"งูขี้สงสัย" ผู้ช่วยรักษาระบบนิเวศอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่

17 มิถุนายน 2566

ทำความรู้จัก..."งูขี้สงสัย" ผู้ช่วยรักษาระบบนิเวศ ที่อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติใกล้เมืองพังงา

อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ เป็นอุทยานที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อน บริเวณที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาหลัก–ลำรู่ ยังเป็นพื้นที่ชายฝั่งที่ติดกับทะเลเป็นระบบนิเวศหาดหินและระบบนิเวศหาดทราย เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีทั้งทะเล และน้ำตกสวยงาม ใครที่มาที่แห่งนี้อาจจะมีโอกาสได้พบกับเจ้างูขี้สงสัย หน้าตาน่ารักจนคิดว่าไม่มีพิษมีภัยอะไร อย่างเจ้า “งูลายสาบเขียวขวั้นดำ”(Green keelback) ที่มีดวงตากลมโต เหมือนกำลังสงสัยอะไรอยู่ตลอดเวลานี้ได้

"งูขี้สงสัย"  ผู้ช่วยรักษาระบบนิเวศอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่

"งูขี้สงสัย"  ผู้ช่วยรักษาระบบนิเวศอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่

ว่าที่ร้อยตรี สราวุธ ปล้องนุ้ย หรือ "น้องกอล์ฟ" เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ ผู้ถ่ายภาพเจ้างูขี้สงสัยนี้ เล่าให้ฟังว่า "ลักษณะของงูลายสาบเขียวขวั้นดำ จะมีเกล็ดลำตัวแต่ละเกล็ดมีสัน ส่วนท้องสีขาวแถบสีดำด้านล่างของตา ที่ไปจรดขอบขากรรไกรบน และแถบท้ายตาที่จรดท้ายทอยชัดเจน ในวัยอ่อนด้านบนของหัวจะมีโทนสีชมพูอมแดงสด และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อเต็มวัย หากพบการรบกวนจากสภาพแวดล้อมก็จะหยุดนิ่งและยกส่วนหัวและคอขึ้น คล้ายการสำรวจรอบๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น มีพฤติกรรมตามปกติไม่ก้าวร้าว แต่เมื่อจวนตัวก็พร้อมป้องกันตัวเองด้วยการกัด และยังไม่มีรายงานเรื่องระดับความรุนแรงในพิษของงูชนิดนี้"

"งูขี้สงสัย"  ผู้ช่วยรักษาระบบนิเวศอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่

สำหรับงูที่พบบ่อยในเขตอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ มีหลายชนิด เช่น งูเขียวกาบหมาก งูเขียวตุ๊กแก งูเหลือม งูเห่า งูปล้องทอง งูเขียวพระอินทร์ งูจงอาง และงูเขียวปากจิ้งจก ส่วนงูลายสาบเขียวขวั้นดำ ไม่ได้พบบ่อยนักและไม่ได้พบที่เดียวในเขตอุทยานเขาหลัก-ลำรู่ เป็นงูที่พบได้เกือบทุกภาค และส่วนมากจะอยู่บริเวณที่ชื้น แหล่งน้ำ หรือบริเวณน้ำตก

"งูขี้สงสัย"  ผู้ช่วยรักษาระบบนิเวศอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่

ทั้งนี้การพบเจองูในธรรมชาตินั้นมีประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากงูจะช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศ และงูบางชนิดเป็นงูที่กินงูด้วยกันเอง ทำให้ช่วยควบคุมจำนวนประชากรงู ทั้งงูมีพิษและไม่มีพิษได้อีกด้วย น้องกอล์ฟ ยังแนะนำว่า นักท่องเที่ยวหรือคนทั่วไปหากพบเจองู ถ้าไม่ทราบชนิดของงูก็ควรที่จะอยู่ห่างๆ ไม่ควรเข้าใกล้ รักษาระยะห่างให้มากที่สุด ถ้าเป็นไปได้ให้อยู่นิ่งๆแล้วปล่อยให้เขาเลื้อยไปตามทางของเขาเอง เพราะโดยธรรมชาติงูจะไม่ก้าวร้าว และเมื่อเข้าใจธรรมชาติของงูก็จะช่วยป้องกันอันตรายจากงูได้ นอกจากนี้อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ ยังเป็นอุทยานแห่งชาติที่อยู่ใกล้เมือง จึงถือเป็นปอดของเมืองและเป็นแหล่งพักพิงสำคัญของสัตว์ป่านานาชนิด อีกทั้งยังมีหาดทราย น้ำตกที่สวยงามและสถานที่สวยงามอื่นๆรอให้ทุกท่านมาเยือน

"งูขี้สงสัย"  ผู้ช่วยรักษาระบบนิเวศอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่

นักท่องเที่ยวที่สนใจแวะไปหาน้องงูขี้สงสัย และชมธรรมชาติที่สวยงาม สามารถสอบถามรายละเอียดการท่องเที่ยวเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา หมายเลขโทรศัพท์ 076-410-241 หรือ อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ Khaolak-Lamru National Park

"งูขี้สงสัย"  ผู้ช่วยรักษาระบบนิเวศอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่

ที่มา : ส่วนอุทยานแห่งชาติ สํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 นครศรีธรรมราช