สื่อนอกกระพือข่าว โควิดทำเศรษฐกิจไทยทรุดหนัก ล้าหลังสุดในภูมิภาค

29 กรกฎาคม 2564

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก เสนอข่าว ประเทศไทยน่าจะมีสถานะทางเศรษฐกิจย่ำแย่ที่สุดในภูมิภาคในปีนี้ นักเศรษฐศาสตร์ยังคงคาดการณ์การเติบโตของประเทศท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรง ความตึงเครียดทางการเมือง

วันนี้ (29 ก.ค.2564) สำนักข่าวบลูมเบิร์ก เสนอข่าว Thailand Risks First Double-Dip Recession Since 1998 Asia Crisis ระบุว่า ประเทศไทยน่าจะมีสถานะทางเศรษฐกิจย่ำแย่ที่สุดในภูมิภาคในปีนี้ นักเศรษฐศาสตร์ยังคงคาดการณ์การเติบโตของประเทศท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรง ความตึงเครียดทางการเมือง และความหวังที่เลือนลางลงของการฟื้นฟูการท่องเที่ยว

สำนักข่าวได้สอบถามความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ 36 คน ค่าเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของไทยในการเติบโตปีนี้จะเท่ากับร้อยละ 1.8 ถือว่าอ่อนแอเป็นพิเศษ เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่เศรษฐกิจไทยหดตัวร้อยละ 6.1 รุนแรงที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ ขณะที่กระทรวงการคลังของไทย อาจปรับแก้ประมาณการเศรษฐกิจไทย หลังจากที่คาดไว้ในเดือน เม.ย. 2564 ว่าในปี 2564 GDP ไทยน่าจะเติบโตที่ร้อยละ 2.3 โดยตัวแปรสำคัญมาจากจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 เป็นต้นมา

 

นักเศรษฐศาสตร์บางรายมองไปถึงขั้นว่าอาจเกิดภาวะทดถอยทางเทคนิคได้ในช่วงครึ่งหลังของปี หรือแม้แต่การหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 นั่นคือสิ่งสิ่งที่ประเทศไทยไม่เคยประสบนับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่เมื่อ 2 ทศวรรษก่อน ซึ่ง ชานนทร์ บุญนุช (Charnon Boonnuch) นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทหลักทรัพย์โนมูระ ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยน่าจะล้าหลังที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) โดยในปี 2564-2564 GDP ของไทยน่าจะเติบโตต่ำสุดในย่านนี้ เศรษฐกิจไทยจะไม่ฟื้นกลับไปเหมือนยุคก่อนโควิด-19 ระบาด ก่อนไตรมาส 3/2565 นั่นหมายความว่าช้าที่สุดในอาเซียน ส่วนหนึ่งสะท้อนถึงการพึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างสูง

กรุงเทพฯ และอีก 12 จังหวัด ซึ่งอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดซึ่งรวมถึงการห้ามออกนอกเคหสถานในยามวิกาล หรือเคอร์ฟิว ครองสัดส่วนครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจไทยทั้งประเทศ หลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์สายอินเดียหรือเดลตา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ว่า สถานการณ์โรคระบาดลด GDP ลงได้ถึงร้อยละ 2 ในปี 2564 หากมาตรการที่ใช้อยู่ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้และสถานการณ์ยืดเยื้อไปถึงสิ้นปี

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่สถานการณ์ของไทยแย่ลง ดูเหมือนจะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย 2 ครั้งในไตรมาส 3/2564 รวมถึงการหดตัวแบบต่อเนื่องติดๆ กันสำหรับปี 2564 ตัวชี้วัดความถี่สูงที่ติดตามโดยศูนย์เศรษฐกิจบลูมเบิร์ก แสดงให้เห็นว่าไม่มีการลดหย่อนในโมเมนตัมการฟื้นตัวของประเทศที่อ่อนแอลง ตอนนี้มองเห็นความเสี่ยงที่สำคัญที่เศรษฐกิจไทยจะหดตัวอีกในปี2564 เมื่อเทียบกับที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.3

รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ในวันที่ 28 ก.ค. 2564 ไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 16,533 คน สูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาด ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 543,361 คน ข้อมูลจากทางการไทยระบุว่าร้อยละ 95 ของผู้ติดเชื้อเกิดขึ้นในการระบาดระลอกล่าสุดที่นับจากเดือน เม.ย. 2564 กระทรวงสาธารณสุขของไทยคาดว่าสถานการณ์จะเริ่มเบาลงในเดือน ต.ค. 2564 ส่วนการฉีดวัคซีนพบว่าฉีดไปแล้ว 16 ล้านโดส หรือร้อยละ 11 ของประชากร ขณะที่เป้าหมายภูมิคุ้มกันหมู่ที่คาดว่าจะเกิดได้ในครึ่งแรกของปี 2565 ล่าสุดคาดว่าอาจไม่ได้ตามเป้าจนกว่าจะผ่านปี 2565 ไปแล้ว
 

มาเรีย ลาพิซ (Maria Lapiz) กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ประเทศไทย เปิดเผยว่า มีการพูดคุยกันเรื่องเศรษฐกิจไทยจะหดตัวอีกครั้งในปีนี้ และไม่มีเหตุผลใดที่จะมองโลกในแง่ดี เป็นเรื่องยากที่จะยึดมั่นกับความหวังว่าประเทศจะกลับมาเปิดอีกครั้งในเดือน ต.ค. 2564 หรือการเปิดประเทศใหม่นี้หากเกิดขึ้นจึงมันจะสร้างความแตกต่างอย่างมาก

วิกฤตการณ์ทั้งทางสุขภาพและทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นท่ามกลางความไม่สงบทางการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้น ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยกลับมาชุมนุมบนท้องถนนในกรุงเทพฯ อีกครั้งหลังจากเงียบไป 6 เดือน โดยนับตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย. 2564 เป็นต้นมา มีการรวมตัวของกลุ่มต่างๆแทบทุกวัน ซึ่ง บุรินทร์ อดุลวัฒนะ (Burin Adulwattana) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า เราอยู่ในวิกฤติรุนแรง และระบบสุขภาพกำลังล่มสลาย มาตรการชดเชยไม่เพียงพอ ผู้คนกำลังหมดศรัทธารัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นทำให้บางคนออกไปบนท้องถนน สิ่งนี้บ่อนทำลายเสถียรภาพของรัฐบาลและความเชื่อมั่นต่อไป

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (Prayuth Chan-Ocha) นายกรัฐมนตรีของไทย ตั้งเป้าเปิดประเทศให้ได้ในเดือน ต.ค. 2564 แต่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นบนเกาะภูเก็ต พื้นที่นำร่องเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ซึ่งอาจคุกคามแผนการฟื้นฟูการท่องเที่ยวที่เคยสร้างครองสัดส่วน 1 ใน 5 ของเศรษฐกิจไทย และร้อยละ 20 ของการจ้างงานในประเทศก่อนเกิดวิกฤติโรคระบาด
รายงานข่าวยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลไทยวางแผนกู้เงิน 3.04 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1 ล้านล้านบาท ในปี 2563 เพื่อต่อสู้กับสถานการณ์โรคระบาด และกู้เพิ่มอีก 5 แสนล้านบาทในปี 2564 ท่ามกลางการติดเชื้อระลอกล่าสุด คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณเพิ่มอีก 3 หมื่นล้านบาทในช่วงกลางเดือน ก.ค. 2564 เพื่อชดเชยธุรกิจและแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ครั้งล่าสุด

ส่วนกลไกที่เหลืออีก 2 อย่างทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การใช้จ่ายของรัฐบาลและการส่งออกยังเผชิญความไม่แน่นอน การส่งออกเดือน มิ.ย. 2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.8 จากช่วงเดียวกันของปี 2563 เร็วที่สุดในรอบ 11 ปี สอดคล้องกับอุปสงค์ทั่วโลกที่ฟื้นตัว แต่ภาคอุตสาหกรรมก็เตือนว่าการขับเคลื่อนการเติบโตยังมีความเสี่ยงหากการฉีดวัคซีนยังคงล่าช้า

ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า , bnnbloomberg