เปิดตำนาน กล่องข้าวน้อย ความรักของแม่

22 กุมภาพันธ์ 2567

เปิดตำนาน เรื่องเล่า เกี่ยวกับความรักของแม่ที่มีให้ลูก และสิ่งที่คนเป็นลูกได้ตอบแทนพระคุณของแม่ วันนี้รายการปาฏิหาริย์จะพาไปฟัง เปิดตำนาน กล่องข้าวน้อย ความรักของแม่ ไปติดตามได้เลย

เปิดตำนาน กล่องข้าวน้อย ความรักของแม่ ธาตุก่องข้าวน้อย มีอยู่สองธาตุ ทั้งสองธาตุต่างมีตำนานเรื่องเล่าทำนองเดียวกันวันนี้รายการปาฏิหาริย์ ช่วงเจนจิราหามาเล่า จะพาไปย้อนดูตำนานนี้กันค่ะ

เปิดตำนาน กล่องข้าวน้อย ความรักของแม่

ชาวบ้านต่างเล่าเรื่องราวเป็นนิทานมุขปาฐะสืบทอดกันมายาวนานว่า ในฤดูฝนทุกครั้งแต่ละครัวเรือนต้องไถดะ ไถแปรผืนนา เพื่อเพาะหว่านข้าวกล้ากันเป็นปกติวิสัย ของชุมชนเกษตรกรรม ครอบครัวของชายหนุ่มคนหนึ่ง ผู้กำพร้าบิดาตั้งแต่ยังเล็ก ยังคงเหลือมารดาเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูแต่เพียงผู้เดียว จวบจนถึงวัยหนุ่มฉกรรจ์ บังเอิญวันหนึ่งเขาไปไถนาแต่เช้าตามปกติ เขาไถนาอยู่นานจนสายตะวันขึ้นสูงแล้ว รู้สึกเหน็ดเหนื่อย อ่อนเพลียมากกว่าที่เคยเป็นมา และรู้สึกหิวข้าวมากกว่าทุกวัน ในแต่ละวันมารดาผู้ชราจะมาส่งก่องข้าวพร้อมอาหารการกินให้ทุกเช้า 

เปิดตำนาน กล่องข้าวน้อย ความรักของแม่

แต่เช้าวันนี้ชายหนุ่มรู้สึกเหมือนว่าผู้เป็นมารดา มาส่งข้าวช้าผิดปกติ คงเป็นเพราะความหิวโหยนั่นเอง เขาจึงหยุดไถนาเข้ามาพักผ่อนอยู่ใต้ร่มไม้ ปล่อยเจ้าทุยเดินไปและเล็มหญ้าตามสบาย ขณะเดียวกัน สายตาก็เหม่อมองไปตามเส้นทางที่มารดาเคยเดินมาส่งข้าว สายตาจดจ้องรอคอยมารดาที่จะมาส่งข้าวตามเวลาที่ควรจะมา ด้วยความรู้สึกกระวนกระวายใจ ยิ่งสายตะวันขึ้นสูง แดดยิ่งร้อน ความหิวกระหายก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

ท่ามกลางไอแดดที่กำลังร้อนผ่าว พลันสายตาเหลือบไปเห็นแม่กำลังเดินเลียบมาตามคันนาเหมือนเช่นเคย ด้วยท่าทางร้อนรนพร้อมกับคอนตะกร้าก่องข้าวน้อยโงนเงนไปมาอยู่เบื้องหลัง เขารู้สึกไม่พอใจที่มารดามาส่งข้าวช้า ด้วยความหิวกระหายจนตาลาย อารมณ์พลุ่งพล่าน อีกทั้งเมื่อแลเห็นข้าวก่องนั้นน้อยมาก ดูท่าทางจะไม่พอกิน ด้วยความโมโหหิว จึงเอ่ยปากต่อว่ามารดาด้วยถ้อยคำรุนแรงว่า

“มึงไปทำอะไรอยู่ จึงมาส่งข้าวให้กูช้านัก ก่องข้าวก็เอาก่องน้อย มาให้กิน กูจะกินอิ่มหรือ”

ผู้เป็นแม่เอ่ยปากตอบลูกว่า “ถึงก่องข้าวน้อย แต่แม่ก็ยัดแน่นในดอกลูกเอ๋ย ลองกินเบิ่งก่อน”

ด้วยความหิว ประกอบกับ ความเหน็ดเหนื่อยและโมโหหุนหัน ส่งผลให้หูอื้อตาลาย ไม่ยอมฟังเสียงใดๆ ชายหนุ่มจึงเกิดบันดาลโทสะอย่างแรงกล้า คว้าได้ไม้แอกน้อยเข้าตีมารดาที่แก่ชราจนล้มลง จากนั้นจึงเดินไปกินข้าว จนอิ่มเหลือบดูข้าวก็ยังไม่หมดก่อง จึงรู้สึกว่าตนเองตีแม่ด้วยความโมโหหิว เกิดความรู้สึกผิดชอบชั่วดีขึ้นมาทันใด รีบวิ่งไปดูอาการของมารดาพลัน เข้าสวมกอด และเอ่ยคำขอโทษ ร่างมารดาแน่นิ่งไม่ไหวติ่ง อนิจจา…แม่สิ้นใจไปเสียแล้ว

ชายหนุ่มเถลือกไถลหน้าไปบนร่างที่ไร้ความรู้สึกของมารดา ร้องไห้คร่ำครวญก้มลงกราบที่ร่างของมารดา สำนึกผิดที่ได้ฆ่ามารดาของตนเองด้วยอารมณ์เพียงชั่ววูบ ไม่รู้จะทำประการใดดี จึงเข้าไปกราบนมัสการสมภารวัดเล่าเรื่องให้ท่านฟัง สมภารสอนว่า “การฆ่าบิดามารดาผู้บังเกิดเกล้าของตนเองนั้น บาปหนัก ถือเป็นมาตุฆาต ต้องตกนรกอเวจี ตายแล้วไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดเป็นคนอีก มีทางเดียวจะให้บาปนั้นเบาลงได้ ก็ด้วยการสร้างธาตุฝังกระดูกมารดาไว้ ให้สูงเท่านกเขาเหิน จะได้เป็นการไถ่บาปหนักให้เบาบางลงได้บ้าง” เมื่อชายหนุ่มปลงศพแม่แล้ว ขอร้องชักชวนญาติมิตรชาวบ้านช่วยกันปั้นอิฐก่อเป็นธาตุเจดีย์บรรจุอัฐิแม่ไว้ ผู้คนทั้งหลายต่างให้ชื่อว่า “ธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่” จนตราบเท่าทุกวันนี้

โดยเฉพาะ ธาตุก่องข้าวน้อย วัดทุ่งสะเดา มีลักษณะเป็นธาตุรูปทรงแบบล้านช้าง ฝีมือช่างพื้นถิ่น เป็นธาตุ (เจดีย์) ขนาดเล็กทรงแปดเหลี่ยม ประกอบเป็นฐานบัวเตี้ยๆ เรียกตามภาษาช่างว่า “ฐานเอวขัน” ที่ตกแต่งเป็นบัวคว่ำบัวหงายขึ้น ส่วนตรงกลางเป็นหน้ากระดานที่คอดเล็ก เหนือขึ้นไปตกแต่งเป็นรูปบัวหงายหรือบัวปากระฆัง รองรับองค์ระฆัง ที่ประดิดประดอยรูปแบบทรงสูงชะลูดขึ้นไป จนถึงส่วนยอดที่เรียวแหลม ธาตุลักษณะนี้เป็นธาตุที่พัฒนาต่อเนื่องมาจากธาตุสี่เหลี่ยมแบบล้านช้าง ที่พบเห็นหลายแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนมากสร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23-24 หรือประมาณ 200 กว่าปีมาแล้ว

กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนธาตุก่องข้าวน้อย วัดทุ่งสะเดา เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2479