จับตา "โอไมครอน" สายพันธุ์ย่อย หวั่นอาการรุนแรงเท่า "เดลตา"

08 พฤษภาคม 2565

เผยข้อมูลโควิด-19 จับตา "โอไมครอน" 3 สายพันธุ์ย่อย หวั่นการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงเท่า "เดลตา" พบมีจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น

เพจ Center for Medical Genomics ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผย การกลายพันธุ์บนสายจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019 บริเวณยีนที่สร้างหนาม (Spike gene) ณ. ตำแหน่ง “452” อาจเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ “โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5, และ BA.2.12.1” มีความสามารถที่จะแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น (high transmissibility) อีกทั้งยังมีคุณสมบัติในการเชื่อมต่อผนังเซลล์(ปอด)จากหลายเซลล์เข้ามาเป็นเซลล์เดียว (multinucleated syncytial pneumocytes) ก่อให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อปอดได้เช่นเดียวกับการติดเชื้อสายพันธุ์ “เดลตา” ที่ระบาดในอดีต

จับตา โอไมครอน สายพันธุ์ย่อย หวั่นอาการรุนแรงเท่า เดลตา

จากการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งจีโนมพบการเปลี่ยนแปลงบริเวณส่วนหนามตำแหน่งที่ "452” จากกรดอะมิโน "ลิวซีน (L)” เปลี่ยนมาเป็น "อาร์จีนีน (R)” หรือ "กลูตามีน (Q)” (ภาพ 1) ทำให้ส่วนหนามมีคุณสมบัติที่สามารถเชื่อมต่อผนังเซลล์ที่อยู่ใกล้เคียง หลอมรวมเป็นเซลล์เดียว (cell fusion หรือ syncytia formation) ส่งผลให้ไวรัสสามารถแพร่ไประหว่างเซลล์ต่อเซลล์ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องออกมานอกเซลล์ที่สุ่มเสี่ยงถูกจับและทำลายด้วยแอนติบอดีที่ถูกสร้างในร่างกายผู้เคยติดเชื้อตามธรรมชาติและจากการฉีดวัคซีน บรรดาเซลล์ปอดติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่หลอมหลวมรวมเป็นเซลล์เดียว(infected multinucleated syncytial pneumocytes) จะเป็นเซลล์ขนาดใหญ่ภายในเซลล์มีหลายนิวเคลียส ดีเอ็นเอภายในเซลล์ดังกล่าวถูกทำลายแตกหัก ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ติดเชื้อมองเป็นสิ่งแปลกปลอมและเข้ามาทำลายเซลล์ที่มีหลายนิวเคลียส(syncytial pneumocytes) เหล่านั้น เกิดการอักเสบลุกลามเกิดเป็นปอดบวมอันอาจทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตได้

จับตา โอไมครอน สายพันธุ์ย่อย หวั่นอาการรุนแรงเท่า เดลตา

สายพันธุ์ “เดลตา” มีการกลายพันธุ์ของหนามเป็น “R452” (ภาพ1 และ ภาพ 2 กรอบแดง) ก่อให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง (high pathogenicity) อันเนื่องมาจากเกิดอาการปอดอักเสบจากการหลอมหลวมของเซลล์ติดเชื้อหลายเซลล์เข้ามาหลอมรวมเป็นเซลล์เดียวกัน (syncytial pneumocytes)

ตรงกันข้ามกับสายพันธุ์โอไมครอนดั้งเดิม (B.1.1529) เช่น BA.1, BA.1.1 และ BA.2 ไม่มีการกลายพันธุ์ กรดอะมิโนยังคงเป็น “L452” (ภาพ1 และ ภาพ 2 กรอบเขียว) ซึ่งสอดคล้องกับอาการทางคลินิกของโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมที่อาการไม่รุนแรง สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่เกิด syncytial pneumocytes ในเซลล์ปอดที่ติดเชื้อ

จับตา โอไมครอน สายพันธุ์ย่อย หวั่นอาการรุนแรงเท่า เดลตา

แต่ที่น่ากังวลคือทั้งไวรัส “BA.4” และ “BA.5” ที่ WHO ประกาศให้เฝ้าระวังเพราะกำลังมีการระบาดในประเทศแอฟริกาใต้กลับมีการกลายพันธุ์เป็น R452 (ภาพ1 และ ภาพ 2 กรอบฟ้า) ส่วนไวรัส BA.2.12.1 ที่ระบาดในสหรัฐอเมริกาก็มีการกลายพันธุ์เป็น “Q452” (ภาพ1 และ ภาพ 2 กรอบเหลือง) กลับไปเหมือนกับสายพันธุ์ “เดลตา” (ภาพ1 และ ภาพ 2 กรอบแดง) คือสามารถก่อให้เกิดเซลล์ติดเชื้อหลายเซลล์เข้ามาหลอมรวมเป็นเซลล์เดียวกัน (syncytial pneumocytes)

ดังนั้นมีแนวโน้มที่โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5, BA.2.12.1 อาจจะมีการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงกว่าโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่ง WHO และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังเฝ้าติดตามอาการทางคลินิกจากการติดเชื้อ BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 จากประเทศแอฟริกาใต้และสหรัฐอเมริกาใน 2-4 สัปดาห์จากนี้ โดยข้อมูลอัปเดตล่าสุดพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลของสองประเทศเริ่มเพิ่มขึ้นแล้ว แต่อัตราผู้เสียชีวิตยังคงเดิม

 

ขอบคุณ FB : Center for Medical Genomics