หมอธีระวัฒน์ โพสต์ 7 ข้อเตือนสติ ลั่น อย่าทะนงตัวว่าฉีดวัคซีนแล้วรอด

09 มิถุนายน 2564

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความระบุว่า อย่าทะนงตัวว่าฉีดวัคซีนแล้วรอด แม้ฉีดเข็มที่สาม เป็นยี่ห้อเดิมหรือยี่ห้อใหม่ โดยที่ภูมิในเลือดที่สูงขึ้น อาจทำอะไรไม่ได้

วันนี้ (9 มิ.ย.2564) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ระบุว่า 

 

1-อย่าทนงตนว่าเป็นหนุ่มสาวหรือไม่มีโรคประจำตัวแล้วไม่เป็นไร 

นอกจากจะเป็นตัวแพร่เชื้อที่มีประสิทธิภาพแล้ว เราเห็นกันแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นในโรงพยาบาลขณะนี้ ที่คนแข็งแรงอาการหนักได้

2-อย่าคิดว่าเมื่อติดเชื้อแล้วและเริ่มมีอาการจะรักษาง่ายๆ

 กลไกของการติดเชื้อ เมื่อเข้าร่างกายแล้วจะเพิ่มจำนวน และถ้าหยุดยั้งไม่ได้หรือไม่ทัน เชื้อจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายอีกระบบที่ทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรงกว่าเชื้อไวรัสอื่นๆ จากผลของการอักเสบจะกระทบทุกอวัยวะในร่างกาย และทำให้เลือดข้น เกิดลิ่มเลือดเล็กๆ ทั่วไปด้วย

3-อย่าคิดว่ามียาต้านไวรัสแค่นั้นก็พอ 

เมื่อมีการอักเสบเกิดขึ้นจำเป็นต้องให้ยากดการอักเสบ ซึ่งทำให้ติดเชื้ออื่นได้ง่ายขึ้นจากการกดภูมิคุ้มกันและปอดอักเสบที่เห็นนั้น จะกลายเป็นทั้งจากไวรัสและแบคทีเรียซ้ำซ้อน

4-อย่าคิดว่าถ้าตัวเลขลดลงหมายความว่าต่อไปนี้ไม่ต้องระวังตัวแล้ว 

ต้องเข้าใจข้อจำกัดของการที่จะตรวจให้ได้ทุกคนในทุกพื้นที่ของประเทศ แม้ว่าตัวเลขจะลดลงก็ตามยังคงมีผู้ติดเชื้อที่ไม่รู้ตัวและไม่แสดงอาการอยู่ทั่วไปได้

5-อย่าเข้าไปในสถานที่แออัด ที่อับ อากาศถ่ายเทไม่สะดวก

สถานที่ดังกล่าวและยิ่งมีคนที่แพร่เชื้อได้หลายคน โอกาสที่จะได้รับเชื้อยิ่งสูงขึ้นและจำนวนเชื้อมากขึ้นตั้งแต่ต้น เชื้อที่อยู่กับละอองฝอยจะอบอวลอยู่ในอากาศได้นาน และแม้เมื่อตกพื้นไปแล้วการเดินจะกระพือให้ละอองฝอยเหล่านี้ลอยขึ้นอีก (จากข้อมูลของประเทศจีนตั้งแต่ปี 2563)

6-อย่านิ่งนอนใจในภาวะโรคประจำตัว ทุกอย่าง ต้องคุมให้ได้

โรคประจำตัวจะเปิดโอกาสทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น เกี่ยวข้องกับกลไกในการรับเชื้อและการเพิ่มจำนวนของเชื้อได้เก่งขึ้น นอกจากนั้น โรคประจำตัวหลายชนิดจะมีลักษณะของการเอื้อให้เกิดมีการอักเสบในร่างกายอยู่แล้ว เช่น โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ การอักเสบของข้อ การรักษาจะยิ่งซับซ้อนขึ้น ทั้งจากโควิด-19 เอง และโรคประจำตัวที่ปะทุซ้ำซ้อนขึ้น

7- อย่าทะนงตัวว่า ฉีดวัคซีนแล้วชัวร์

ฉีดเข็มเดียว โอกาสติดยังสูง โอกาสตายยังมี

ฉีดสองเข็ม โอกาสติดยังมีแต่น้อยลงมากๆ แต่ถ้าเจอเชื้อที่ปรับรหัสพันธุกรรมไป แม้แต่ตำแหน่งเดียว เช่นสายอังกฤษ ในอังกฤษ โอกาสติดจะเพิ่มขึ้น และแพร่ไปให้คนอื่นๆอีกได้

และถ้า ไวรัส “หน้าตาเปลี่ยนไปมาก” การติดอาจจะเพิ่มขึ้นได้ ไม่ว่าจะฉีดเข็มที่สาม เป็นยี่ห้อเดิมหรือยี่ห้อใหม่ โดยที่ภูมิในเลือดที่สูงขึ้น อาจทำอะไรไม่ได้ และอาการอาจยกระดับขึ้นได้จนเข้าโรงพยาบาล ปัจจุบันเริ่มมี “หลุด” แม้ฉีดวัคซีนครบไปแล้ว"