นพ.ยง แนะเร่งฉีดวัคซีน แม้โควิดกลายพันธุ์ ชี้ประสิทธิภาพอาจลดลงบ้าง

23 มิถุนายน 2564

นพ.ยง ภู่วรวรรณ โพสต์เฟซบุ๊ก แนะเร่งฉีดวัคซีน แม้โควิดกลายพันธุ์ ชี้ประสิทธิภาพอาจลดบ้าง แต่อย่างน้อยก็ช่วยลดความรุนแรงของโรค และลดอัตราการเสียชีวิตลงได้อย่างแน่นอน

วันที่ 23 มิ.ย. 64 นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของไวรัส โดยระบุข้อความว่า

นพ.ยง ภู่วรวรรณ
 

"เมื่อวานได้ร่วมแถลงข่าวกับท่านอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เราได้มีการศึกษาการกลายพันธุ์ของไวรัสในประเทศไทย อาทิตย์ละหลายร้อยตัวอย่างซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของประเทศ อย่างแน่นอนและในขณะเดียวกันที่ศูนย์เองก็สามารถทำได้อย่างรวดเร็วในเกือบทุกตัวอย่างหลายร้อยตัวอย่างเช่นเดียวกัน และมีจำนวนที่มากพอที่ได้ข้อมูลตรงกันว่าขณะนี้ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์อังกฤษ หรือสายพันธุ์แอลฟา ส่วนน้อยประมาณ 10% เป็นสายพันธุ์อินเดียหรือเดลต้า และประมาณเกือบ 1 เปอร์เซ็นต์เป็นสายพันธุ์แอฟริกาใต้หรือเบต้า สายพันธุ์เดลต้า ที่พบส่วนใหญ่ยังพบในกลุ่มคนงาน ที่มีอายุน้อย แรงงานที่อยู่เป็นกลุ่มก้อน


สายพันธุ์เดลต้า จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อย นับตั้งแต่เริ่มพบมาเป็นเวลากว่าเดือน และคงจะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน จึงจะมาเป็นไวรัสส่วนใหญ่ต่อไป

ดังนั้น การให้วัคซีนที่ใช้ในประเทศไทยในขณะนี้ ยังมีประสิทธิภาพดี ในการป้องกันสายพันธุ์แอลฟา ส่วนในอนาคต การติดตามสายพันธุ์ มีความจำเป็นเพื่อปรับกลยุทธ์ในการป้องกันโรคให้เหมาะสมต่อไป


สายพันธุ์ที่กลัวว่าจะหลบหลีกวัคซีนได้มาก คือสายพันธุ์เบต้า ขณะนี้ยังพบในวงจำกัดอยู่ในบริเวณภาคใต้ แต่เนื่องจากสายพันธุ์นี้มีการแพร่ระบาดได้ต่ำกว่าสายพันธุ์อื่น ความน่ากลัวของสายพันธุ์นี้ ที่จะระบาดอย่างกว้างขวางจึงน้อยลง


วัคซีนในปัจจุบันทุกบริษัททำมาจากสายพันธุ์ดั้งเดิม คือสายพันธุ์อู่ฮั่น และแน่นอนเมื่อมีสายพันธุ์เดลต้าเกิดขึ้นแล้ว ในอนาคตก็คงจะมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นอีก เป็นวงจรที่เปลี่ยนไปตามพันธุกรรมของ RNA ไวรัส และเชื่อว่าในปีหน้า จะมีวัคซีนใน Generation ที่ 2 เพื่อให้ตรงกับสายพันธุ์ที่คาดการณ์ว่าจะระบาด ในปีหน้า เช่นเดียวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพราะการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ในวัคซีนจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน สำหรับวัคซีนทุกตัวที่จะใช้ในปีหน้า


เราต้องรีบให้วัคซีนเพื่อป้องกันเหตุการณ์ขณะนี้ให้เร็วที่สุด ถึงแม้ว่าไวรัสจะเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม วัคซีนที่ใช้อยู่ก็ยังสามารถป้องกันได้แต่อาจจะมีประสิทธิภาพลดลงบ้าง อย่างน้อยก็ลดความรุนแรงของโรค และลดอัตราการเสียชีวิตลงได้อย่างแน่นอน"

 

ขอบคุณ FB : Yong Poovorawan