติดต่อเขตที่ผู้ตายอาศัยอยู่เพื่อออกใบมรณะบัตร
3. ติดต่อร้านโลงศพ เกี่ยวกับเรื่องโลงศพ พิธีบรรจุศพ การเคลื่อนศพ ฯลฯ
4. นิมนต์พระ เพื่อสวดใบพิธีบรรจุศพ (นิมนต์พระจีน 1-3 รูปทำพิธีบรรจุศพลงโลงและตอกโลงพร้อมจูงศพไปวัด)
5. ติดต่อวัดเพื่อจัดสวดพระอภิธรรม
6. ติดต่อสมาคมจีนเพื่อให้ทางสมาคมช่วยในการดำเนินพิธีการต่างๆ
7. ติดต่อคนรับจัดของเซ่นไหว้ (สามารถจัดการเองได้)
8. ติดต่อพระเรื่องฝังศพ เพื่อสวดมนต์ในระหว่างพิธีฝังศพ (งานฝังนิมนต์พระจีน 1-3 รูปจูงศพ)
9. ติดต่อสุสานที่ต้องการจะนำศพไปฝังหรือติดต่อทางวัดในกรณีเผา
10. ติดต่อของว่างหรืออาหารในระหว่างสวดพระอภิธรรมศพ 7 วัน

การเตรียมของให้สำหรับผู้ตาย 

พิธีกงเต๊ก เริ่มกี่โมง

1. ผ้าคลุมศพ หรือ ทอลอนีป๋วย (หาซื้อได้ที่วัดจีนทุกวัด)
2. ใบเบิกทาง หรือ อวงแซจิ้ (หาซื้อได้ที่วัดจีนทุกวัด นิยมซื้อเป็นชุด คือ 1 ลัง ใช้ทั้งงาน)
3. ภาพของผู้ตายใส่กรอบสำหรับตั้งหน้าโลงศพ
4. ของใช้ส่วนตัว เช่น
4.1 เสื้อผ้าเย็บกระเป๋าทุกใบแบบไม่มีปม (ให้เลือกชุดที่ผู้ตายชอบ)
4.2 รองเท้า
4.3 ไม้เท้า (ถ้ามี)
4.4 แว่นตา (ถ้ามี)
4.5 ฟันปลอม (ถ้ามี)
5. ดอกบัว 3 ดอก
6. ยอดทับทิม
7. เอกสารประจำตัวผู้ตาย เช่นบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน เพื่อออกในมรณะบัตร
8. เงินสด (ค่าใช้จ่ายกรณีเสียชีวิตที่โรงพยาบาล)
9. ซองอั้งเปาหรือซองแดง (กรณีเสียชีวิตที่โรงพยาบาลเป็นเงินตอบแทนให้กับพยาบาล ที่ช่วยอาบน้ำและแต่งตัวให้ศพ)
10. เตี๊ยบ (มีเฉพาะของผู้หญิง เป็นเสมือนใบประวัติของผู้ตาย ส่วนใหญ่จะประมูลได้มาจากวัดพระพุทธบาท สระบุรี)

พิธีกงเต๊กคืออะไร ลำดับ กงเต๊ก

เย็บกระเป๋าทุกใบ เพราะกระเป๋าถือเป็นแหล่งทรัพย์สมบัติ ความเจริญรุ่งเรืองที่จะทิ้งเอาไว้ให้ลูกหลาน

เครื่องแต่งกายของลูกหลานในงาน โดยการแต่งกายของผู้ที่มีความสัมพันธ์ของผู้เสียชีวิตโดยด้านในสุดจะใส่ชุดที่ตัดเย็บที่ผ้าดิบ โดยถือว่าผ้าดิบเป็นผ้าที่มีเนื้อบริสุทธิ์เปรียบดังความรักของบุพการีซึ่งรักเราด้วยความบริสุทธิ์ ส่วนด้านนอกจะใส่ชุดที่ตัดเย็บจากผ้าปอหรือผ้ากระสอบ เรียกว่า หมั่วซ่า โดยจะมีสีหรือเครื่องหมายแสดงความเกี่ยวข้องต่อผู้ตาย

กงเต๊ก

ลูกชาย ลูกชายของผู้ตายทั้งหมดและรวมหลานชายคนแรกที่เกิดจากลูกชายคนโต หลานชายคนแรกที่เกิดจากลูกชายคนโต ถือว่าเป็นลูกคนสุดท้ายของผู้ตาย ใส่ชุดผ้าดิบด้านใน ชุดกระสอบ ประกอบด้วย

1. เสื้อ

2. หมวกทรงสูง ถ้าลูกชายคนใดแต่งงานแล้วจะมีผ้าสี่เหลี่ยมเล็กสีขาว ส่วนคนที่ยังไม่แต่งงานจะเป็นสีแดงติดที่หมวก

3. เชือกคาดเอวที่มีถุงผ้าเล็กๆ ห้อยไว้

4. ไม้ไผ่ (เสียบไว้ที่เอว) ไม้ไผ่เปรียบเสมือนคบเพลิง เพื่อส่องทาง และ ป้องกันอันตรายขณะเดินทางไปฝังศพ

ลูกสาวที่แต่งงานแล้วและลูกสะใภ้ ใส่ชุดผ้าดิบด้านใน ชุดกระสอบ ประกอบด้วย

1. เสื้อ

2. กระโปรง

3. หมวกสามเหลี่ยมยาวถึงหลัง จะมีผ้าสี่เหลี่ยมสีขาวเล็กติดที่หมวก

4. เชือกคาดเอวที่มีถุงผ้าเล็กๆ ห้อยไว้ (กรณีของคนที่ตั้งท้อง จะไม่ใช้เชือกคาดเอวคาดไว้แต่ให้ผูกถุงเล็กๆไว้ที่ด้านขวาของ ชุดกระสอบบริเวณเอว)

พิธีกงเต๊ก เรียนรู้พิธีกรรมจีน

ลูกสาวที่ยังไม่แต่งงาน ใส่ชุดผ้าดิบด้านใน ชุดกระสอบ ประกอบด้วย

1. เสื้อ

2. หมวกสามเหลี่ยม

3. เชือกคาดเอวที่มีถุงผ้าเล็กๆ ห้อย

ลูกเขย ใส่ชุดเสื้อผ้าสีขาว ผ้าผืนยาวสีขาวสำหรับพันรอบ เอว และเหน็บชายผ้าทั้งสองข้างไว้ข้างเอว (คล้ายๆ ชุดในหนังจีน)
หมวกเหมือนลูกชายแต่เป็นสีขาว

หลาน  กรณีที่เป็นหลาน (ลูกของลูกชาย) หมวกจะเป็นสีขาว,หลานนอก (ลูกของลูกสาว) หมวกจะเป็นสีน้ำเงิน
กรณีที่เป็นเหลนใน (หลานของลูกชาย) หมวกจะเป็นสีฟ้า,กรณีที่เป็นเหลนนอก (หลานของลูกสาว) หมวกจะเป็นสีชมพู 

ความเชื่อในพิธีกงเต๊ก ในพิธีจะมีการบรรเลงดนตรีประกอบพิธีด้วย ตาม ความเชื่อ ของชาวจีนโบราณที่เชื่อว่าเสียงดนตรีช่วยขับไล่สิ่งชั่วร้าย สำหรับเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลง อาทิ ปี่ ขิม ซอ กลอง และกระดิ่ง ฯลฯ 

พิธีกงเต๊กมีขั้นตอนแตกต่างกันไปตามแต่ละความเชื่อ สำหรับพิธีกงเต๊กที่จัดโดยพุทธสมาคมหยิ่งอิ้ว มีขั้นตอนทั้งหมด 14 ขั้นตอน มีบทสวดประมาณ 13-14 บทสวด และ ใช้เวลาในการประกอบพิธีประมาณ 7 ชั่วโมง ซึ่งถือว่ามีขั้นตอนและระยะเวลาลดน้อยลงจากธรรมเนียมในอดีต และในแต่ละครั้งก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกหลานผู้เสียชีวิต

พิธีกงเต็ก กระดาษเงิน กระดาษทอง

พิธีกรรมก็อย่างเช่น สวดเปิดมณฑลสถาน เปรียบเป็นการอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายมาประทับที่ปะรำพิธี เพื่อที่จะทำพิธีให้แก่ดวงวิญญาณ, เรียกดวงวิญญาณมาอาบน้ำทานข้าวเปลี่ยนเสื้อผ้า โดยจะนำห้องน้ำกงเต๊กมาวางหน้าศพ ภายในจะมีอ่างขาวใส่น้ำสะอาดและผ้าขนหนูเตรียมไว้ เชื่อว่าเป็นการชำระอกุศลธรรมของผู้เสียชีวิต หรือกรรมที่ผู้เสียชีวิตได้กระทำลงไปโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ หรือ ขอขมากรรม ฯลฯ 

หลังจากนั้นจะมี การเผากระดาษเงินกระดาษทอง รวมถึงกระดาษที่เป็นรูปบ้าน คนรับใช้ รถ หรือสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ตามความเชื่อว่าการเผาสิ่งของเหล่านี้จะถูกส่งไปให้ดวงวิญญาณผู้เสียชีวิตบนสวรรค์ โดยเครื่องกระดาษข้าวของเครื่องใช้ในปัจจุบันถูกปรับให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น มีการผลิตเครื่องกระดาษเป็นรูปสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต รวมไปถึงรถยนต์ และสิ่งของแบรนด์เนมต่างๆ

เงินกงเต๊ก  บ้านกระดาษ เงินกระดาษ กระดาษเงิน กระดาษทอง

และนี่คือ พิธีกรรมจีนโบราณ ที่มีมาตั้งแต่หลายยุคหลายสมัย ซึ่งปัจจุบันนี้ก็นับว่าเป็นพิธีกรรมที่หายาก เพราะโลกก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ความเชื่อต่างๆ ก็ลดหายไป บทความนี้เป็นความเชื่อส่วนบุคคลโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน

ขอบคุณข้อมูลที่มาจาก : วิกิพีเดีย , บีบีซีไทย / ภาพจาก : โซเชียลมีเดีย