"บล.หยวนต้า" เปิดยุทธศาสตร์ มุ่งสร้าง "ความมั่งคั่ง" ลูกค้า

27 กรกฎาคม 2565

"บล.หยวนต้า" เปิดยุทธศาสตร์ มุ่งสร้าง "ความมั่งคั่ง" ลูกค้า ด้วยโปรดักต์ใหม่ที่หลากหลาย พร้อมตั้งเป้าเป็น "มหาชน" โดยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในปี 2 ปีข้างหน้า


  ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 5 กว่าปีแล้ว ! สำหรับ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีหญิงแกร่งอย่าง “บุญพร บริบูรณ์ส่งศิลป์” เป็นหัวเรือใหญ่ จากจุดเริ่มต้นในธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ในประเทศไทย ด้วยทุนจดทะเบียนสูงถึงระดับ 4,500 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่มีทุนจดทะเบียน “สูงสุด” แห่งหนึ่งในประเทศไทย ด้วยการสนับสนุนจากบริษัทแม่ในประเทศไต้หวัน  


  ทว่าในช่วงที่ผ่านมาอาจจะไม่เจอ “บุญพร” ตามหน้าสื่อมากนัก ! นั่นเพราะอยู่ระหว่างเคลียร์ข้อกล่าวหาต่างๆ แต่มาวันนี้...ทุกข้อกล่าวหาถือเป็นอันสิ้นสุดแล้ว บ่งชี้ผ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาเป็นที่สิ้นสุดแล้วว่า ตนเองบริสุทธิ์จากทุกข้อกล่าวหา ฉะนั้น ต่อจากนี้พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอย่างเต็มที่ และดีที่สุดด้วยความเป็นมืออาชีพ 

"บล.หยวนต้า" เปิดยุทธศาสตร์ มุ่งสร้าง "ความมั่งคั่ง" ลูกค้า

   ไม่ได้เจอบรรยากาศแบบนี้นานพอสมควรแล้ว... ประโยคแรกของ “บุญพร บริบูรณ์ส่งศิลป์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล. หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในงานแถลงเปิดแผนธุรกิจของ บล.หยวนต้า ที่ปัจจุบัน บล.หยวนต้า กำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว พร้อมให้นิยามตัวเองต่อจากนี้ว่า “บล.หยวนต้ากำลังเป็นวัยที่ต้องการค้นหาสิ่งใหม่ๆ ให้ตัวเอง หลังจากที่ผ่านมาสร้างพื้นฐานพร้อมแล้ว”


   สอดคล้องกับแผนธุรกิจในปี 2566 ที่กำลังมุ่งเน้นธุรกิจด้วยเป้าหมายสร้าง “ความมั่งคั่งของลูกค้าเป็นหลัก” (Wealth Management) หลังจากในช่วงแรกของการก่อตั้งธุรกิจ มุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจหลัก (Core Business) ของบริษัทคือ Retail Business ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงให้ความสำคัญในการพัฒนารากฐานที่แข็งแรงและเตรียมตัวเพื่อการเติบโตในอนาคต ด้วยการทุ่มเงินลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานไปกว่า 400 ล้านบาท เพื่อวางเครือข่าย (เน็ตเวิร์ค) มารองรับโปรดักต์ที่หลากหลาย อาทิ การเป็นตัวแทนขายหน่วยลงทุนต่างๆ , ธุรกิจด้านวาณิชธนกิจ (IB) ซึ่งวันนี้ก็เป็นการพิสูจน์ว่าสิ่งที่ดำเนินการมาทั้งหมดสามารถรองรับบริการได้ทุกๆ โปรดักต์
 


  โดยปี 2565 บริษัทตั้งเป้าสัดส่วนรายได้ “ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์” และ “ธุรกิจบริการอื่นๆ” ในสัดส่วน 50 : 50 เนื่องจากต้องการกระจายความเสี่ยงไม่พึ่งพาอย่างเดียว ซึ่งจะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาหากมูลค่าการซื้อขายตลาดหลักทรัพย์ฯ เบาบาง ส่งให้วอลุ่มซื้อขายของบริษัทเหลือแค่ระดับ 30% แต่บริษัทมีกำไรเติบโตได้ดี เนื่องจากมีธุรกิจอื่นๆ เข้ามาช่วย สะท้อนผ่านปีที่แล้ว บริษัทมีรายได้ 1,000 ล้านบาท

"บล.หยวนต้า" เปิดยุทธศาสตร์ มุ่งสร้าง "ความมั่งคั่ง" ลูกค้า

รวมทั้งปัจจุบันบริษัทสามารถรองรับการให้บริการสินเชื่อเพื่อการซื้อหลักทรัพย์ (มาร์จินโลน) ได้ถึง 1.6 หมื่นล้าน ซึ่งสูงเป็นลำดับต้นๆ ของอุตสาหกรรม เนื่องจากมีฐานทุนที่แข็งแกร่ง ซึ่งหุ้นทุกตัวที่ปล่อยมาร์จินโลน บริษัทจะคัดเลือกมาแล้ว ขณะที่ธุรกิจอื่นๆ บริษัทเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ในการระดมทุน และ นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งขณะนี้มีดีลไอพีโอไม่ต่ำกว่า 6 บริษัท แต่ละบริษัทมีมาร์เก็ตแคปไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท มาจากธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรม ไอที (IT) ซื้อมาขายไป (เทรดดิ้ง) งานบริการ และ แพกเกจจิ้ง 

“ด้วยหลักการนำเสนอบริการที่มีความหลากหลาย โดยการให้คำแนะนำที่ถูกต้องแม่นยำ นอกเหนือจากการเป็นตัวกลางในการซื้อขายหุ้น เพื่อตอบโจทย์การบริหารความมั่งคั่งสำหรับลูกค้า” 

 

ทั้งนี้ บล.หยวนต้า ตั้งเป้าจะต้องเป็นหนึ่งใน “ทางเลือกการลงทุน” (Investment Choice) ระดับแรก ๆ ของนักลงทุน และมี “การยกระดับให้บริการสู่ความเป็นเลิศ” (Excellence Services) ระดับชั้นนำของอุตสาหกรรมอีกด้วย  

"บล.หยวนต้า" เปิดยุทธศาสตร์ มุ่งสร้าง "ความมั่งคั่ง" ลูกค้า

พร้อมกับการเกิดขึ้นของ “สินทรัพย์ดิจิทัล” (Digital Asset) ตามเทคโนโลยี Blockchain อาทิ Digital Currency หรือ Digital Token ดังนั้น บริษัทหลักทรัพย์ก็จะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการเพื่อเข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย สะท้อนผ่านบริษัทได้ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ผ่านการสนับสนุนในโครงการ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDX) ซึ่งน่าจะเริ่มดำเนินการได้ในอนาคตอันใกล้นี้

 

อย่างไรก็ตาม ปีนี้เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมไปถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบให้ปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะในส่วนของรายย่อย ที่เป็นสัดส่วนหลักของธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์

 

ท้ายสุด “บุญพร” บอกไว้ว่า การวางรากฐานทั้งหมดเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมเป็น “มหาชน” ซึ่งบริษัทตั้งเป้าที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในปี 2 ปี (2566-2567) หลังจากสามารถสร้างผลกำไรได้อย่างต่อเนื่อง