ข่าว

heading-ข่าว

เผยชัดแล้ว "โรคซิฟิลิส" สามารถติดต่อผ่านทางไหนได้บ้าง

28 พ.ค. 2568 | 12:55 น.
เผยชัดแล้ว "โรคซิฟิลิส" สามารถติดต่อผ่านทางไหนได้บ้าง

รู้หรือไม่? ซิฟิลิส อาจไม่มีอาการ แต่แฝงอยู่ในร่างกายและแพร่ต่อได้โดยไม่รู้ตัว ตรวจเลือดง่าย ป้องกันได้ ใช้ถุงยางทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ หยุดวงจรการติดเชื้อ

มีเซ็กซ์แบบไม่เสี่ยง...ต้องรู้จัก "ซิฟิลิส" ให้มากขึ้น!
โรคนี้อาจไม่มีอาการ แต่มันสามารถทำลายได้ทั้งชีวิต ตรวจเลือดเถอะ ไม่เจ็บอย่างที่คิด ถ้ารู้เร็วก็รักษาได้ หายขาดจริง ไม่ต้องอาย ใครก็เสี่ยงได้!

หลังล่าสุด มีการระบาดที่ภาคอีสาน โดยข้อมูลจาก โรงพยาบาลศิริราช ได้เผยว่า

ซิฟิลิส (Syphilis) คืออะไร?

ซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย โดยปกติจะติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ผู้ป่วยที่ติดเชื้
ซิฟิลิสหากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดปัญหารุนแรงตามมาภายหลังได้ การดำเนินโรคในขั้นต้นโดยทั่วไปจะเริ่มจากบาดแผล ซึ่งมักพบบริเวณอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก ลักษณะของแผลจะเป็นแผลที่ไม่รู้สึกเจ็บ (Painless sore) หรือเรียกว่าแผลริมแข็ง (Chancre) การแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นสามารถเกิดได้ผ่านทางการสัมผัสบาดแผลนี้กับผิวหนังหรือเยื่อบุต่างๆ โรคซิฟิลิสอาจเป็นปัญหาที่ตรวจพบได้ยาก เนื่องจากการดำเนินโรคหลังจากได้รับเชื้อแล้ว เชื้อแบคทีเรียสามารถหลบซ่อนตัวอยู่เงียบๆ ภายในร่างกายเราได้เป็นเวลาหลายปีก่อนที่จะมีอาการแสดงขึ้นมาในภายหลัง ซึ่งระยะนี้เรียกว่าระยะแฝง (Latent phase) หากเราสามารถตรวจพบการติดเชื้อนี้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ และหลังจากรักษาจนหายขาดแล้ว เราจะไม่เป็นโรคซิฟิลิส เว้นแต่ว่าจะได้รับเชื้อจากผู้ติดเชื้อรายอื่น

ภาพจาก เฟซบุ๊ก ภัคธิญาณ์ บุญตรา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

heading-ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สาเหตุของโรคซิฟิลิส

ซิฟิลิสเกิดจากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema pallidum) ซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายของเราได้ผ่านทางรอยขีดข่วนหรือบาดแผลเล็กๆ บนผิวหนังและเยื่อบุต่างๆ การแพร่กระจายของเชื้อชนิดนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในระยะแรก ซึ่งเป็นระยะที่มีแผลริมแข็ง (Chancre) หรือในระยะที่สอง ซึ่งจะมีอาการแสดงคือมีผื่นขึ้น หรือแม้แต่ในช่วงแรกๆ ของระยะแฝง (Early latent phase) ซึ่งไม่มีอาการแสดงใดๆ เลยก็ตาม

หลายคนมีความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับการติดต่อของเชื้อซิฟิลิส ในความเป็นจริงเชื้อชนิดนี้จะไม่ติดต่อผ่านทางการใส่เสื้อผ้าร่วมกัน ใช้ห้องน้ำร่วมกัน รับประทานอาหารจากภาชนะเดียวกัน หรือแม้แต่จากลูกบิดประตู สระว่ายน้ำ อ่างอาบน้ำ หรือการใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ นอกจากนี้ มีการติดเชื้อบางกรณีที่พบได้ไม่บ่อยนัก สามารถเกิดได้จากการสัมผัสโดยตรงกับบริเวณที่มีการติดเชื้ออยู่ขณะนั้น เช่น ผ่านทางการจูบ เป็นต้น

โรคติดเชื้อซิฟิลิสโดยกำเนิด (Congenital Syphilis)

ซิฟิลิสสามารถติดต่อผ่านทางแม่สู่ลูกระหว่างการตั้งครรภ์ หรือระหว่างการคลอดได้ การติดเชื้อกรณีนี้จะเรียกว่าโรคติดเชื้อซิฟิลิสโดยกำเนิด (Congenital syphilis) ซึ่งนับเป็นการติดเชื้อที่รุนแรง และมีผลร้ายแรงอาจถึงแก่ชีวิตได้ การติดเชื้อซิฟิลิสโดยกำเนิดนี้สามารถทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด ทารกเสียชีวิตในครรภ์ หรือเกิดการเสียชีวิตในทารกแรกเกิดได้ นอกจากนี้การติดเชื้อซิฟิลิสโดยกำเนิดยังสามารถส่งผลให้มีอาการหูหนวก ตาบอด มีความผิดปกติทางโครงสร้างต่างๆ รวมถึงความผิดปกติทางระบบประสาทในเด็กได้ ซึ่งหากเราสามารถตรวจพบและรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ โดยการให้ยาปฏิชีวนะเพนิซิลลิน (Penicillin) จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการต่างๆ เหล่านี้ได้

ภาพจาก เฟซบุ๊ก ภัคธิญาณ์ บุญตรา

อาการของโรคซิฟิลิส (Syphilis) และการวินิจฉัยโรคซิฟิลิส

การติดเชื้อซิฟิลิสจะมีการดำเนินของโรคเป็นระยะๆ แต่ละระยะจะมีอาการต่างกันไป ซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะประกอบไปด้วยระยะที่หนึ่ง (Primary stage) ระยะที่สอง (Secondary stage) ระยะแฝง (Latent stage) และระยะที่สาม (Tertiary stage) อย่างไรก็ตามโรคซิฟิลิสไม่ได้จำเป็นต้องมีลำดับการดำเนินโรคตามที่กล่าวเสมอไป อาจมีการสลับ หรือมีระยะทับซ้อนกันได้ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อซิฟิลิสบางคนอาจได้รับเชื้อไปเป็นระยะเวลานานหลายปีโดยไม่ได้รู้ตัวเลยก็เป็นได้

โรคซิฟิลิสระยะที่หนึ่ง (Primary Syphilis)

โรคซิฟิลิสมักจะแสดงอาการเริ่มต้นจากการมีแผลเล็กๆ ที่เรียกว่าแผลริมแข็ง (Chancre) โดยแผลริมแข็งจะเกิดขึ้นหลังจากเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายประมาณ 3 สัปดาห์ สำหรับผู้ชายแผลริมแข็งมักจะเกิดในบริเวณปลาย หรือลำอวัยวะเพศ ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่ทันสังเกต หรือไม่รู้ตัวว่ามีแผลเกิดขึ้น เนื่องจากแผลนี้จะไม่มีอาการปวด และแผลอาจซ่อนอยู่ภายในช่องคลอด หรือทวารหนัก จึงเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยบางรายไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อซิฟิลิสได้ แผลริมแข็งนี้โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเพียงตำแหน่งเดียว แต่ก็มีบางส่วนที่มีแผลหลายตำแหน่ง โดยแผลริมแข็งจะสามารถหายเองได้ภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ แม้ไม่ได้ทำการรักษาใดๆ ก็ตาม

โรคซิฟิลิสระยะที่สอง (Secondary Syphilis)

หลังจากที่แผลริมแข็งหายไปไม่นาน ผู้ป่วยซิฟิลิสอาจมีผื่นขึ้นได้ ผื่นนี้มักจะขึ้นบริเวณลำตัว แต่ก็สามารถกระจายไปทั่วร่างกาย รวมถึงมีผื่นขึ้นที่ฝ่ามือและฝ่าเท้าได้เช่นเดียวกัน หรือบางครั้งอาจมีแผลนูนบริเวณอวัยวะเพศร่วมด้วย โดยปกติผื่นจากซิฟิลิสจะไม่มีอาการคัน แต่อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยดังต่อไปนี้

- อาการปวดกล้ามเนื้อ
- ไข้
- เจ็บคอ
- ต่อมน้ำเหลืองโต

อาการต่างๆ เหล่านี้สามารถหายไปเองได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ แต่ก็สามารถกลับมาเป็นใหม่ได้เช่นเดียวกัน

โรคซิฟิลิสระยะแฝง (Latent Stage)

หากไม่ได้รักษา ซิฟิลิสระยะที่สอง (Secondary stage) สามารถดำเนินต่อไปเป็นระยะแฝง (Latent stage) ได้ ในระยะแฝงผู้ป่วยจะไม่มีอาการแสดงใดๆ ที่บ่งบอกถึงการติดเชื้อซิฟิลิสเลย โดยระยะแฝงนี้อาจกินระยะเวลาได้นานเป็นปี

โรคซิฟิลิสระยะสาม (Tertiary stage)

ซิฟิลิสระยะแฝง (Latent stage) อาจมีการดำเนินโรคต่อเนื่องไปสู่ระยะสาม (Tertiary stage) โดยมีอัตราส่วนผู้ติดเชื้อประมาณ 15-30% จากผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้ทำการรักษาทั้งหมดจะพัฒนามาสู่ระยะนี้ อาการของซิฟิลิสระยะที่สาม การติดเชื้ออาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อสมอง ระบบประสาท ตา หัวใจ เส้นเลือด ตับ หรือกระดูกและข้อต่อ ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้ จะเกิดขึ้นหลายปีหลังจากติดเชื้อแต่ไม่ได้รักษา

โรคซิฟิลิสโดยกำเนิด (Congenital Syphilis) และลักษณะจมูกแบบซิฟิลิส (Syphilis Nose)

สตรีมีครรภ์สามารถแพร่เชื้อซิฟิลิสจากตนเองไปสู่ทารกในครรภ์ได้ ทั้งผ่านทางรกและติดเชื้อระหว่างการคลอด โดยส่วนใหญ่ทารกที่ติดเชื้อจะไม่มีอาการที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน บางส่วนอาจมีผื่นขึ้นที่บริเวณฝ่ามือหรือฝ่าเท้าได้ ในเวลาต่อมาทารกที่ติดเชื้อซิฟิลิสอาจเกิดปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินผิดปกติ มีโครงสร้างฟันผิดปกติ หรือมีรูปร่างจมูกผิดปกติ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวเรียกว่า จมูกแบบซิฟิลิส (Syphilis nose) หรือจมูกอานม้า (Saddle nose) ซึ่งส่วนของดั้งจมูกจะแฟบบุ๋มลงไป

การตรวจและวินิจฉัยโรคซิฟิลิส 

แพทย์จะตรวจเพื่อยืนยันการติดเชื้อ โดยใช้วิธีเจาะเลือดหาแอนติบอดี (Antibody) ที่ร่างกายสร้างขึ้นมา โดยแอนติบอดีต่อเชื้อซิฟิลิสนี้จะคงอยู่ในร่างกายเราได้เป็นเวลานานหลายปี ทำให้การตรวจด้วยวิธีนี้สามารถบ่งบอกการติดเชื้อในอดีตได้ ในซิฟิลิสระยะต้นและระยะที่สอง แพทย์อาจเก็บตัวอย่างเซลล์ (Cell) จากบริเวณบาดแผลหรือบริเวณผื่นเพื่อตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย

หากแพทย์สงสัยว่าคุณอาจมีการติดเชื้อเป็นโรคซิฟิลิสระยะที่สาม และมีอาการแทรกซ้อนทางระบบประสาทเกิดขึ้น อาจมีความจำเป็นที่จะต้องเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar puncture) เพื่อนำน้ำไขสันหลัง (Cerebrospinal fluid) ไปตรวจหาความผิดปกติต่อไป

ผลกระทบที่เกิดจากซิฟิลิส

หากไม่ได้รับการรักษา ซิฟิลิสสามารถส่งผลต่อหัวใจและสมอง และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ จากรายงานการศึกษาพบว่าการติดเชื้อซิฟิลิสมีความเกี่ยวข้องกับโรคเส้นเลือดแดงโป่งพอง (Arterial aneurysm) การอักเสบของเส้นเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้า (Inflammation of aorta) ซึ่งเป็นเส้นเลือดแดงหลักของร่างกาย และยังมีผลทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อลิ้นหัวใจได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ซิฟิลิสยังเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางระบบประสาท และระบบไหลเวียนโลหิตอีกหลายประการ ได้แก่

- โรคหลอดเลือดสมองแตก ตีบ ตัน หรือฉีกขาด (Stroke)
- โรคเยื่อหุ้มไขสันหลังอักเสบ (Meningitis)
- การได้ยินผิดปกติ
- การมองเห็นผิดปกติ
- โรคความจำเสื่อม

การติดเชื้อซิฟิลิส ยังมีผลเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) อีกด้วย จากรายงานการศึกษาระบุว่า ผู้ใหญ่ที่ได้รับเชื้อซิฟิลิสทางการมีเพศสัมพันธ์ มีโอกาสที่จะติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ได้มากถึง 2-5 เท่าของคนทั่วไป โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่บาดแผลริมแข็งในโรคซิฟิลิสมีเลือดออก และทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสเอชไอวีได้ ในผู้หญิงซิฟิลิสเป็นปัญหาสำคัญในช่วงที่ตั้งครรภ์ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า อาจทำให้เกิดการติดเชื้อซิฟิลิสโดยกำเนิด และมีผลทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด ทารกเสียชีวิตในครรภ์ และการเสียชีวิตของทารกได้ในช่วงไม่กี่วันหลังคลอด และท้ายที่สุดผู้ป่วยที่ติดเชื้อซิฟิลิสอาจเกิดตุ่มหรือก้อนเนื้อขนาดใหญ่ที่เรียกว่า กัมม่า (Gummas) ซึ่งกัมม่าสามารถเกิดได้ทั้งบริเวณผิวหนัง กระดูก หรืออวัยวะภายในก็ได้ โดยจะเกิดในระยะหลังของการติดเชื้อ (Late stage of infection)

การรักษาโรคซิฟิลิส

หากพบอาการป่วยของโรคนี้ ควรได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยไม่มีผลแทรกซ้อนในระยะยาว

ข้อแนะนำ วิธีรักษาสำหรับโรคซิฟิลิส คือ การใช้ยาเพนิซิลลิน (Penicillin) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่ง ในช่วงการรักษาแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะจบการรักษา และผลตรวจเลือดของผู้ป่วยก็ต้องได้รับการยืนยันว่าหายขาดแน่นอนแล้ว

นอกจากนี้ คู่นอนควรเข้ามารับการตรวจและรักษาอย่างครบถ้วน ผู้ป่วยควรรับการตรวจหาเชื้อเอชไอวี (HIV) เนื่องจากการป่วยเป็นโรคซิฟิลิสนั้นจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีที่สูงขึ้นกว่าเดิมด้วย

โรคซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่?

โรคซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าได้รับการตรวจและรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เนิ่นๆ หากพบว่าการติดเชื้อของผู้ป่วยอยู่ในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี จะสามารถหยุดการลุกลามของโรคได้ด้วยการฉีดยาเพนิซิลลินเพียง 1 เข็ม แต่ถ้าผู้ป่วยมีการติดเชื้อเป็นระยะเวลามากกว่า 1 ปี อาจต้องรับการยาฉีดชนิดนี้มากขึ้นอีก เมื่อพบว่าผู้ป่วยแพ้ยาเพนิซิลลินแพทย์ก็จะเสนอการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะชนิดอื่นๆ แต่กระนั้นยาเพนิซิลลินเป็นยาปฏิชีวนะเพียงชนิดเดียวที่มีข้อมูลในการป้องกันการติดเชื้อซิฟิลิสแต่กำเนิด

ปฏิกิริยาจาริช-เฮิร์กไซเมอร์ (Jarisch-Herxheimer Reaction)

ผู้ป่วยอาจพบเจออาการที่เรียกว่า ปฏิกิริยาจาริช-เฮิร์กไซเมอร์ ในวันแรกของการรักษาโรคซิฟิลิส อาการที่เป็นผลจากปฏิกิริยาดังกล่าว มีดังนี้

- มีไข้และหนาวสั่น
- คลื่นไส้
- ปวดเมื่อยบริเวณกล้ามเนื้อและข้อกระดูก
- ปวดศีรษะ
- ซึ่งอาการเหล่านี้มักหายไปเองภายใน 1-2 วันหลังแสดงอาการ

ควรไปตรวจซิฟิลิสหรือไม่?

การเข้ารับการตรวจถือเป็นวิธีเดียวที่จะทราบได้อย่างชัดเจนว่าคุณเป็นซิฟิลิสหรือไม่

คุณควรได้รับการตรวจ หากคุณหรือคู่ของคุณแสดงอาการของโรคซิฟิลิส หรือถ้าคุณมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน คุณไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าไม่มีซิฟิลิสเพียงเพราะคุณรู้สึกแข็งแรงดีเท่านั้น เช่นเดียวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ วิธีเดียวที่จะรู้แน่ชัด คือ การเข้ารับการตรวจ

หากคุณสังเกตเห็นอาการเจ็บบริเวณอวัยวะเพศ หรือพบว่ามีอาการอื่นๆ ของซิฟิลิส คุณควรเข้ารับการตรวจโดยแพทย์ การเข้ารับการตรวจนั้นถือเป็นความคิดที่ดี หากคุณเคยมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน หรือถ้ามีคนที่คุณเคยมีเพศสัมพันธ์ด้วยนั้นเป็นโรคซิฟิลิส (แม้ว่าคุณจะไม่สังเกตเห็นอาการใดๆ ก็ตาม)

โดยทั่วไปคนที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ควรได้รับการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ประมาณปีละครั้ง คุณสามารถสอบถามแพทย์ได้ว่าคุณควรจะต้องตรวจหาเชื้อซิฟิลิสหรือไม่ สิ่งที่ดีที่สุดภายหลังการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก็คือ เมื่อผ่านการตรวจไปแล้วและไม่พบเชื้อใดๆ คุณก็จะสบายใจ ไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะเป็นโรคต่างๆ หรือไม่ และยิ่งถ้าตรวจแล้วพบว่าคุณมีเชื้อซิฟิลิสอยู่จริงๆ คุณยิ่งควรทราบผลนั้นทันที เพื่อที่จะได้รับยาและกำจัดเชื้อออกจากร่างกายให้เร็วที่สุด

สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการตรวจซิฟิลิส

คุณสามารถเข้าตรวจเชื้อซิฟิลิสได้แม้ว่าคุณจะมีแผลหรืออาการอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือไม่มีอาการใดๆ เลยก็ตาม โดยปกติพยาบาลหรือแพทย์จะเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อนำไปทดสอบหาเชื้อซิฟิลิส หากคุณมีแผลบริเวณอื่นๆ ที่เปิดอยู่แล้ว พวกเขาอาจเก็บตัวอย่างของเหลวจากแผลนั้นด้วยก้านสำลีและนำไปทดสอบ

การเข้าตรวจโรคอาจจะดูน่ากลัวและน่าอาย แต่ขอบอกว่าคุณควรจะทำใจให้สบาย การตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ และเป็นหนึ่งในวิธีดูแลสุขภาพของคุณ นอกจากนี้หากพบเชื้ออยู่จริง ข่าวดีก็คือโรคซิฟิลิสสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ดังนั้นหากคุณรู้ผลเร็ว คุณก็ยิ่งจะกำจัดมันได้ง่ายขึ้นและไวขึ้นด้วย

การป้องกันการติดเชื้อซิฟิลิส

แม้ว่าการรักษาโรคซิฟิลิสจะสามารถป้องกันการเกิดผลกระทบที่ตามมาภายหลังได้ แต่อาการหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วนั้น ไม่สามารถย้อนกลับได้ ดังนั้นแพทย์จึงแนะนำให้ป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อตั้งแต่แรก โดยมีวิธีต่างๆ ดังนี้

- งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ หรือมีเพศสัมพันธ์เฉพาะสามี-ภรรยา / คู่นอนของตนเองคนเดียวเท่านั้น
- ใช้ถุงยางอนามัยระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ (การใช้ถุงยางอนามัยสามารถลดการติดเชื้อซิฟิลิสได้ แต่ตัวถุงยางอนามัยต้องครอบคลุมบริเวณแผลด้วย)
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มมึนเมา หรือยาเสพติดประเภทต่างๆ (การดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มมึนเมา หรือการใช้ยาเสพติดต่างๆ มีผลทำให้ขาดสติ ขาดความยับยั้งชั่งใจ และอาจนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันได้

ข่าวล่าสุด

heading-ข่าวล่าสุด

ข่าวเด่น

ดูชัดๆ "ปฏิวัติ คําไหม" องค์ลงเซฟลูกยิงนักเตะแมนยูไนเต็ด

ดูชัดๆ "ปฏิวัติ คําไหม" องค์ลงเซฟลูกยิงนักเตะแมนยูไนเต็ด

ทีมงานขนลุก รายการดังมาถ่าย ปู่องค์ดำ จู่ๆไฟลุกไหม้ศาล

ทีมงานขนลุก รายการดังมาถ่าย ปู่องค์ดำ จู่ๆไฟลุกไหม้ศาล

ใจใหญ่มาก "เสก โลโซ" ชีวิตล่าสุดในเรือนจำมอบรอยยิ้มให้คนทั้งแดน

ใจใหญ่มาก "เสก โลโซ" ชีวิตล่าสุดในเรือนจำมอบรอยยิ้มให้คนทั้งแดน

ไฟไหม้เรือนำเที่ยว 2 ลำ จอดเทียบท่าหลังโรงแรมดัง ย่านฝั่งธนบุรี

ไฟไหม้เรือนำเที่ยว 2 ลำ จอดเทียบท่าหลังโรงแรมดัง ย่านฝั่งธนบุรี

กรมอุตุฯ เตือนพื้นที่ฝนตกหนัก มรสุมกำลังแรงขึ้น ช่วง 7-11 มิ.ย. 68

กรมอุตุฯ เตือนพื้นที่ฝนตกหนัก มรสุมกำลังแรงขึ้น ช่วง 7-11 มิ.ย. 68