"อ.เจษฎ์" เปิดข้อมูลชัด แม้แต่กิ้งกือ ก็มีไซนาไนด์

05 พฤษภาคม 2566

อ.เจษฎ์ อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้ออกมาให้ข้อมูลล่าสุด โดยตั้งหัวข้อเอาไว้ว่า "แม้แต่กิ้งกือ ก็มีไซนาไนด์ (แต่อย่าไปทำร้ายมันนะ)"

เรียกไดว่ากำลังเป็นที่ติดตามกันอยู่กับกรณีสาร ไซยาไนด์ ที่ทุกฝ่ายต่างเป็นห่วงและจับตามอง ซึ่งวันนี้ อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความให้ความรู้ โดยระบุว่า 

"แม้แต่กิ้งกือ ก็มีไซนาไนด์ (แต่อย่าไปทำร้ายมันนะ)"

ไหนๆ ก็เขียนเรื่องเกี่ยวกับพิษจากสารไซนาไนด์ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เช่นในหน่อไม้ดิบและมันสำปะหลังดิบแล้ว (ดูโพสต์ คลิก) ก็ขอเสริมด้วยเรื่องของไซยาไนด์ที่พบในสัตว์บ้างครับ โดยเฉพาะในกลุ่มของ "กิ้งกือ" บางชนิด .. แต่อย่าไปตกใจกลัวอะไรมากนะครับ พิษไม่ได้ร้ายแรงมาก (ถ้าไม่แพ้) รักษาได้ และถ้าเราไม่ไปยุ่งกับเค้า ก็ไม่ต้องกังวลอะไร

  • กิ้งกือ หรือสัตว์พันขา (millipedes) เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ลำตัวยาวและเป็นข้อปล้อง จัดอยู่ในไฟลัมอาร์โทรโปดา (Phylum Arthropoda) ชั้นดิพโพลโปดา (Class Diplopoda) ที่มีมากถึง 10,000 สปีชีส์ทั่วโลก และคาดว่าน่าจะมีมากถึง 80,000 สปีชีส์ โดยมีประวัติยาวนานกว่า 400 ล้านปี
  • จริงๆ กิ้งกือมีขาไม่ถึง 1000 ขา เท่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยศึกษากันมาจนถึงปัจจุบัน พบว่ากิ้งกือมีขามากที่สุด 710 ขา และมีลำตัวยาวตั้งแต่ 2 มิลลิเมตร ถึง 30 เซนติเมตร โดยมักอาศัยอยู่ทั่วไปในดิน ใต้ก้อนหิน ใต้ซากใบไม้ทับถม ตามขอนไม้ผุ ตลอดจนในถ้ำ
  • กิ้งกือมีหนวดสั้น 1 วงปล้อง มีขา 2 คู่เคลื่อนไหวช้า แต่ขาพริ้วไหวเหมือนคลื่น และเป็นสัตว์กินพืชหรือกินซาก จึงไม่จำเป็นต้องพัฒนาอวัยวะสำหรับการล่า (เหมือนอย่างตะขาบ) และไม่มีเขี้ยวสำหรับกัด มีเพียงแผ่นฟันคล้ายช้อนตักไอศครีมสำหรับกัดแทะซากได้เท่านั้น
  • กิ้งกือจึง "ไม่สามารถกัดคนได้" อย่างที่หลายคนมักเข้าใจผิดกัน ฟันกิ้งกือมีไว้กัดแทะได้แต่เศษซากพืชเท่านั้น กัดคนไม่เข้าเลย หรือแค่ทำให้คนที่ถูกกันรู้สึกจั๊กจี้เท่านั้นเอง ส่วนกิ้งกือบางชนิด อาจปล่อยสารพิษพวกไซยาไนด์หรือเบนโซควิโนนออกมาเพื่อป้องกันตัวเท่านั้น ปริมาณเพียงเล็กน้อยที่ไม่ทำให้คนเป็นอันตรายได้
  • กลไกการป้องกันตัวที่พบได้ทั่วไปในกิ้งกือ จะมีการหลั่งของสารเคมีอย่างเช่น ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide) หรือเบนซิลไซยาไนด์ (Benzoyl cyanide) เมื่อพวกมันรู้สึกถึงภัยคุกคามและถูกรบกวน นอกจากนี้กิ้งกือยังปล่อยสารเคมีอื่น ๆ เช่น เมนดีโลไนไตรล์เบนโซเอต (Mandelonitrile benzoate) และเบนซาลดีไฮด์ (Benzaldehyde) ที่เป็นทั้งสารพิษในการป้องกันตัวและเป็นยาปฏิชีวนะในบางครั้ง
  • สารเบนซาลดีไฮด์นั้น มาจากเบนซาลดีไฮด์ ไซยาโนไฮดริน (benzaldehyde cyanohydrin) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นที่สังเคราะห์ขึ้นและเก็บไว้ในต่อมพิเศษ เมื่อกิ้งกือรู้สึกว่ากำลังถูกคุกคาม มันจะหลั่ง cyanohydrins ออกมาจากต่อมพิเศษ และแตกตัวโดยมีเอนไซม์เป็นตัวเร่งเพื่อสร้าง ไฮโดรเจนไซยาไนด์ Hydrogen cyanide (HCN) และปล่อยแก๊สนั้นออกสู่สภาพแวดล้อมในทันทีเพื่อป้องกันตัวเองจากนักล่าทั้งหลายที่เข้าใกล้มัน
  • ไฮโดรเจนไซยาไนด์ เป็นแก็สไม่มีสี มีกลิ่นฉุน และเป็นพิษ ซึ่งสามารถดูดซึมได้ดีผ่านการหายใจและการสัมผัส ก่อให้เกิดผลกระทบแตกต่างกันตามปริมาณที่ได้รับตั้งแต่มีอาการไอ มีเสมหะ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ ระคายเคืองตา หายใจไม่ออก กระทั่งสูญเสียการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย และเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
  • กิ้งกือจะใช้อาวุธเคมีของพวกมันแตกต่างกัน บางชนิดจะค่อย ๆ ปล่อยสารออกมาจากต่อมชนิดพิเศษ ในขณะที่บางชนิดจะม้วนตัวเพื่อบีบสารพิษออกมา หรือพ่นสารไปยังผู้ล่าโดยตรง ทั้งนี้ตัวของพวกมันเองจะไม่ได้รับอันตรายเนื่องจากมีภูมิคุ้มกันต่อสารพิษที่ผลิตขึ้นเอง
  • สำหรับสารกลุ่มเบนโซควิโนน กิ้งกือมีสารดังกล่าวไว้ใช้สำหรับชะโลมตัวเอง เพื่อป้องกันตัวจากศัตรูผู้ล่า โดยสารเบนโซควิโนนนี้จะมีกลิ่นฉุนคล้ายน้ำยาทำความสะอาดและมีฤทธิ์เป็นกรด โดยกิ้งกือจะปล่อยสารนี้ออกมาเพื่อฆ่าสัตว์เล็กๆ เช่น มด เท่านั้น ไม่ได้ก่ออันตรายจนถึงชีวิตต่อมนุษย์
  • แต่อาจทำให้เกิดอาการปวดแสบร้อนได้ โดยเฉพาะผู้แพ้ง่าย หรือเด็กเล็ก เพราะสารเบนโซควิโนน มีฤทธิ์เป็นกรดเมื่อถูกผิวหนังในจุดที่อ่อนบางจึงรู้สึกแสบปวดร้อน หากโดยปริมาณมากอาจเกิดเป็นรอยไหม้ได้
  • ส่วนกรณีการพบผิวหนังมีลักษณะเป็นสีแดงม่วงคล้ำ เนื่องจากเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เมื่อสารเบนโซควิโนน จากกิ้งกือที่มีลักษณะสีเหลืองสัมผัสกับออกซิเจน จึงทำให้มีลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นแ ละต้องใช้เวลาประมาณเกือบ 1 สัปดาห์ ภาวะสีแดงม่วงคล้ำจะค่อยๆ เลือนหายไปเอง
  • สำหรับผู้ที่สัมผัสถูกสารจากตัวกิ้งกือ ให้ใช้น้ำสะอาดหรือน้ำสบู่ ชำระล้างหลายๆ ครั้ง เพื่อเจือจางสารเบนโซควิโนนออกจากผิวหนั งและไม่ควรจับกิ้งกือมาเล่น เนื่องจากหากกิ้งกือปล่อยสารป้องกันตัวออกมา แต่กระเด็นถูกดวงตา จะเป็นอันตรายทำให้เกิดอาการอักเสบและบวมแดงได้

#สรุปย่อ กิ้งกือไม่ใช่สัตว์ที่อันตราย มันไม่ได้จะมากัดคน แต่ถ้าไปสัมผัสถูกตัวของมัน กิ้งกือบางชนิด ก็จะปล่อยสารพิษออกมาจากต่อมพิษข้างลำตัว สารพิษนี้เป็นของเหลวใสไม่มีสี ประกอบด้วยสารกลุ่มไฮโดรเจนไซยาไนด์ ฟีนอล กลุ่มเบนโซควินิน และไฮโดรควิโนน ซึ่งตามธรรมชาตินั้น มีเอาไว้ฆ่าสัตว์ศัตรูตัวเล็กๆ เช่น มด แมลง

ส่วนถ้าคนเราโดนเข้า ก็จะทำให้เกิดการอักเสบเป็นผื่นแดงได้ มีฤทธิ์ทำให้ผิวหนังไหม้ แผลไหม้ มีอาการปวด 2-3 วัน รวมทั้งการระคายเคืองร่วมด้วย ให้ล้างด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาด ทายาแก้อักเสบ โดยทั่วไปอาการมักจะหายภายใน 1 สัปดาห์ / หรือถ้าพิษเข้าตา จะทำให้ระคายเคืองตา อาจทำให้ตาอักเสบ ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดและรีบปรึกษาจักษุแพทย์ทันที เพื่อป้องกันการอักเสบของตาที่อาจเพิ่มมากขึ้น

อ.เจษฎ์ เปิดข้อมูลชัด แม้แต่กิ้งกือ ก็มีไซนาไนด์