"หมอธีระ" แนะ 4 ข้อ การป้องกันตัว หลังยอดติดเชื้อพุ่งสูง

22 กุมภาพันธ์ 2565

"หมอธีระ" หรือ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ เผยผ่านเฟซบุ๊ก แนะ 4 ข้อ การป้องกันตัว หลังยอดติดเชื้อพุ่งสูง และวิกฤติติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์

"หมอธีระ" หรือ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาพูดถึง สถานการณ์โควิด-19 ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า 

วิกฤติติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์

ล่าสุดติดเพิ่มถึง 170 คน...สูงสุดเท่าที่เคยมีมา

หากดูสถิติจะพบว่าติดเกิน 100 คนต่อวัน ติดต่อกันมา 8 วันแล้ว

จำเป็นต้องปรับระบบการทำงานเพื่อเซฟบุคลากรทางการแพทย์ครับ

และที่สำคัญคือ ระมัดระวังการติดเชื้อจากในครอบครัว และในที่ทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติงานเป็นกลุ่ม การกินข้าวร่วมกัน และพฤติกรรมเสี่ยงนอกเวลางาน ไปกินดื่มหรือพบปะสังสรรค์ งานบุญ งานศพ และงานแต่งงาน

หมอธีระ แนะ 4 ข้อ การป้องกันตัว หลังยอดติดเชื้อพุ่งสูง

...สถานการณ์ไทยเรา

เอาแค่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยืนยัน (RT-PCR) เมื่อวาน ถือว่าสูงเป็นอันดับ 18 ของโลก และอันดับ 8 ของเอเชีย

แต่ถ้ารวม ATK ไปด้วย จะขึ้นมาเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 6 ของเอเชีย

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ติดเชื้อจริงจะมากกว่าที่เห็นจากตัวเลขที่รายงาน เพราะปัญหาในการเข้าถึงบริการตรวจ ไม่ว่าจะ RT-PCR หรือ ATK ก็ตาม ยังไม่นับเรื่องโอกาสเกิดผลลบลวงจากการตรวจด้วย ATK ซึ่งมีสูงกว่าวิธี RT-PCR เนื่องจากความไวต่ำกว่า

จากที่เคยวิเคราะห์ธรรมชาติการระบาดทั่วโลกในกลุ่มประเทศที่ผ่านพีคของ Omicron โอมิครอน ไปแล้วนั้น ค่ามัธยฐานของจำนวนติดเชื้อสูงสุดต่อวันจะสูงกว่าพีคเดลต้าราว 3.65 เท่า ทั้งนี้ไทยเรามีปัญหาหลักอยู่ที่ข้อจำกัดเชิงระบบบริการตรวจ ทำให้ตรวจได้ไม่มาก

"ดังนั้นภาพรวมสุดท้ายในอนาคตอันใกล้นั้น น่าจะเห็นพีคไทยได้เท่าที่ตรวจ"

แต่ขอให้เราตระหนักไว้ว่าธรรมชาติการระบาดของต่างประเทศเป็นดังที่กล่าวมา และต้องป้องกันตัวให้เคร่งครัด

 

...เรื่องสำคัญที่ขอเน้นย้ำอีกครั้ง

ที่ต้องทำตอนนี้มีอยู่เรื่องเดียวจริงๆ คือ "เปิดโหมด survival" สำหรับตนเองและสมาชิกในครอบครัวให้ได้

มุ่งเป้า "ไม่ติดเชื้อ" เพื่อที่จะไม่ต้องไปลุ้นเรื่องภาวะอาการคงค้างเรื้อรังหรือ Long COVID ซึ่งเสี่ยงต่อการเสื่อมสมรรถนะร่างกายและจิตใจในระยะยาว ทำให้ความสามารถในการดูแลตนเองลดลง ต้องพึ่งพิงคนอื่น หรือทุพพลภาพ

จะทำเช่นนั้นได้ ไม่มีทางอื่นนอกจาก "การป้องกันตัว"

หนึ่ง ใส่หน้ากากเสมอ เจอใครไม่ใส่ ก็ "ชั่งหัวมัน" ครับ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ต้องเอาตัวรอด

ใครรักชีวิตเสี่ยงก็เสี่ยงไป แจ็คพอตก็หวังว่าจะกล้าหาญพอที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทายในอนาคต

สอง เว้นระยะห่างจากคนอื่น

ชีวิตจริงเวลาไปทำธุระ ไปทำงาน หรือใช้ชีวิตประจำวัน แม้เราจะระวัง แต่จะเจอเสมอที่คนอื่นๆ ที่เราพบปะนั้นจะเข้ามาคลุกคลีใกล้ชิดปานจะกลืนกิน ดังนั้นพอเห็นใครมาใกล้กว่าหนึ่งเมตร ขอให้ก้าวกระเถิบออกมาให้ห่างจากเค้า

การทำเช่นนี้ ไม่ได้เสียมารยาท แต่เป็นการช่วยรักษาความปลอดภัยทั้งเราและเค้า เพราะไม่มีใครรู้หรอกว่าใครจะติดจากใคร นอกจากนี้พอเราทำเป็นตัวอย่างให้เห็น ก็จะเป็นการกระตุ้นให้คนอื่นเกิดการเรียนรู้ และเป็นบรรทัดฐานเวลาเจอกันยามระบาด

สาม งดกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น

ติดกันมานักต่อนัก มากมายรอบตัว ทั้งจากการกินข้าวในที่ทำงาน การนัดพบปะสังสรรค์ระหว่างเพื่อนฝูง หรืออื่นๆ หลายที่ก็มีนโยบายห้ามหรืองดกินข้าวร่วมกันในที่ทำงาน ให้แยกไปต่างคนต่างกิน

ส่วนที่ไหนที่ทำไม่ได้ หรือใครทำไม่ได้ ก็ขอให้ตระหนักไว้ว่าเสี่ยงแน่นอน รอแจ็คพอตว่าจะเมื่อใดก็เท่านั้น จึงต้องอ่านข้อสุดท้ายคือข้อสี่ต่อไป

สี่ หมั่นตรวจตราตนเองและสมาชิกในครอบครัว หากไม่สบายคล้ายหวัด ไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดหัว ไอ เจ็บคอ คัดจมูกน้ำมูกไหล แม้เล็กน้อย ก็จงตระหนักไว้ว่ามีโอกาสเป็นโควิด-19 และจะนำพาไปสู่การระบาดในครอบครัว และที่ทำงานได้

ดังนั้นหากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงาน แยกตัวจากคนใกล้ชิด ป้องกันตัว 100% และไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน เป็นความรับผิดชอบทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม

...หากท่าน และครอบครัวป้องกันตัวเต็มที่ดังที่กล่าวมาข้างต้น ความเสี่ยงจะลดลงไปมาก และเป็นหนทางสู่โหมด survival ครับ

ย้ำอีกครั้งว่า Long COVID จะเป็นปัญหาหลักในอนาคต ตัวเลขแต่ละวันที่เห็นนั้นอาจไม่สะท้อนสถานการณ์จริงเพราะมีข้อจำกัดในเรื่องศักยภาพของระบบการตรวจ การติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันจึงน่าจะมากกว่าที่เห็น

Long COVID ป้องกันได้ หากเราป้องกันตัว...

หมอธีระ แนะ 4 ข้อ การป้องกันตัว หลังยอดติดเชื้อพุ่งสูง