"สนธิญา" ร้อง กกต. ตรวจสอบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

19 พฤษภาคม 2566

สนธิญา สวัสดี ร้อง กกต. ตรวจสอบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กรณีซุกหุ้นสื่อ ว่าเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่

วันที่ 19 พ.ค.66 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เดินทางมายื่นเรื่องร้องเรียนต่อ กกต. ให้สอบเรื่องการถือหุ้นสื่อบริษัทไอทีวีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรีว่า

สนธิญา ร้อง กกต. ตรวจสอบ นายพิธา

เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัคร ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และขอให้เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา เลขาธิการปปช ได้ออกมาแถลงชัดเจนแล้วว่านายพิธา ได้แจ้งการถือหุ้นไอทีวี จำนวน 42,000 กว่าหุ้น ซึ่งที่ผ่านมานายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และนายศรีสุวรรณ จรรยา ก็มาร้องแล้ว

ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญมาตรา 160 (6) กำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ส่วนตัวจึงเห็นว่า นายพิธา เป็นแคนดิเดตนายกฯ และอาจจะเป็นนายกรัฐมนตรีใน 2 เดือนข้างหน้า หากไม่ทำให้เรื่องนี้ชัดเจนจะทำให้เกิดความเสียหายตามมา เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า นายพิธามีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัคร และการที่เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล เซ็นส่งผู้สมัครส.ส. 400 เขต ก็จะทำให้ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจากพรรคก้าวไกลเป็นโมฆะ รวมถึงการเซ็นโครงการต่างๆ ของรัฐบาลใหม่ ในฐานะรัฐมนตรีก็จะเป็นโมฆะด้วย 

 

"ขอให้กกต.ให้เร่งรัดตรวจสอบกรณีการถือหุ้นสื่อของนายพิธา ซึ่งไม่มีอะไรซับซ้อนเลย เพราะป.ป.ช.
ก็แถลงแล้วว่า นายพิธาได้แจ้งเรื่องการถือหุ้นไปเรียบร้อยแล้ว ที่ผ่านมาก็มีคนร้องเรียนแล้ว กกต. จึงไม่ต้องพิจารณาวินิจฉัยอะไรมากมายไปกว่านี้ แต่ให้ส่งเรื่องไปสู่ศาลฎีกา หรือส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อโปรดวินิจฉัย หาก กกต.ไม่มีกระบวนการตามที่กล่าว อีก 2 สัปดาห์ ผมจะไปยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน แล้วถ้าภายใน 60 วันผู้ตรวจการแผ่นดินยังไม่เสนอไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ผมก็จะยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ” นายสนธิญา กล่าว 

นายสนธิญา กล่าวต่อว่า ตนมาร้องเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการสกัดกั้นนายพิธา แต่เห็นว่าถ้านายพิธา มองว่าการถือหุ้นไอทีวีไม่มีผลตามกฎหมายแล้ว เพราะทางบริษัทได้ยุติการประกอบธุรกิจสื่อไปแล้วนั้น ถามว่าเหตุใดนายพิธา จะต้องไปยื่นต่อ ป.ป.ช.ทำไม ว่าเป็นผู้จัดการกองมรดก และเท่าที่ทราบนายพิธา ไม่ยื่นหลังจากที่เป็นส.ส.ปี 2562 แล้ว 2-3 ปี ซึ่งยังไม่รู้ว่าหากผิดจะมีผลย้อนหลังไปถึงการเป็น ส.ส.เมื่อปี 2562 หรือไม่ ดังนั้น จึงควรตรวจสอบเรื่องนี้ให้ชัดเจน เมื่อเป็นนายกฯจะได้ใสสะอาด ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าไม่ตรวจสอบตอนนี้ และไม่ตรวจสอบตอนเป็นส.ส. แล้วถ้าเป็นรัฐมนตรีแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมากกว่านี้   

"ผมเคยคัดค้านการจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองพรรคอนาคตใหม่มาตั้งแต่ ปี 2561 เพราะนายปิยะบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้เคยแสดงเจตนาที่จะแก้ไขมาตรา 112 และได้ติดตามการทำงานของพรรคอนาคตใหม่ จนมาเป็นพรรคก้าวไกลในวันนี้ก็ยังมีแนวความคิดดังกล่าวอยู่ รวมถึงให้มีการนิรโทษกรรมผู้ก่อคดีทางการเมือง ซึ่งหากดำเนินการตนก็ได้รับประโยชน์ด้วย เพราะผมยังมีคดีที่รอลงอาญา 2 ปี ในคดีหมิ่นประมาทอยู่ 2 คดี แต่ผมยอมรับในการกระทำที่เกิดขึ้น จึงไม่เห็นด้วยในการแก้มาตรา 112 ดังนั้น ส.ว.และพรรคการเมือง รวมถึงผู้ที่เข้าไปร่วมรัฐบาลของนายพิธา ว่าถ้ายังมีนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 112 แล้วบุคคลนั้นได้รับเครื่องราชไม่ว่าชั้นไหนก็ตาม ผมจะรวบรวมรายชื่อพี่น้องประชาชน เพื่อยื่นถวายฎีกาขอให้ริบคืนเครื่องราชทั้งหมดกับผู้ที่เข้าไปร่วมในการแก้ไขมาตรา 112 ทั้งนี้การที่ผมพูดเช่นนี้จะเรียกว่าเป็นการกดดันส.ว. ก็ยอมรับว่าต้องการกดดันส.ว. ที่จะโหวตสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ ก็ขอให้พิจารณาให้ดี ว่านโยบายของรัฐบาลยังคงมีเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 อยู่หรือไม่"นายสนธิญา กล่าว  

นายสนธิญา กล่าวด้วยว่า นอกจากมายื่นเรื่องร้องเรียนต่อ กกต.แล้ว ยังมาให้ถ้อยคำต่อกกต. ในคดีครอบงำพรรคเพื่อไทย จากเหตุนายสมชาย แสวงการ ส.ว. เผยแพร่คลิปเสียงนายทักษิณ ชินวัตร คุยกับหัวคะแนน และเรื่องที่สอง คือกรณีพรรคเพื่อไทย ปล่อยให้นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ซึ่งเป็นผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ปราศรัยใส่ร้ายพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการนายกฯ

สนธิญา ร้อง กกต. ตรวจสอบ นายพิธา