"หมอธีระ"เผยมูลค่าที่ประเทศต้องเสียหลังยอดดับไทยเกือบสองหมื่นชีวิต

12 พฤศจิกายน 2564

"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat

โดย "หมอธีระ" เผยว่า

12 พฤศจิกายน 2564
ในรอบปีที่ผ่านมา เราเห็นกันชัดเจนว่าผลลัพธ์จากระลอกสองและระลอกสามนั้นแตกต่างจากระลอกแรกอย่างชัดเจน
กล่าวคือ เป็นการเดินในหนทางที่ไม่มีทางหวนกลับ 
ในภาพรวม นโยบายและมาตรการต่างๆ ที่ไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้ ทำให้โรคระบาดนั้นประจำอยู่ในพื้นที่ไปอย่างต่อเนื่อง

หมอธีระ

เหนืออื่นใดคือ ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
กว่าสองล้านคนที่ติดเชื้อไปแล้วจนถึงปัจจุบัน
และเกือบสองหมื่นคนที่เสียชีวิตไป
ชีวิตทุกชีวิตล้วนมีค่ายิ่งนัก 
ไม่ใช่แค่ตัวเค้าที่ต้องจากไปก่อนวัยหรือก่อนเวลาอันควร
แต่การจากไปของเค้ายังส่งผลกระทบต่อสมาชิกในครอบครัว คนที่เค้ารักและคนที่รักเค้า
มากไปกว่านั้น การจากไปของ 19,934 ชีวิตนั้น ยังทำให้ครอบครัวมากมายต้องขาดเสาหลักไป
เสาหลักที่ทำหน้าที่หาเลี้ยงสมาชิกในครอบครัว
เสาหลักทางจิตใจที่คอยค้ำจุนให้ทุกคนอยู่ร่วมกันในครอบครัว
ยิ่งไปกว่านั้นบางครอบครัวยังสูญเสียทุกเสาที่มีในบ้าน ลูกเด็กเล็กแดงต้องสูญเสียทั้งพ่อและแม่ กลายเป็นเด็กที่ต้องกำพร้า 

...ทุกอย่างข้างต้นที่เกิดขึ้นมานั้น เกิดจากโรคระบาด ที่โดยแท้จริงแล้วป้องกันได้ ควบคุมได้
ขึ้นอยู๋กับว่าจะเข้มข้น เข้มแข็ง เคร่งครัด ได้เพียงพอ และทันเวลาหรือไม่
ขึ้นอยู่กับว่านโยบายและมาตรการควบคุมป้องกันโรคที่ใช้นั้นมีประสิทธิภาพดีพอหรือไม่ ทำได้ทันกาลทันเวลาหรือเปล่า
และขึ้นอยู่กับการวางแผนตระเตรียมทรัพยากรที่จำเป็นต่างๆ ทั้งหยูกยา วัคซีน เตียง และงบประมาณต่างๆ นั้นได้ทำโดยตั้งอยู่บนความรอบคอบ เพียงพอ ไม่ประมาท หรือไม่ประเมินภาวะวิกฤติคุกคามนั้นต่ำกว่าความเป็นจริงหรือไม่
นั่นจึงทำให้เราเห็นผลลัพธ์ของการต่อสู้โรคระบาดของแต่ละประเทศทั่วโลกที่ออกมาแตกต่างกันมาก 

หมอธีระ

...มูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไปจากการสูญเสียชีวิตของพลเมือง
มีงานวิจัยหลากหลายชิ้นทั่วโลกที่พยายามประเมินมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการเสียชีวิตของคน 1 คน โดยทำการประเมินด้วยหลากหลายวิธี ในมิติต่างๆ เช่น ด้านแรงงาน ด้านสุขภาพ ด้านความปลอดภัย และประเมินเป็นค่า monetary value of a statistical life (VSL) เพื่อใช้ในการนำมาพิจารณาประเมินหรือทบทวนนโยบาย เพื่อหาทางรักษาชีวิตหรือปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตพลเมืองของตน 
Keller E และคณะ ได้ทำการทบทวนงานวิจัยเหล่านี้ และพบว่า มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการเสียชีวิตของคน 1 คนนั้นสูงมาก เฉลี่ยแล้ว 5,716,830 US$
โดย ประเทศที่พัฒนาแล้ว การเสียคนไป 1 คน เท่ากับสูญเสียไปถึง 8,342,027 US$ 
ในขณะที่ประเทศที่กำลังพัฒนานั้น การเสียคนไป 1 คน เท่ากับสูญเสียไปถึง  858,599 US$
เข้าใจว่า ความแตกต่างของกลุ่มประเทศนั้นมีปัจจัยหลายอย่างมาเกี่ยวข้อง เช่น ลักษณะโครงสร้างอาชีพ รายได้ รวมถึงปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจอื่นๆ ฯลฯ
หากลองนำมาประเมินโดยคร่าว เกือบสองหมื่นชีวิตที่เราสูญเสียไปนั้น เท่ากับประเทศชาติต้องสูญเสียไปแล้วมากกว่า 561,382 ล้านบาท
แม้กระนั้น ในมุมมองของผม ยืนยันว่า ชีวิตคนทุกชีวิตมีคุณค่าอย่างยิ่ง ประเมินค่าไม่ได้ และไม่สมควรที่จะสูญเสีย และควรพยายามอย่างเต็มที่ที่จะปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของทุกคน
เราคงทราบดีว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เราจะทำอย่างไรให้ดีขึ้นกว่าเดิม
แต่โลกแห่งความเป็นจริง เราย้อนกลับไปไม่ได้ ดังนั้นทางที่ทำได้คือ ขอให้เราใช้ชีวิตอย่างมีสติ ใช้ความรู้ที่ถูกต้องเป็นแสงส่องทางเพื่อช่วยในการตัดสินใจประพฤติปฏิบัติในเรื่องต่างๆ 
การป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด เป็นกิจวัตร คือเรื่องที่จำเป็นต้องทำ
ใส่หน้ากากนะครับ สำคัญมาก.
อยู่ห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตร ลดอัตราติดเชื้อลงได้ 5 เท่า
..เพื่อตัวคุณ และคนที่คุณรักและที่เค้ารักคุณ...
อ้างอิง
Keller E et al. How Much Is a Human Life Worth? A Systematic Review. Value in Health. October 2021.

หมอธีระ