แม่ฟ้าหลวง จัดตั้งศูนย์-รับผู้ป่วยสีเขียว กลับบ้าน

01 สิงหาคม 2564

มูลนิธิซี.ซี.เอฟ.เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพฯ จัดตั้งศูนย์รับผู้ป่วยจากต่างจังหวัดกลับบ้าน พื้นที่ อ.แม่ฟ้าหลวง รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการที่กลับมาจากกรุงเทพฯ หรือพื้นที่สีแดง

วันนี้ (1 ส.ค.2564) นายหิรัญกฤษฏ์ นุ่มประไพ ปลัดอาวุโส อ.แม่ฟ้าหลวง นพ.ชัยเนตร เขื่อนเพชร ผอ.โรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง นายสุรชาติ ขจรทวีไพศาล ผู้ใหญ่บ้านห้วยอื้น ต.เทอดไทย ประธานกรรมการบริหารโครงการมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จังหวัดเชียงราย ได้ร่วมกันจัดพื้นที่ บริเวณกองอำนวยการศูนย์อำนวยการประสานงานโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคง แม่ฟ่าหลวง แม่จัน หมู่ 1 ต.เทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เพื่อเป็นศูนย์พักคอย ศูนย์ดูแลโควิดชุมชน CCC:Covid-19 Care Center อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย โดยได้รับการสนับสนุนพื้นที่จากมณฑลทหารบกที่ 37 โดยทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง แพทย์จากโรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมพัฒนาและปฏิบัติงานเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด- 19 ที่ติดเชื้อภายในพื้นที่ อ.แม่ฟ้าหลวง และที่ติดเชื้อโควิด-19 มาจากต่างจังหวัด

นายหิรัญกฤษฏ์ นุ่มประไพ ปลัดอาวุโส อ.แม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า การดำเนินการจัดตั้งศูนย์ดูแลโควิดชุมชนนี้ ดำเนินการภายใต้การอำนวยการของ นายณรงค์พล คิดอ่าน นายอำเภอแม่ฟ้าหลวง เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่ ซึ่งพื้นที่ค่อนข้างจะหายาก เพราะต้องใช้พื้นที่ที่กว้างและต้องเหมาะสม โดยได้รับการอนุเคราะห์พื้นที่จากกองอำนวยการศูนย์อำนวยการประสานงานโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคงแม่ฟ้าหลวง-แม่จัน ซึ่งอยู่ในความดูแลของ มณฑลทหารบกที่ 37 โดยได้ร่วมปรับปรุงอาคารพื้นที่เพื่อให้สามารองรับผู้ป่วยได้ โดยได้รับความร่วมมือจาก โรงพบาลแม่ฟ้าหลวง สาธารณสุข และท้องถิ่นเข้ามาช่วยกัน นอกจากนี้ได้มีการดูแลเรื่องความปลอดภัยโดยได้กำลังทหาร ร่วมกับ ชรบ.หมู่บ้านมาเฝ้าเป็นเวรยามตลอด 24 ชั่วโมง

แม่ฟ้าหลวง จัดตั้งศูนย์-รับผู้ป่วยสีเขียว กลับบ้าน

“ก่อนหน้านี้มีชาวบ้านที่ทราบข่าวว่าจะมีการนำผู้ป่วยโควิด-19 มาพักดูอาการที่นี่ ได้เข้ามาหาบอกว่าไม่สบายใจเพราะกลัวจะเป็นแหล่งเพาะกระจายเชื้อโรค จึงได้ร่วมกับแพทย์โรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง และผู้นำชุมชน เข้าไปพูดคุยสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านว่า ผู้ที่เข้ามาพักดูอาการที่ศูนย์ฯ เป็นผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่อยู่ในกลุ่มที่เป็นสีเขียว คือไม่มีอาการ และเป็นลูกหลานของเราเองที่ไปทำงานที่อื่นกลับมา เขาต้องการกลับบ้านเพื่อมาหาครอบครัว ไม่ได้นำคนจากที่อื่่นมาพักที่นี่ทั้งหมด เมื่อได้ทำความเข้าใจแล้วทางชาวบ้านยินดีที่จะให้จัดตั้งศูนย์ฯ” ปลัดอาวุโส อ.แม่ฟ้าหลวง กล่าว

ด้านนพ.ชัยเนตร เขื่อนเพชร ผอ.โรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลได้รับนโยบายมาจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงรายให้จัดตั้งศูนย์ เพื่อรองรับผู้ป่วยสีเขียว หรือผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่มีอาการ โดยจะมีอาคารสำหรับผู้ป่วย โดยผู้ป่วยที่จะรับเข้ามาที่ศูนย์นี้จะต้องเป็นผู้ป่วยที่มีผลการตรวจแล้วว่าติดเชื้อโควิด-19 และอยู่ในกลุ่มสีขียว ไม่ใช่สีเหลือง หรือ สีแดง จะเข้ามาดูอาการที่นี่ 14 วัน ตั้งแต่วันที่ทราบผลการตรวจ ผู้ที่จะเข้ามาอยู่ที่นี่จะต้องเป็นประชาชนที่มีพื้นที่อยู่ใน อ.แม่ฟ้าหลวง ไม่ว่าจะมาจากพื้นที่กรุงเทพฯ หรือปริมนฑล หรือจากจังหวัดที่มีการแพร่ระบาด หรือในพื้นที่สีแดง โดยแจ้งเข้าทางศูนย์กลางที่ ศูนย์รับส่งผู้ป่วยโควิด-19 ที่กรุงเทพฯ และประสานงานกับ สสจ.เชียงราย หรือประสานงานโดยตรงกับ สสจ.เชียงราย และโรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง โดยเจ้าหน้าที่จะทำการประเมินและส่งต่อผู้ป่วยเข้ามาเพื่อพักดูอาการ

นายสุรชาติ ขจรทวีไพศาล ผู้ใหญ่บ้านห้วยอื้น กล่าวว่า ในฐานะผู้ใหญ่บ้านห้วยอื้น ต.เทอดไทย และ ประธานกรรมการบริหารโครงการมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. ก็ได้เข้ามาดูแลผู้ป่วยและสนับสนุนงบประมาณ ให้กับพี่น้องที่กลับจากต่างจังหวัด ที่จะเข้ามาที่ศูนยฯแห่งนี้ โดยไดม้มีการเตรียมเครื่องอำนวยความสะดวกส่วนตัว เช่นพัดลม กาน้ำร้อน เครื่องนอน เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาในศูนย์ ได้รับความสะดวกสบาย นอกจากนี้ยังได้ช่วยเหลือสนับสนุนทางโรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง ในส่วนของอุปกรณ์ทางการแพทยฺที่จะเป็นจะต้องใช้ในการดูแลผู้ป่วยด้วย

นายสาโรจน์ ศิริเมือง ผู้ประสานงานภาค มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.เพื่อเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์กรที่ทำงานด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลากว่า 45 ปี ซึ่งในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมามีผู้ป่วยที่ติดเชื้อได้ถูกส่งตัวกลับภูมิลำเนาเพื่อไปรักษาต่อในแต่ละจังหวัด ซึ่งทางพื้นที่ได้เตรียมรับมือเป็นอย่างเป็นลำดับขั้นตอนตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบลจนถึงหมู่บ้าน และในหลายหมู่บ้านได้เตรียมสถานที่ในการกักตัวกลุ่มเสี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อให้คนในครอบครัวหรือในชุมชน โดยการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือในหมู่บ้านขึ้น ซึ่งมูลนิธิซี.ซี.เอฟ.จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้กับชุมชนในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 

โดยได้สนับสนุนให้ชุมชนจัดตั้ง “ศูนย์พักคอย” community isolation ให้แก่ผู้ป่วยโควิด จำนวน 30 ศูนย์ฯ ในพื้นที่ 30 จังหวัด ส่งเสริมการดูแลตนเองในระบบชุมชนในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการอยู่ในระดับสีเขียวหรืออาการไม่รุนแรงในชุมชน และสนับสนุนให้ชุมชนได้ดูแลสุขภาพให้กันและกัน ลดความรุนแรงของอาการและชะลอการแพร่ระบาดของโรคจาการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะสนับสนุนรายการที่จำเป็น และขาดแคลน จำนวน 16 รายการ คือ 1.ปรอทวัดไข้ (รายคน) 2.เครื่องวัดอุณภูมิ (แบบตั้งขา) 3.เครื่องวัดความดัน 4.เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด 5.ชุด PE/ชุดบุคลากรทางการแพทย์/ชุดคนไข้ 6.Face Shield/หน้ากากอนามัย 7.ถุงมือยาง 8.แอลกอฮอล์/เจล (70%) 9.น้ำยาฆ่าเชื้อ 10.สบู่/ผงซักฟอก 11.พัดลม 12.ชุดเครื่องนอนปิกนิก/ที่นอนยางพารา/เต้นท์ที่นอน 13.เตียงสนาม/เตียงสำหรับผู้ป่วย 14.หม้อ คูลเลอร์ต้มน้ำร้อน 15.อาหารและระบบน้ำดื่มสะอาด 16.เครื่องมือสื่อสารไว้ติดตามอาการผู้ป่วย