"สีน้ำมูก" บอกความรุนแรงของหวัดและสุขภาพเราได้

17 มกราคม 2567

ในช่วงที่อากาศเริ่มเย็นลง ทำให้หลายคนอาจจะเป็นหวัดคัดจมูก และอาการที่มักจะมากับหวัดคือน้ำมูก ซึ่งสีของน้ำมูกนั้นอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงระดับความรุนแรงของโรคหวัดได้

น้ำมูกมาจากไหน

ทางเดินหายใจและทางเดินอาหารของมนุษย์เรา มีเยื่อบุทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร ซึ่งมีต่อมสร้างน้ำมูก เมือก หรือเสมหะ ไม่ว่าจะเป็นจมูก, ไซนัส, โพรงหลังจมูก, ช่องปาก, ช่องคอ, กล่องเสียง, หลอดลม ซึ่งน้ำมูก, เมือก หรือเสมหะ ทำหน้าที่ป้องกันอวัยวะภายใต้เยื่อบุจากสารพิษ หรือสารระคายเคืองต่าง ๆ  ทำให้อวัยวะดังกล่าวชื้นตลอดเวลา ซึ่งถ้าเยื่อบุที่คลุมอวัยวะดังกล่าวแห้ง จะทำให้อัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงขึ้น

"สีน้ำมูก" บอกความรุนแรงของหวัดและสุขภาพเราได้

- น้ำมูกใส
น้ำมูกใสแจ๋วนับเป็นภาวะปกติที่ไม่ใช่สัญญาณบ่งบอกโรค เพราะปกติแล้วร่างกายจะผลิตน้ำมูกใสออกมาล้างฝุ่นและสิ่งสกปรกออกจากจมูก แต่ถ้ามีน้ำมูกใสออกมากกว่าปกติอาจเป็นสัญญาณของโรคภูมิแพ้

- น้ำมูกขาวขุ่น
น้ำมูกสีขาวขุ่น อาจเป็นเพราะโพรงจมูกบวมจากการอักเสบเกิดและมีน้ำมูกขังอยู่ในโพรงจมูกเป็นเวลานาน หรือเกิดจากการขาดน้ำทำให้น้ำมูกเหนียวข้นกว่าปกติ สามารถแก้ไขได้ด้วยการดื่มน้ำให้มากขึ้น และออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อให้ระบบหายใจโล่งขึ้น

- น้ำมูกเหลือง
น้ำมูกสีเหลืองใสหรือเหลืองข้น เกิดจากการติดเชื้อในโพรงจมูกและโพรงไซนัส จนระบบภูมิคุ้มกันร่างกายส่งเซลล์เม็ดเลือดขาวมาทำลายเชื้อโรค แต่ถ้าน้ำมูกยังเป็นสีเหลืองนานเกิน 7 วัน ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับยารักษา

- น้ำมูกเขียว
น้ำมูกสีเขียวคือระดับอาการติดเชื้อในโพรงจมูกรุนแรงขึ้นกว่าน้ำมูกเหลือง หรือมีอาการติดเชื้อในโพรงจมูกมานานกว่า 2 สัปดาห์ ซึ่งควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

- น้ำมูกแดงหรือมีเลือดปน
น้ำมูกสีแดงหรือมีเลือดปน ส่วนมากเป็นเพราะเส้นเลือดฝอยในโพรงจมูกแตก ซึ่งเกิดจากการระคายเคืองหรือบาดเจ็บบริเวณจมูก การอักเสบในโพรงจมูก เยื่อบุจมูกแห้ง เนื้องอกในโพรงจมูก โรคหลอดเลือดชนิดต่าง ๆ รวมถึงการสั่งน้ำมูกแรง ๆ หากมีน้ำมูกปนเลือดหรือเลือดออกทางจมูกบ่อย ๆ หรือมีเลือดออกมากผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน

"สีน้ำมูก" บอกความรุนแรงของหวัดและสุขภาพเราได้

หากน้ำมูกเป็นสีเขียวควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการติดเชื้อที่รุนแรงขึ้น ทั้งนี้ ไข้หวัดไม่ได้บ่งบอกด้วยสีของน้ำมูกเท่านั้น อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย หรือท้องเสีย แต่ถ้าอาการต่าง ๆ ยังไม่ดีขึ้นใน 2 – 3 วัน ควรรีบมาพบแพทย์ เพราะอาจมีความเสี่ยงเป็นโรคอื่นที่รุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดาได้

ที่มา : โรงพยาบาลเวชธานี