บทเรียนล้ำค่า ไฟไหม้หมิงตี้เคมีคอล โรงงานท่ามกลางบ้านคน

06 กรกฎาคม 2564

ข้อมูลน่าสนใจ เปิดผังเมืองของจังหวัดสมุทรปราการ เกี่ยวกับพื้นที่ตั้งของโรงงานหมิงตี้เคมีคอล พบตั้งอยู่พื้นที่สีแดง หลังเหตุไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้วใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบจากการวางผังอันล้มเหลว ที่เรื้อรังมาหลายสิบปี

สืบเนื่องจากที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงผู้กล้า ที่มุ่งพยายามเกินกว่า 24 ชั่วโมงในการควบคุมเพลิงที่โหมลุกไหม้ โรงงานกิ่งแก้ว 21 หรือ โรงงานหมิงตี้เคมีคอล (บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด) จนทำให้เกิดกลุ่มควันดำพวยพุ่งทำให้ต้องอพยพชาวบ้านและประชาชนที่อยู่ในรัศมีที่อันตราย ซึ่งเช้าวันนี้ (6 ก.ค. 64) เพลิงได้สงบลงแล้ว


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้วยังหนัก รพ.จุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต งดให้บริการชั่วคราว
- "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ทรงพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบภัย ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว รับผู้เสียชีวิตไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ 
- ทำความรู้จัก สารเคมีสไตรีนโมโนเมอร์ มีผลกับสุขภาพ จากเหตุไฟไหม้โรงงานเคมิคอล กิ่งแก้ว 21
- ชาวบ้านต้องรอนานมั้ย? ตอบคำถามไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว กลับบ้านได้เมื่อไร หลังเพลิงสงบ คำนวณค่าสารเคมี 1 - 5 กิโลเมตร ยังสาหัส แนะวิธีป้องกันหากเลี่ยงไม่ได้

ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางด้านผู้ใช้เฟซบุ๊ก Watcharathit Katsri ได้แชร์ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับผังเมืองของจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเกี่ยวกับพื้นที่ตั้งของโรงงานหมิงตี้เคมีคอล โดยพบว่าโรงงานนี้ตั้งเมื่อ 30 ปีก่อน และอยู่ในพื้นที่สีแดงคือ "ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม" รวมทั้งโรงงานอื่นๆ ที่ถือว่าตั้งอยู่นอกเมือง นอกเขตที่อยู่อาศัยหนาแน่น 

ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว


แต่ด้วยความเจริญที่มากขึ้นทำให้บ้าน ชุมชน ที่พักอาศัย ขยายไปหาเขตโรงงานในภายหลัง จากเดิมที่เคยเป็นโรงงานตั้งอยู่กลางทุ่ง มีบ้านคนท้องถิ่นทำการเกษตรและประมงนิดหน่อย กลายเป็นย่านชุมชนใหญ่ เพื่อรองรับแรงงาน อีกทั้งการกำหนดสีของพื้นที่ในรูปแบบผังเมืองนั้นมีการกำหนดสีต่างๆ เอาไว้เพื่อให้สามารถเข้าใจได้ง่ายว่าที่ดินแต่ละประเภทนั้นเหมาะสมหรือจัดสรรไว้สำหรับการที่จะทำอะไรได้บ้าง ดังนี้


1. ที่ดินประเภทอยู่อาศัย : แบ่งโซนออกเป็น 3 สี ยิ่งเข้มยิ่งแปลว่ามีปริมาณการอยู่อาศัยในพื้นที่หนาแน่น และมีรหัสกำกับคือตัว "ย."
- สีเหลือง ความหนาแน่นของการอยู่อาศัยต่ำ
- สีส้ม ความหนาแน่นของการอยู่อาศัยปานกลาง
- สีน้ำตาล ความหนาแน่นของการอยู่อาศัยสูง


2. ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม : ใช้ สีแดง เป็นตัวแทนพื้นที่ที่มีจุดประสงค์หลักเพื่อการพาณิชย์ โดยสามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้ และมีข้อจำกัดน้อยกว่าที่ดินสีอื่น รหัสกำกับมีตั้งแต่ พ.1-พ.5 แตกต่างกันไปตามลักษณะของทำเลที่ตั้ง

ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว

3. ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม : สีม่วง คือตัวแทนของที่ดินประเภทนี้ รหัสคือ อ.1-อ.3 สามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้ เช่น บ้านเดี่ยว หอพัก หรือคอนโดมิเนียมขนาดเล็ก รวมถึงสร้างร้านค้าได้ แต่ไม่สามารถสร้างอาคารสูงกับอาคารชุดขนาดใหญ่ได้ โดยที่ดินรหัส อ.1 สำหรับการประกอบกิจการที่มีมลพิษน้อย, อ.2 เน้นอุตสาหกรรมการผลิต ส่วน อ.3 กำหนดให้เป็นสีเม็ดมะปราง ใช้เป็นพื้นที่คลังสินค้าสำหรับการขนส่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

4. ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม และที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม : สีผังเมืองของที่ดินประเภทนี้มี 2 แบบ คือ สีขาวและมีกรอบกับเส้นทแยงสีเขียว เป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม มุ่งสงวนรักษาทรัพยากรธรรมชาติของพื้นที่ชนบทและแหล่งเกษตรกรรม รหัสกำกับมีตั้งแต่ ก.1-ก.3 โดยพื้นที่ ก.1 มีข้อจำกัดด้านการระบายน้ำและมีความเสี่ยงในการเกิดอุทกภัย ส่วน ก.3 จะส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเค็มและน้ำกร่อยบริเวณชายฝั่งทะเลด้วย นอกจากนี้ยังมี สีเขียว เป็นที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม รหัส ก.4 และ ก.5 มุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจการเกษตร

ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว
5. ที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์และศิลปวัฒนธรรมไทย : มักจะอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในกระจุกตัวอยู่ในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ แสดงด้วย "สีน้ำตาลอ่อน" รหัสกำกับคือ ศ.1 และ ศ.2 จุดประสงค์มุ่งอนุรักษ์และส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติ รวมไปถึงกิจกรรมการพาณิชย์ การบริการ และการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว


6. ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ : แสดงเป็น สีน้ำเงิน รหัส ส. เป็นที่ดินของรัฐ ซึ่งจะใช้เพื่อเป็นสถาบันราชการ หรือการดำเนินกิจการของรัฐที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ หรือเพื่อสาธารณะประโยชน์ ยกตัวอย่าง ที่ดินของสถาบันการศึกษา วัด ศาสนสถาน เป็นต้น

ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว

โดยที่ดินสีน้ำเงินจึงกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งที่ดินบางแห่งซึ่งรัฐไม่ได้ใช้งาน ได้มีการนำมาสัมปทานให้เอกชนทำสัญญาเช่าเพื่อดำเนินกิจการต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน และคอนโดมิเนียม

ทว่าประเด็นคือ ตอนนี้การใช้ที่ดินในการประกอบกิจกรรมต่างๆ มีความลักลั่นสูงมาก โดยเฉพาะในพื้นที่สีเขียวที่เป็นพื้นที่เกษตร พื้นที่สีแดงที่เป็นพื้นที่พาณิชย์ และสีม่วงที่เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม แต่การมาของบ้านจัดสรรชานเมืองกลับสร้างโครงการบนที่ดินผิดประเภทเยอะมาก ซึ่งอาศัยขนาดพื้นที่ใช้สอยต่อหลังไม่เกินกฎหมายกำหนด เพื่อเลี่ยงระเบียบผังเมือง


ทั้งนี้ปัญหาการใช้ผังเมืองผิดประเภทโดยอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย เกิดขึ้นเยอะมากในเขตจังหวัดปริมณฑล เนื่องจากต้องรองรับการเติบโตของเมืองที่ไม่สามารถสร้างบ้านในพื้นที่ใน กทม. ได้อีกต่อไป เพราะที่ดินแพงและไม่คุ้ม การถมที่ดินเพื่อสร้างสิ่งปลูกสร้างบนพื้นที่รับน้ำและเกษตรกรรมจึงมีเพียบ ส่งผลให้เกิดการขวางทางน้ำ ทำน้ำท่วมบ่อยครั้ง


และเมื่อเขตชุมชนขยายเข้าใกล้แหล่งอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงงานสารเคมี และวัตถุมีพิษอันตราย ก็จะมีความเสี่ยงในพื้นที่ เพราะคนเลือกที่จะเข้าไปอยู่ใกล้ๆ โรงงานที่เดิมที่แต่ก่อนอยู่ไกล และต่อให้มีมาตรการคุมเข้มตรวจสอบดีขนาดไหน สักวันมันก็ต้องเกิดอุบัติเหตุแบบนี้ได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งเมืองนอก

ภาพถ่ายดาวเทียมรัศมี 2 กม.


นอกจากนี้เจ้าของโพสต์ยังได้ระบุเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับคนที่มีบ้านอยู่แถวบางนา - ตราด ใกล้ๆ กับอ.บางพลี รู้ว่าพื้นที่สีต่างๆ ถูกใช้งานผสมผสานกันแบบงงๆ อาทิ บ้านจัดสรร หอพักไม่เกิน 7 ชั้น ตั้งอยู่ในพื้นที่เกษตร หรืออุตสาหกรรมได้ พื้นที่เกษตรจริงๆ แทบไม่เหลือเพราะแทนด้วยเขตชุมชนน้อยใหญ่จนหมด และเมื่อการใช้ที่ดินไม่เป็นไปตามที่จัดสรรไว้ เวลาเกิดปัญหาใหญ่ทีความเสียหายมักรุนแรง

ดังนั้นเวลาจะซื้อบ้านในทำเลต่างๆ ต้องเช็กดีๆ ด้วยว่ามันตั้งอยู่บนพื้นที่ผังเมืองถูกต้องไหม เป็นที่ดินจัดสรรเพื่อการอยู่อาศัยหรือเปล่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภายหลังแล้วมาโทษว่าใครมาอยู่ก่อนอยู่หลังนั่นเอง

ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว
ขณะเดียวกันทาง เฟซบุ๊ก iLaw ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับใหม่ปี 2562 ที่ออกในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับดังกล่าว มีการปรับเปลี่ยนและตัดบางมาตราของ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 (ฉบับเดิม) อย่างเช่น การปลดล็อกให้โรงงานที่ใช้เครื่องจักรขนาดต่ำกว่า 50 แรงม้าขึ้นไป หรือกิจการที่มีคนงานต่ำกว่า 50 คน ไม่ถูกจัดเป็นโรงงานภายใต้การกำกับดูแลกฎหมายโรงงาน แต่จะอยู่ภายใต้การดูแลของข้อบัญญัติท้องถิ่น หรือ พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 แทน ซึ่งสามารถประกอบกิจการได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงผังเมืองหรือทำเลที่ตั้ง

ซึ่งผลที่อาจจะตามมาของการแก้ไขดังกล่าว คือ การทำให้บางโรงงานที่ใช้เครื่องจักรขนาดเล็กและมีคนจำนวนไม่มาก แต่เป็นกิจการที่มีความเสี่ยงสูงและกระทบกับสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น กิจการคัดแยกของเสีย กิจการหล่อหลอม กิจการรีไซเคิลของเสีย การจัดเก็บสารเคมีอันตราย หลุดรอดจากการตรวจสอบ

ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว

รวมถึงยังอาจเป็นการเอื้อให้โรงงานขนาดใหญ่สามารถตั้งโรงงานได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการ รวมถึงอาจทำให้เกิดการลัดขั้นตอนการทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA/ EHIA) ซึ่งทำให้เกิดความหละหลวมในการตรวจสอบ และขาดการพิจารณาถึงความเหมาะสมของทำเลที่ตั้งโรงงาน และผลกระทบอื่นๆ


อย่างไรก็ตาม ยังยกเลิกระบบการขอต่อใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานทุก 5 ปี ซึ่งอาจทำให้ไม่มีระบบการตรวจสอบสภาพโรงงาน เครื่องจักร รวมถึงความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่อยู่ใกล้ ว่ายังอยู่ในสภาพที่สามารถดำเนินการเปิดต่อไปได้หรือไม่

ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว