ประกันสังคม ม.33, 39, 40 จ่ายเท่าไหร่ คุ้มครองอะไรบ้าง!

ประกันสังคม คืออะไร ให้สิทธิประโยชน์อย่างไรกับผู้ประกันตน มาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 วิธีเช็กสิทธิประกันสังคมด้วยตัวเอง
สรุปทุกเรื่องสำคัญของประกันสังคม มาตรา 33, ประกันสังคม มาตรา 39 และประกันสังคม มาตรา 40 พร้อมแนะนำวิธีเช็กสิทธิประกันสังคมแบบง่าย ๆ ด้วยตัวเอง
ประกันสังคม มีกี่แบบ แบบไหนบ้าง
ประกันสังคมแบ่งตามสถานะของผู้ประกันตน หลัก ๆ จะมีอยู่ 3 ประเภท คือ
ประกันสังคม มาตรา 33 คือ ลูกจ้าง มนุษย์เงินเดือน หรือพนักงานประจำที่ทำงานให้กับนายจ้าง ในสถานประกอบการ
ประกันสังคม มาตรา 39 คือ คนที่เคยเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาก่อน และได้ออกจากงานมาแล้ว แต่ยังต้องการรักษาสิทธิประโยชน์จากประกันสังคม จึงสมัครเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจ
ประกันสังคม มาตรา 40 คือ คนที่ทำงานอิสระ เช่น พ่อค้า แม่ค้า ฟรีแลนซ์ และไม่เคยเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 และมาตรา 39 มาก่อน
ประกันสังคม มาตรา 33, 39, 40 แตกต่างกันยังไง
สถานะของผู้ประกันตน : อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ผู้ประกันตน มาตรา 33 จะต้องเป็นพนักงานประจำที่มีนายจ้าง ส่วนมาตรา 39 ต้องเป็นคนที่ลาออกจากมาตรา 33 แล้วมาสมัครในมาตรา 39 ขณะที่ผู้ประกันตน มาตรา 40 คือ ผู้มีอาชีพอิสระที่ไม่เคยเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 และมาตรา 39 มาก่อน
จำนวนเงินสมทบที่จ่ายต่อเดือน : ผู้ประกันตนแต่ละมาตราจะส่งเงินสมทบไม่เท่ากัน โดยมาตรา 33 จะส่งเงินสมทบ 5% ของรายได้ต่อเดือน (คิดจากฐานเงินเดือน 15,000 บาท) มาตรา 39 ส่งเงินสมทบเดือนละ 432 บาท ส่วนมาตรา 40 ขึ้นอยู่กับทางเลือกที่สมัคร
สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ :
- ผู้ประกันตน มาตรา 33 ได้รับความคุ้มครอง 7 รายการ ครอบคลุมการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย และเงินชดเชยการว่างงาน
- ผู้ประกันตน มาตรา 39 ได้รับความคุ้มครองเหมือนกับผู้ประกันตน มาตรา 39 ยกเว้นจะไม่ได้รับเงินชดเชยการว่างงาน
- ผู้ประกันตน มาตรา 40 ได้รับความคุ้มครองตามแผนที่เลือก แต่จะไม่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย (ต้องใช้บัตรทองแทน) ยกเว้นกรณีเจ็บป่วยแล้วแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัว จะได้รับเป็นเงินทดแทนรายวัน
ประกันสังคม มาตรา 33 จ่ายเท่าไหร่
นายจ้างและลูกจ้างต้องส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน โดยคำนวณจากค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับ ดังนี้
ลูกจ้าง ส่งเงินสมทบ 5% ของค่าจ้าง คำนวณจากฐานค่าจ้างต่ำสุด 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ดังนั้น ลูกจ้างจะส่งเงินสมทบอยู่ระหว่าง 82.50-750 บาทต่อเดือน หากใครมีเงินเดือนเกิน 15,000 บาท ก็จะส่งเงินสมทบสูงสุดแค่ 750 บาท
นายจ้าง ส่งเงินสมทบ 5% เท่ากับลูกจ้าง
รัฐบาล ร่วมจ่ายสมทบในอัตรา 2.75%
ประกันสังคม มาตรา 33 มีสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง
สิทธิประกันสังคมของมาตรา 33 แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
กองทุนประกันสังคม ให้สิทธิประโยชน์ 7 กรณี ซึ่งต้องไม่เกิดจากการทำงาน
กองทุนเงินทดแทน ให้ความคุ้มครองเมื่อประสบเหตุอันเนื่องจากการทำงาน 4 กรณี
ประกันสังคม มาตรา 39 จ่ายเท่าไหร่
ผู้ประกันตน มาตรา 39 ต้องส่งเงินเข้ากองทุน 432 บาทต่อเดือน (คิดจากฐานสูงสุด 4,800 บาท) และรัฐบาลจะช่วยสมทบอีก 120 บาทต่อเดือน
ประกันสังคม มาตรา 39 มีสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง
ผู้ประกันตน มาตรา 39 จะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี คือ
1. กรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย
สามารถรักษาพยาบาลได้ในสถานพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้ รวมทั้งสามารถเบิกค่าทำฟันได้ปีละ 900 บาท นอกจากนี้หากเจ็บป่วยจนแพทย์สั่งให้หยุดงาน จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างรายวัน หรือวันละ 80 บาท ครั้งละไม่เกิน 90 วัน
2. กรณีทุพพลภาพ
หากสูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต และค่าทำศพ 50,000 บาท
3. กรณีเสียชีวิต
จ่ายเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 2-6 เดือน (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบ) และค่าทำศพ 50,000 บาท ให้กับผู้จัดการศพ
4. กรณีคลอดบุตร
ผู้ประกันตนหญิง เบิกค่าคลอดบุตรได้ 15,000 บาทต่อครั้ง รวมทั้งค่าตรวจ-รับฝากครรภ์ และเงินสงเคราะห์การหยุดงาน
ผู้ประกันตนชายที่มีภรรยาคลอดบุตร เบิกค่าคลอดบุตรได้ 15,000 บาทต่อครั้ง
5. กรณีสงเคราะห์บุตร
ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 1,000 บาท ต่อบุตร 1 คน โดยจ่ายให้บุตรที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน
6. กรณีชราภาพ
ผู้ประกันตน มาตรา 39 ที่จ่ายเงินสมทบครบถ้วน มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จประกันสังคม และเงินบำนาญประกันสังคม เมื่ออายุ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
เงินบำเหน็จชราภาพ คือ การจ่ายเงินให้ก้อนเดียว สำหรับผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน
เงินบำนาญชราภาพ คือ การจ่ายเงินเป็นรายเดือนตลอดชีวิต สำหรับคนที่จ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 180 เดือน หรือ 15 ปี (ไม่จำเป็นต้องติดต่อกัน)
ประกันสังคม มาตรา 40 จ่ายเท่าไหร่
ผู้สมัครประกันสังคม มาตรา 40 สามารถเลือกได้ 3 ทางเลือก ซึ่งจะจ่ายเงินสมทบไม่เท่ากัน ดังนี้
ทางเลือกที่ 1 : ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 70 บาท รัฐจ่ายสมทบ 30 บาท รวมเป็นจ่ายสมทบ 100 บาท
ทางเลือกที่ 2 : ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 100 บาท รัฐจ่ายสมทบ 50 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 150 บาท
ทางเลือกที่ 3 : ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 300 บาท รัฐจ่ายสมทบ 150 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 450 บาท
ประกันสังคม มาตรา 40 มีสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง
สิทธิประกันสังคม มาตรา 40 ขึ้นอยู่กับแผนที่เลือกจ่ายเงินสมทบ สรุปคร่าว ๆ ได้ดังนี้
ทางเลือกที่ 1 ได้รับความคุ้มครอง 3 กรณี
เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย 50-300 บาทต่อวัน (ขึ้นอยู่กับว่าเป็นผู้ป่วยในหรือผู้ป่วยนอก)
เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ 500-1,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลานาน 15 ปี (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบ)
เงินค่าทำศพกรณีเสียชีวิต 25,000 บาท และหากจ่ายเงินสมทบมาครบ 60 เดือน ก่อนเสียชีวิต จะได้เพิ่มอีก 8,000 บาท
ทางเลือกที่ 2 ได้รับความคุ้มครอง 4 กรณี
เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย 50-300 บาทต่อวัน (ขึ้นอยู่กับว่าเป็นผู้ป่วยในหรือผู้ป่วยนอก)
เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ 500-1,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลานาน 15 ปี (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบ)
เงินค่าทำศพกรณีเสียชีวิต 25,000 บาท และหากจ่ายเงินสมทบมาครบ 60 เดือน ก่อนเสียชีวิต จะได้เพิ่มอีก 8,000 บาท
เงินบำเหน็จชราภาพ จะได้รับเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน โดยต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน ซึ่งเงินบำเหน็จจะคำนวณจากเงินที่รัฐบาลอุดหนุนเดือนละ 50 บาท นำมาคูณด้วยระยะเวลาที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบเพื่อกรณีชราภาพ และบวกด้วยเงินผลกำไรที่สำนักงานประกันสังคมนำเงินส่วนนี้ไปลงทุน
ทางเลือกที่ 3 ได้รับความคุ้มครอง 5 กรณี
เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย 200-300 บาทต่อวัน (ขึ้นอยู่กับว่าเป็นผู้ป่วยในหรือผู้ป่วยนอก)
เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ 500-1,000 บาทต่อเดือน ตลอดชีวิต (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบ)
เงินค่าทำศพกรณีเสียชีวิต 50,000 บาท
เงินบำเหน็จชราภาพ จะได้รับเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน โดยคำนวณจากเงินสะสมกรณีชราภาพเดือนละ 150 บาท คูณจำนวนเดือนที่ส่งเงินสมทบ พร้อมดอกผลจากการนำเงินไปลงทุน และหากจ่ายเงินสมทบมาแล้วครบ 180 เดือน จะได้รับเงินก้อนอีก 10,000 บาท
เงินสงเคราะห์บุตร สำหรับบุตรแรกเกิดถึงอายุ 6 ปีบริบูรณ์ จะได้รับคนละ 200 บาทต่อเดือน (คราวละไม่เกิน 2 คน)

สีเสื้อมงคล 14 พฤษภาคม 2568 วันพุธนี้ควรใส่เสื้อสีอะไรดี

"สจ.กอล์ฟ" พร้อมพวก โดนเพิ่มข้อหา "ซ่องโจร" ตร. คัดค้านประกันตัว

กรมอุตุฯ เผยวันนี้ 15 พ.ค. ไทยเข้าฤดูฝน - ระวังฝนทิ้งช่วง-พายุถล่ม

อ.คฑา เปิดดวง 12 ราศี เฮงยืนหนึ่ง หลังดาวพฤหัสบดีย้าย 13 พ.ค. 68
