กรมอนามัย เผยผลสำรวจ พ่อแม่ค้านเปิดเรียน เหตุฉีดวัคซีนไม่ครอบคลุม

31 พฤษภาคม 2564

กรมอนามัย เผยผลสำรวจเกี่ยวกับประเด็นการเปิดเรียน พบภาพรวมทั้งประเทศ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และต้องการให้ครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมก่อน

วันนี้ (31 พ.ค.2564) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจอนามัยโพลประเด็น "เห็นด้วยที่จะเปิดเรียนหรือไม่" พบว่า ภาพรวมประเทศเห็นด้วย ร้อยละ 40.5 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 54.8 เมื่อแบ่งออกเป็นรายภาค พบว่า 

ภาคกลางไม่รวมกรุงเทพมหานคร เห็นด้วย ร้อยละ 33.1 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 62.1 

ภาคใต้ เห็นด้วย ร้อยละ 30.2 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 65.9 

ภาคเหนือ เห็นด้วย ร้อยละ 45.1 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 49.9 และ

ภาคอีสาน เห็นด้วย ร้อยละ 66.2  ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 29.6 

 

โดยเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยในการเปิดเรียนมากที่สุดในทุกพื้นที่ยกเว้นภาคอีสานคือ เนื่องจากยังพบผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่ม ส่วนภาคอีสานจัดอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดต่ำ และเป็นพื้นที่เดียวที่ผลสำรวจพบว่า เห็นด้วยที่จะให้เปิดเรียนสูงถึงร้อยละ 66.2 ซึ่งเหตุผลหลักคือ เพื่อให้เด็กได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องสำหรับเหตุผลของผู้ที่ไม่เห็นด้วยในการเปิดเรียนในภาพรวมของประเทศพบว่า ร้อยละ 15.3 ต้องการให้ครูและนักเรียนได้รับการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม ขณะที่กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดหนักในตอนนี้ต้องการให้ครูและนักเรียนได้รับการฉีดวัคซีน ร้อยละ 17.11 ภาคกลาง ร้อยละ 14.28 ภาคใต้ ร้อยละ 28.43 ภาคเหนือ ร้อยละ 23.75 และภาคอีสาน ร้อยละ 9.28 

ดังนั้น การที่ประชาชนมองว่าควรพิจารณาการฉีดวัคซีนสำหรับบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนก่อน จึงเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนการเปิดเรียนตามปกติ และการพิจารณาเปิดเรียนจึงควรกระจายอำนาจให้จังหวัดหรือกลุ่มจังหวัด ร่วมกับเขตพื้นที่การศึกษา เป็นผู้พิจารณา  โดยคำนึงถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในสถานศึกษาที่กรมอนามัยได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และภาคีเครือข่ายจัดทำขึ้น

ทั้งนี้ สถานศึกษาทุกแห่งขอให้ปฏิบัติตามมาตรการก่อนเปิดภาคเรียนอย่างเคร่งครัดด้วยการประเมินตนเอง ผ่านระบบ Thai Stop COVID plus ซึ่งจากข้อมูลระหว่างวันที่ 24 เมษายน -  27 พฤษภาคม 2564  พบว่ามีการประเมินตนเองแล้ว จำนวน 38,264 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 98.3 ส่วนนักเรียน นักศึกษา ครู บุคลากร และผู้ปกครอง ประเมินความเสี่ยงผ่านระบบ "ไทยเซฟไทย" 

และสำหรับสถานศึกษาให้จัดสภาพแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนของสถานศึกษา 44 ข้อ ใน 6 มิติ ได้แก่ 1) ความปลอดภัยจากการลดแพร่เชื้อโรค 2) การเรียนรู้  3) การครอบคลุมเด็กด้อยโอกาส 4) สวัสดิภาพและการคุ้มครอง 5) นโยบาย และ 6) การบริหารและการเงิน