สถาบันมะเร็งฯ เปิดข้อมูล น้ำตาลเทียม มีสารก่อมะเร็ง จริงหรือไม่

01 กรกฎาคม 2566

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เรื่องน้ำตาลเทียมทำให้เกิดการก่อตัวของโรคมะเร็ง 

จากข้อมูลที่ระบุว่า น้ำตาลเทียมทำให้เกิดการก่อตัวของโรคมะเร็ง ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า

การบริโภคน้ำตาลเทียมไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งในมนุษย์ ซึ่งน้ำตาลเทียม หรือสารให้ความหวาน (Artificial Sweeteners) เป็นวัตถุเจือปนอาหารที่ผลิตขึ้นมาเพื่อแต่งเติมรสชาติหวานให้กับอาหารและเครื่องดื่มแทนน้ำตาลธรรมชาติ โดยตัวอย่างน้ำตาลเทียมที่ได้รับการยอมรับจากองค์กรด้านอาหารและยาในหลายประเทศว่า มีความปลอดภัยสามารถใช้เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลได้ เช่น แอสปาร์แตม ขัณฑสกร หรือแซคคาริน , น้ำตาลหญ้าหวาน หรือสตีเวีย เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ควรบริโภคน้ำตาลเทียมในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ โดยองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (US – FDA) ได้กำหนดปริมาณสูงสุดต่อวันที่สามารถบริโภคน้ำตาลเทียมได้อย่างปลอดภัยโดยไม่เกิดอันตรายใด ๆ (Acceptable Daily Intake; ADI) ซึ่งน้ำตาลเทียมแต่ละชนิดจะมีค่า ADI ที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น แอสปาร์แตมสามารถบริโภคได้ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน เป็นต้น 

สำหรับผู้ที่ต้องการลดบริโภคน้ำตาล ควรจำกัด หรือค่อย ๆ ลดปริมาณการบริโภคน้ำตาลลงให้เป็นความเคยชิน เนื่องจากการบริโภคน้ำตาลเทียมเป็นเพียงตัวเลือกหนึ่งในการควบคุมปริมาณน้ำตาลของร่างกายเท่านั้น

นอกจากนี้ผู้บริโภคควรศึกษาถึงข้อควรระวัง หรือข้อจำกัดในการบริโภคน้ำตาลเทียมแต่ละชนิดอย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อนการบริโภคน้ำตาลเทียม

สถาบันมะเร็งฯ เปิดข้อมูล น้ำตาลเทียม มีสารก่อมะเร็ง จริงหรือไม่

Cr.ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม