"หมอธีระวัฒน์" เผยข้อมูล ฟ้าทะลายโจร มีพิษต่อตับหรือไม่?

11 เมษายน 2565

"หมอธีระวัฒน์ เหมะจุฑา" โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แนะ ยาฟ้าทะลายโจร ควรกินกี่เม็ด ช่วงเวลาไหนบ้าง มีพิษต่อตับหรือไม่!?

นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ในเพจ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ถึงเรื่อง การรับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจร ที่มีปริมาณสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ 180 มิลลิกรัมต่อวัน มีพิษต่อตับหรือไม่?

ดร.ทวิช สุริโย, ดร.ภญ.ผาณิต ทรงวุฒิ, รศ.ดร.ภญ.ดวงจิตต์ พนมวัน ณ อยุธยา, ดร.ภรณี ปูรณโชติ, ดร.ภญ.นุชนาถ รังคดิลก, นันทนิจ ผลพนา และ รศ.ดร.ภญ.จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา

ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลต่อความกังวลต่อสุขภาพของประชาชนไทยเป็นจำนวนมาก อีกทั้งการแพร่ระบาดนี้ มีแนวโน้มที่จะขยายวงกว้างและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยากที่จะควบคุมได้ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของแนวคิดที่จะนำฟ้าทะลายโจรอันเป็นพืชสมุนไพรที่มีการใช้กันมาอย่างยาวนาน มาใช้ประโยชน์ในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการใช้ฟ้าทะลายโจร หรือสารสกัดฟ้าทะลายโจร ยังคงเป็นประเด็นในสื่อสังคมและสื่อออนไลน์อย่างมากมาย ทั้งในแง่ความปลอดภัย และขนาดการใช้ หรือความเหมาะสมที่จะใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อการป้องกัน หรือบรรเทาอาการ ร่วมกับการได้รับการรักษาในแนวทางอื่นๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้ทั้งนี้เมื่อพิจารณาการใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจร ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ซึ่งมีคำแนะนำในการรับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจร ที่มีสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ในขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน (แบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง) ติดต่อกัน 5 วัน โดยมุ่งหวังให้ใช้ในผู้ป่วยโรคโควิด19 ที่มีความรุนแรงน้อย และลดโอกาสการเกิดโรคที่รุนแรงมากขึ้น

 

ทั้งนี้เนื่องจากคำแนะนำนี้ให้รับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ในปริมาณที่สูงกว่าการใช้บรรเทารักษาอาการไข้หวัดหรืออาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนต้นถึง 3 เท่า จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า การรับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวันนี้ ส่งผลต่อภาวะความผิดปกติของการทำงานของตับและไตหรือไม่นั้น ด้วยเหตุนี้ ทีมนักวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์จึงได้ทำการสืบค้นข้อมูล ถึงความเป็นไปได้ของสารสกัดฟ้าทะลายโจรต่อโอกาสการเกิดความเป็นพิษต่อตับและไต โดยทำการสืบค้นจากฐานข้อมูลทางวิชาการที่น่าเชื่อถือทั้งในประเทศและต่างประเทศ และรวบรวมข้อมูลจากรายงานการศึกษาวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจร ตลอดจนถึงข้อมูลการศึกษาวิจัยของทางสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์เอง สามารถสรุปได้ดังนี้

จากการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับการศึกษาสารสกัดฟ้าทะลายโจรในสัตว์ทดลอง พบว่าสารสกัดฟ้าทะลายโจร และสารแอนโดรกราไฟไลด์ มีฤทธิ์ในการป้องกันความเป็นพิษต่อตับของสารพิษหลายชนิด ซึ่งสารพิษเหล่านั้นมีรายงานว่าก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์ตับ เช่น สาร carbon tetrachloride (1), thioacetamide (2), paracetamol (3, 4), และแอลกอฮอล์ (5) เป็นต้น จากข้อมูลดังกล่าว จึงอาจสรุปได้ว่าฟ้าทะลายโจร และสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ มีฤทธิ์ในการป้องกันความเป็นพิษของสารเคมีหลายชนิดต่อเซลล์ตับได้

รายงานการวิจัยแบบ Meta-analysis ซึ่งทำการวิเคราะห์ความปลอดภัยของฟ้าทะลายโจรจากการรวบรวมอุบัติการณ์การเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของการศึกษาวิจัยทางคลินิก ชนิด randomized control trial (RCT) จำนวน 10 การศึกษาวิจัย ซึ่งใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษาอาการไข้หวัด (common cold) อาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนต้น (upper-respiratory tract infection ,URTI) อาการท้องเสียซึ่งไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ (non-infective diarrhea) และภาวะแพ้ภูมิต้านทางตนเอง (autoimmune disease) โดยมีจำนวนอาสาสมัครรวมทั้งสิ้น 1,093 ราย (6) โดยจากการวิเคราะห์ตามระยะเวลาการใช้ฟ้าทะลายโจรในช่วงเวลาน้อยกว่าหรือเท่ากับ 14 วัน และช่วงเวลามากกว่า 14 วัน พบอัตราการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรง (serious adverse events) เท่ากับ 0.01 ราย และ 6.8 รายต่อจำนวนอาสาสมัคร 1,000 ราย ตามลำดับ ส่วนอัตราการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ชนิดไม่รุนแรง (non-serious adverse events) คิดเป็น 35.3 ราย และ 264.6 รายต่อจำนวนอาสาสมัคร 1,000 ราย ตามลำดับ

โดยหากจะทำการวิเคราะห์ตามปริมาณของสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ คือ รับประทานในขนาดน้อยกว่าหรือเท่ากับ 120 มิลลิกรัมต่อวัน และรับประทานในขนาดมากกว่า 120 มิลลิกรัมต่อวัน พบว่า อัตราการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรงคิดเป็น 0.1 ราย และ 0.01 รายต่อจำนวนอาสาสมัคร 1,000 ราย ตามลำดับ

ส่วนอัตราการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ชนิดไม่รุนแรงคิดเป็น 122.7 ราย และ 145.6 รายต่อจำนวนอาสาสมัคร 1,000 ราย ตามลำดับ ทั้งนี้อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ การเกิดผื่นแดง และการเกิดความผิดปกติต่อการทำงานของระบบทางเดินอาหาร ซึ่งจาก meta-analysis ดังกล่าวนี้ ไม่พบการรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ หรือความผิดปกติต่อการทำงานของตับ หรือรายงานความเป็นพิษต่อตับแต่อย่างใด

การศึกษาวิจัยทางคลินิกของการใช้ฟ้าทะลายโจรที่ปริมาณของสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ที่แตกต่างกันในการรักษาโรคเรื้อรังต่างๆ ซึ่งมีระยะเวลาของการรับประทานต่อเนื่อง และยาวนานกว่าการใช้รักษาในโรคหวัด พบว่า การศึกษาวิจัยเหล่านี้ ไม่มีรายงานการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ หรือความผิดปกติต่อการทำงานของตับ ในอาสาสมัครที่ได้รับฟ้าทะลายโจรในขนาดต่างๆ ตลอดระยะเวลาที่ทำการศึกษา (ดังแสดงในตารางที่ 1)

ตารางที่ 1 Clinical bibliographic evidence-based support for safety of Andrographis paniculata extract for other diseases (Not common cold and uncomplicated upper-respiratory tract infection) with a long-term treatment duration (>1 week) (download in pdf format)

Clinical bibliographic evidence-based support

การศึกษาทางคลินิกของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ก่อนหน้านี้ ได้มีการศึกษาความปลอดภัยของการรับประทานผงบดละเอียดฟ้าทะลายโจร ที่ทราบปริมาณสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ที่แน่นอน และในการศึกษานี้อาสาสมัครไทยสุขภาพดี จำนวน 20 คน (ชาย 10 คน และ หญิง 10 คน) จะได้รับสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ในขนาด 97 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 3 วัน จากการศึกษาพบว่า ค่าดัชนีในพลาสมาที่บ่งชี้ถึง ภาวะการทำงานของตับ อันได้แก่ alanine aminotransferase (ALT) และ aspartate aminotransferase (AST) ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลาที่ทำการศึกษา (12)

การศึกษาในปัจจุบันของทางสถาบันวิจัยฯ กำลังดำเนินการศึกษาถึงความปลอดภัยของการรับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจร ที่มีปริมาณสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ในการใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจรในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้ จากการศึกษาเบื้องต้นในอาสาสมัครไทยสุขภาพดี จำนวน 12 คน พบว่า ไม่มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ต่อการทำงานของตับและไต เมื่อตรวจติดตามค่าดัชนีการบ่งชี้ถึงภาวะของการทำงานตับและไต ภายหลังอาสาสมัครได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจร ที่มีปริมาณสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ ในขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน ทั้งในรูปแบบการรับประทานครั้งเดียว และรับประทานต่อเนื่องกันเป็นเวลา 7 วัน โดยไม่พบความผิดปกติของ alanine aminotransferase (ALT) และ aspartate aminotransferase (AST) ทั้งในระหว่างทำการศึกษาวิจัยในวันที่ 4 (ภายหลังรับประทานต่อเนื่องกัน 3 วัน) และเมื่อครบระยะเวลาของการศึกษาวิจัยคือในวันที่ 8 (ภายหลังรับประทานต่อเนื่องกัน 7 วัน) ซึ่งจากการศึกษาวิจัยเบื้องต้นนี้ จึงอาจสรุปได้ว่า การรับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ ในขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลาต่อเนื่องกัน 7 วัน ไม่พบความผิดปกติของตับและไต (ในอาสาสมัครสุขภาพดี) แต่อย่างไรก็ตามการศึกษาดังกล่าวนี้ ยังมีข้อจำกัดในเรื่องจำนวนตัวอย่างของอาสาสมัคร และเป็นการศึกษาที่ทดสอบในอาสาสมัครสุขภาพดี จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงความปลอดภัยในผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ อันได้แก่ ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของการทำงานของตับ และไต รวมถึงควรมีการศึกษาที่ครอบคลุมไปถึงความปลอดภัยของการใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งมีรายงานว่า อาจทำให้เกิดความผิดปกติของการทำงานของตับได้ (13)

สรุป: การใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ ในขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 5 วัน ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรงน้อย ในระหว่างภาวะวิกฤติที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง และมีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วอยู่ในขณะนี้ เมื่อประเมินจากประโยชน์ที่จะได้รับจากการรับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจร ร่วมกับการประเมินความเสี่ยงของอาการข้างเคียงต่อตับที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้น้อยนั้น การรับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจรในขนาด และระยะเวลาตามที่แนะนำดังกล่าว จึงน่าจะเป็นประโยชน์ในแง่ของการลดโอกาสการเกิดอาการรุนแรงได้ในผู้ป่วยเริ่มต้นที่ยังมีความรุนแรงของโรคน้อย

หมอธีระวัฒน์ เผยข้อมูล ฟ้าทะลายโจร มีพิษต่อตับหรือไม่?