จับตา ล็อกดาวน์กรุงเทพฯ หลังบิ๊กตู่ เรียกหารือ ทีมแพทย์- ศบค.

25 มิถุนายน 2564

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เรียกประชุมศูนย์ปฎิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 หรือ ศปก.ศบค. และที่ปรึกษาด้านสาธารณสุข ศูนย์โควิด-19 เพื่อหารือถึงสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะการ ล็อกดาวน์กรุงเทพฯ

วันนี้ (25 มิ.ย.2564) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เรียกประชุมศูนย์ปฎิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 หรือ ศปก.ศบค. และที่ปรึกษาด้านสาธารณสุข ศูนย์โควิด-19 เพื่อหารือถึงสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะการ "ล็อกดาวน์กรุงเทพฯ" ซึ่งมีนายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน และคณะ เข้าหารือถึงการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และเรื่องวัคซีน

 

ทั้งนี้ การเรียกประชุม เพื่อหารือดังกล่าว ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียด ที่แพทย์และหลายฝ่ายต้องรองรับกับสถานการณ์โควิด -19 ในขณะที่หลายโรงพยาบาลได้ทำการปิดรับผู้ป่วย เนื่องจากห้องฉุกเฉิน และห้อง ICU เต็มไปหมดแล้ว รวมไปถึงโรงพยาบาลสนามอีกหลายแห่ง และโรงพยาบาลสนามบุษราคัม ซึ่งจะหมดสัญญาเช่า ประกอบกับจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน มีจำนวนในแต่ละวันมากถึง 3,000 -4,000 ราย ติดต่อกันมาหลายวัน และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น ทำให้บรรดาอาจารย์แพทย์หลายคน ได้มีการเสนอให้ที่ประชุม ศบค. ทำการพิจารณาถึงเรื่องการล็อกดาวน์ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อไม่ให้เกิดการเคลื่อนย้ายของประชาชน และไม่ให้เกิดการกระจายของเชื้อไปยังต่างจังหวัดทั่วประเทศ

เกี่ยวกลับเรื่องนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามเรื่องข้อเสนอการปิดประเทศ หรือล็อกดาวน์ ว่า พยามทำอยู่ แต่ชีวิตทุกคนต้องเดินหน้า ครอบครัวต้องทำมาหากิน ให้มีกินมีใช้ เพราะฉะนั้นต้องร่วมมือกัน และรัฐบาลต้องพิจารณาอย่างรอบคอบที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และเศรษฐกิจ ส่วนจะต้องล็อกดาวน์ กทม. 7 วัน แล้วหรือไม่ ก็กำลังพิจารณา และไม่ยืนยันว่าจะดำเนินการหรือไม่ 

ขณะที่ข้อเสนอ “ให้เจ็บแล้วจบ” นั้น นายกฯ ย้อนถามว่า ถ้าเจ็บแล้วไม่จบจะทำอย่างไร ขอให้ตอบคำถามด้วย แต่คนต้องปกป้องตัวเองด้วย และอยู่ที่จิตสำนึกของทุกคน 

เมื่อถามว่า ต้องใช้กฎหมายแรงขึ้นหรือไม่ เพื่อให้คนปฏิบัติตามมาตรการ นายกฯ กล่าวย้ำว่า กฎหมายมีทุกตัวอยู่แล้ว แต่เมื่อวานก็เห็นคนมาเดินเกะกะอยู่ ถามว่าเขาเกรงกลัวกฎหมายหรือไม่  ซึ่งตนก็กลัวกฎหมาย แต่คนที่ไม่กลัว ถามว่าเขาสร้างประโยชน์อะไรให้กับประเทศ และเรื่องนี้อย่ามาถามตนอีก เพราะไม่อยากเดินหน้าไปสู่สิ่งที่เกิดความวุ่นวาย ความอดอยาก เพราะปากท้องประชาชนเป็นเรื่องที่สำคัญ