กรมวิชาการเกษตร เตือนระวัง โรค-หนอนแมลง ในช่วงมีฝนตก

06 กันยายน 2565

ล่าสุดคณะทำงานพยากรณ์และเตือนภัยศัตรูพืช กรมวิชาการเกษตร ได้ออกประกาศเตือนภัยการผลิตพืช กรมวิชาการเกษตร ช่วงวันที่ 07/09/2565 ถึง 20/09/2565

ระวัง โรคลำต้นจุดสีน้ำตาลและผลเน่า(เชื้อรา Neoscystalidium dimidiatum) ในแก้วมังกร

สภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนตก และฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่  เตือนผู้ปลูกแก้วมังกร ในระยะ  เก็บเกี่ยวผลผลิต รับมือโรคลำต้นจุดสีน้ำตาลและผลเน่า(เชื้อรา Neoscystalidium dimidiatum)

อาการเริ่มแรกที่กิ่ง หรือผลเป็นจุดสีเหลือง จากนั้นจะพัฒนาเป็นตุ่มนูนเล็ก ๆ สีน้ำตาลคล้ายสีสนิมเหล็ก ต่อมาแผลขยายใหญ่ พบจุดเล็ก ๆ สีดำซึ่งเป็นส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อราสาเหตุโรคที่บริเวณแผล บริเวณรอบแผลมีสีเหลือง เมื่ออาการรุนแรงแผลจะเน่า โดยถ้าเป็นที่กิ่งจะทำให้เนื้อเยื่อตรงแผลหลุดเห็นเป็นรู หรือเว้าแหว่ง สำหรับที่ผล ถ้าอาการรุนแรงจะทำให้กลีบผลไหม้แห้ง และผลเน่าในที่สุด

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

1. เลือกใช้ต้นพันธุ์ที่แข็งแรงปลอดโรค

2. ลดการให้ปุ๋ยไนโตรเจน เนื่องจากเป็นพืชอวบน้ำ อาจทำให้พืชอ่อนแอเกิดโรคง่ายขึ้น

3. หมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อลดความชื้น

4. งดให้น้ำช่วงบ่ายหรือเย็น ให้เฉพาะช่วงเช้า เพื่อลดความชื้นสะสมในทรงพุ่ม

5. ตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบโรคตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคอย่างระมัดระวังให้มีแผลน้อยที่สุด การตัดแต่งกิ่งควรตัดตรงส่วนที่เป็นรอยต่อของข้อระหว่างกิ่ง นำส่วนที่เป็นโรคไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช โพรคลอราซ 45% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ 80% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อะซอกซีสโตรบิน + ไดฟีโนโคนาโซล 20% + 12.5% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วต้น ทุก 5-7 วัน จำนวน 4 ครั้ง และพ่นอีกครั้งในระยะติดดอก โดยพ่นให้ทั่วต้น ทุก 7 วัน จำนวน 3 ครั้ง

6. ไม่นำเครื่องมือตัดแต่งที่ใช้กับต้นเป็นโรค ไปใช้ต่อกับต้นปกติ และควรทำความสะอาดเครื่องมือก่อนนำไปใช้ใหม่ทุกครั้ง

*** ควรหยุดพ่นสารก่อนการเก็บเกี่ยว อย่างน้อย 15 วัน

ระวัง หนอนแมลงวันเจาะลำต้นถั่ว ในถั่วเขียว

สภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนตก และฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่  เตือนผู้ปลูกถั่วเขียว ในระยะ  ระยะกล้า รับมือหนอนแมลงวันเจาะลำต้นถั่ว

หนอนแมลงวันเจาะลำต้นถั่ว เข้าทำลายถั่วเขียวตั้งแต่ระยะต้นกล้า เมื่อตัวหนอนฟักออกมาจากไข่จะชอนไชตามเส้นใบไปที่ก้านใบ เพื่อเข้าไปกัดกินเนื้อเยื่อของลำต้นที่บริเวณไส้กลางลำต้น การเข้าทำลายของหนอนแมลงวันเจาะลำต้นถั่ว ทำให้ผลผลิตถั่วเขียวลดลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

คลุกเมล็ดถั่วเขียวก่อนปลูกด้วยสารฆ่าแมลง อิมิดาโคลพริด 70% WS อัตรา 2 กรัมต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม หรือ พ่นด้วยสารฆ่าแมลง ไตรอะโซฟอส 40% EC อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน พ่นครั้งแรก เมื่อใบจริงคู่แรกคลี่เต็มที่ หรือ อายุประมาณ 7-10 วันหลังงอก

ระวัง โรคใบจุด (เชื้อรา Alternaria brassicicola และ A. brassicae ) ในผักตระกูลกะหล่ำและผักกาด (เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอกโคลีผักกาดขาว ผักกาดหัว ผักฮ่องเต้ ผักหางหงษ์ ผักกวางตุ้ง คะน้า เป็นต้น)

สภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนตก และฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่  เตือนผู้ปลูกผักตระกูลกะหล่ำและผักกาด (เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอกโคลีผักกาดขาว ผักกาดหัว ผักฮ่องเต้ ผักหางหงษ์ ผักกวางตุ้ง คะน้า เป็นต้น) ในระยะ  ทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือโรคใบจุด (เชื้อรา Alternaria brassicicola และ A. brassicae )

โรคเกิดได้ทุกส่วนและทุกระยะของพืช

อาการระยะต้นกล้า เกิดแผลเล็ก ๆ สีน้ำตาลเข้มที่ลำต้น จากนั้นแผลจะขยายใหญ่ อาการคล้ายโรคเน่าคอดิน ทำให้ต้นกล้าชะงักการเจริญเติบโต

อาการระยะต้นโต มักพบบนใบและก้านใบ เกิดเป็นแผลจุดเล็ก ๆ สีเหลือง ต่อมาแผลจะขยายใหญ่มีสีน้ำตาลเข้มถึงดำ ลักษณะเป็นวงค่อนข้างกลม เรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ในกะหล่ำปลี ถ้าเกิดโรคหลังจากห่อหัวแล้ว และสภาพอากาศมีความชื้นสูง จะเกิดอาการเน่าอย่างรุนแรงทั้งหัว ในกะหล่ำดอก และบรอกโคลี ถ้าเกิดอาการที่ดอก จะทำให้เกิดแผลสีน้ำตาล โดยเริ่มจากช่อดอกที่อยู่ด้านนอกลามเข้ามาด้านใน หากเป็นโรครุนแรงจะถูกทำลายทั้งดอก

*** เชื้อสาเหตุโรคสามารถติดเมล็ด ทำให้เมล็ดสูญเสียความงอก หรืออาจแฝงตัวในเมล็ดพันธุ์ทำให้เกิดการระบาดของโรค เมื่อนำไปปลูกในฤดูถัดไป

 

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

1. ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ปลอดโรค ไม่นำเมล็ดพันธุ์จากแปลงที่มีการระบาดของโรคมาปลูก

2. แช่เมล็ดในน้ำอุ่นประมาณ 50 องศาเซลเซียส (การเตรียมน้ำอุ่นโดยต้มน้ำให้เดือดแล้วเติมน้ำธรรมดาลงไปหนึ่งเท่า) นาน 20-25 นาที ก่อนปลูก

3. ไม่ปลูกพืชระยะชิดกันจนเกินไป ควรให้มีแสงแดดส่องผ่านได้และมีการระบายอากาศที่ดี

4. ตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบโรคในระยะกล้า ควรถอนต้นกล้าที่เป็นโรค นำไปทำลายนอกแปลงปลูก หากพบโรคในระยะต้นโต ควรตัดใบที่เป็นโรคออก นำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ไอโพรไดโอน 50% WP อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อะซอกซีสโตรบิน 25% SC อัตรา 5-10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอโรทาโลนิล 50% SC อัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 5-7 วัน

5. ถ้าพบโรคระบาดรุนแรงให้ปลูกพืชอื่นที่ไม่ใช่พืชผักตระกูลกะหล่ำและผักกาด สลับหมุนเวียนอย่างน้อย 3 ปี

 

ระวัง ด้วงเต่าแตงแดง ในพืชตระกูลแตง (เช่น แตงกวา แตงร้าน แตงโม แตงไทย เมล่อน แคนตาลูป ซูกินี ฟักทอง ฟักเขียว ฟักแม้ว มะระจีน และบวบ)

สภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนตก และฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่  เตือนผู้ปลูกพืชตระกูลแตง (เช่น แตงกวา แตงร้าน แตงโม แตงไทย เมล่อน แคนตาลูป ซูกินี ฟักทอง ฟักเขียว ฟักแม้ว มะระจีน และบวบ) ในระยะ  ทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือด้วงเต่าแตงแดง

ด้วงเต่าแตงแดง จะทำลายยอดโดยแทะกัดกินใบ หากการระบาดรุนแรง อาจทำให้ต้นพืชตระกูลแตงชะงักการทอดยอดได้ มักพบระบาดในแปลงที่มีวัชพืชหนาแน่น ทั้งนี้เพราะตัวอ่อนอาศัยกัดกินรากพืช จึงมักเป็นปัญหาในแหล่งปลูกพืชตระกูลแตงใหม่บริเวณรอบ ๆ ที่ไม่มีการไถพรวนและปราบวัชพืชเพียงพอ พบระบาดแทบทุกฤดู โดยเฉพาะในช่วงที่พืชเริ่มแตกใบจริง

 

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

1. วิธีกล การจับทำลายด้วยมือจะช่วยลดการระบาดได้ โดยหมั่นดูแปลงในเวลาเช้า (แดดยังไม่จัด) และภายหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จ ควรถอนทำลายต้นทิ้ง เพื่อมิให้เป็นแหล่งสะสมของด้วงเต่าแตงต่อไป

2. ใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพ เช่น คาร์บาริล 85% WP อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โทลเฟนไพแรด 16% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไซแอนทรานิลิโพรล 10% OD อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อินดอกซาร์คาร์บ 15% EC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดโนทีฟูแรน 10% SL อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

 

ระวัง โรคเหี่ยวเขียว (เชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum) ในพริก

สภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนตก และฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่  เตือนผู้ปลูกพริก ในระยะ  ทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือโรคเหี่ยวเขียว (เชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum)

พบต้นพริกแสดงอาการของโรคเป็นหย่อม ๆ กระจายทั่วในแปลงปลูก ลักษณะอาการเริ่มแรก ต้นพริกแสดงอาการเหี่ยวในเวลากลางวันที่อากาศร้อนจัด และฟื้นกลับมาปกติในเวลากลางคืนซึ่งมีอากาศเย็น โดยแสดงอาการในลักษณะนี้สลับกัน 2-3 วัน จากนั้นต้นพริกจะเหี่ยวทั้งต้นอย่างถาวรและตายในที่สุด โดยที่ต้นพริกยังคงเขียวอยู่ ให้สังเกตบริเวณโคนต้นจะมีสีน้ำตาลเข้ม เมื่อถอนต้นขึ้นมาจะพบอาการรากเน่า ถ้าตัดลำต้นตามขวางจะพบส่วนของท่อลำเลียงน้ำและอาหารมีสีน้ำตาลเข้ม เมื่อนำไปแช่น้ำสะอาดประมาณ 5-10 นาที จะเห็นของเหลวสีขาวข้นคล้ายน้ำนม [bacterial exudate (ooze)] ไหลออกมา

 

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

1. ควรเลือกพื้นที่ปลูกที่ไม่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน และมีการระบายน้ำที่ดี

2. ไถพรวนดินให้ลึกเกินกว่า 20 เซนติเมตร จากผิวดินและตากดินไว้นานกว่า 2 สัปดาห์ จะช่วยลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรคในดินลงได้มาก

3. พื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรค สามารถฆ่าเชื้อโรคในดิน โดยใช้ยูเรียผสมปูนขาว อัตรา 80 : 800 กิโลกรัมต่อไร่ หว่านลงในแปลงหลังไถพรวนดินครั้งแรก จากนั้นไถกลบและรดน้ำให้ดินมีความชื้น ทิ้งไว้ 3-4 สัปดาห์ จึงเริ่มปลูกพืช

4. หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบต้นที่แสดงอาการของโรค ให้ขุดต้นที่เป็นโรค นำไปทำลายนอกแปลงปลูกทันที และโรยปูนขาวบริเวณหลุมที่ขุด เพื่อป้องกันการระบาดของโรค

5. ควรทำความสะอาดเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการเกษตร เช่น จอบ เสียม ทุกครั้งหลังใช้กับต้นที่เป็นโรค

6. ในแปลงที่มีการระบาดของโรค หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว นำส่วนต่าง ๆ ของพืชที่เป็นโรคไปทำลายนอกแปลงปลูก

7. ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ไม่ควรปลูกพืชอาศัยของเชื้อสาเหตุโรค เช่น พืชตระกูลขิง พืชตระกูลมะเขือ มันฝรั่ง พริก และถั่วลิสง ให้สลับปลูกพืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่พืชอาศัย เช่น ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง เพื่อตัดวงจรของโรค

ระวัง หนอนกอลายจุดใหญ่ ในอ้อย

สภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนตก และฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่  เตือนผู้ปลูกอ้อย ในระยะ  ระยะย่างปล้อง ถึงระยะเป็นลำ รับมือหนอนกอลายจุดใหญ่

ตัวเต็มวัยของหนอนกอลายจุดใหญ่เริ่มเข้ามาวางไข่ที่ใบอ้อย เมื่อหนอนฟักออกมาจะเดินเรียงแถวกันแล้วเจาะที่ยอดอ้อยห่างจากที่วางไข่ประมาณ 1 ปล้อง หนอนจะเจาะเข้าไปอยู่ข้างในลำต้นทั้งหมด ประมาณ 300-400 ตัว โดยเจาะรูเข้าไปรูเดียว และกัดทำลายทำให้อ้อยเสียหาย ถ้าเป็นพันธุ์ที่อ่อนแอ หนอนจะเจาะไปถึงโคนต้น และกินเนื้ออ้อยจนหมดเหลือแต่เปลือก ทำให้อ้อยสูญเสียทั้งน้ำหนักและความหวาน

 

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

ทำการป้องกันกำจัดด้วยวิธีผสมผสาน ได้แก่

1. การป้องกันกำจัดด้วยวิธีกล

– หมั่นสำรวจแปลงอ้อยอยู่เสมอ ถ้าพบการเข้าทำลายของหนอนกอลายจุดใหญ่ที่ลำอ้อย ให้ตัดออกมาทำลายทิ้งนอกแปลง และทำลายหนอนที่อยู่ในลำอ้อย

2. การป้องกันกำจัดด้วยศัตรูธรรมชาติ

- ถ้าพบการทำลายลำน้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ให้ปล่อยแตนเบียนหนอน อัตรา 100-500 ตัวต่อไร่ ปล่อยทุกสัปดาห์

- ถ้าพบไข่ของหนอนกอลายจุดใหญ่ 0.5-1.0 กลุ่มต่อต้น ให้ปล่อยแตนเบียนไข่ อัตรา 12,000 – 20,000 ตัวต่อไร่

3. การป้องกันกำจัดด้วยสารเคมี

- ในแปลงอ้อยถ้าพบหนอนกอลายจุดใหญ่เริ่มออกเป็นตัวเต็มวัย ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ (สังเกตจากการผ่าลำและดูคราบดักแด้) พ่นสารฆ่าแมลง เดลทาเมทริน 3% EC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นตอนเย็นโดยใช้เครื่องพ่นแรงดันน้ำสูง หลังจากนั้น 5-7 วัน ให้ปล่อยแตนเบียนไข่ตามอีกครั้ง

- ถ้าพบไข่ของหนอนกอลายจุดใหญ่ 0.5-1.0 กลุ่มต่อต้น พ่นด้วยปิโตรเลียมสเปรย์ออยล์ อัตรา 100 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

 

ระวัง โรครากเน่า โคนเน่า (เชื้อรา Phytophthora palmivora) ในทุเรียน

สภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนตก และฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่  เตือนผู้ปลูกทุเรียน ในระยะ  เตรียมต้น (ระยะการเจริญทางใบ) รับมือโรครากเน่า โคนเน่า (เชื้อรา Phytophthora palmivora)

อาการที่ราก เริ่มแรกจะเห็นใบที่ปลายกิ่งมีสีซีดไม่เป็นมันเงา เหี่ยวลู่ลง เมื่ออาการรุนแรงมากขึ้นใบจะเหลืองและหลุดร่วง หากขุดดูราก จะพบรากฝอยมีลักษณะเปลือกล่อน และเปื่อยยุ่ยเป็นสีน้ำตาล เมื่อโรครุนแรงอาการเน่าจะลามไปยังรากแขนงและโคนต้น ทำให้ต้นทุเรียนโทรมและยืนต้นตาย

อาการที่กิ่งและที่ลำต้นหรือโคนต้น ระยะแรกจะเห็นทุเรียนแสดงอาการใบเหลืองเป็นบางกิ่ง สังเกตเห็นคล้ายคราบน้ำบนผิวเปลือกของกิ่ง หรือต้น ในช่วงเช้าที่มีอากาศชื้นอาจเห็นเป็นหยดของเหลวสีน้ำตาลแดงออกมาจากบริเวณแผล และจะค่อย ๆ แห้งไปในช่วงที่มีแดดจัด ทำให้เห็นเป็นคราบ เมื่อใช้มีดถากบริเวณคราบนั้น จะพบเนื้อเยื่อเปลือกและเนื้อไม้เป็นแผลสีนํ้าตาล ถ้าแผลขยายใหญ่ลุกลามจนรอบโคนต้น จะทำให้ทุเรียนใบรวงจนหมดต้น และยืนต้นแห้งตาย

อาการที่ใบ ใบอ่อนแสดงอาการเหี่ยว เหลืองบริเวณแผลมีลักษณะฉ่ำน้ำ สีน้ำตาลอ่อน และเปลี่ยนเป็นสีดำ ตายนึ่งคล้ายน้ำร้อนลวก เส้นใบมีสีน้ำตาลดำ เกิดอาการไหม้แห้งคาต้นอย่างรวดเร็วแล้วค่อย ๆ ร่วงไป พบมากช่วงฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวัน

 

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

1. แปลงปลูกควรมีการระบายน้ำดี ไม่มีน้ำท่วมขัง และเมื่อมีน้ำท่วมขังควรรีบระบายออก

2. ปรับปรุงดิน โดยใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปรับสภาพดินให้มีค่าความเป็นกรด-ด่าง ประมาณ 6.5 กรณีดินที่เป็นกรดจัด ให้ใส่ปูนขาวหรือโดโลไมท์ อัตรา 100-200 กิโลกรัมต่อไร่

3. หลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจทำให้รากหรือลำต้นเกิดแผล ซึ่งจะเป็นช่องทางให้เชื้อราสาเหตุโรคเข้าทำลายพืชได้ง่ายขึ้น

4. ต้นทุเรียนที่เป็นโรครุนแรงมาก หรือยืนต้นแห้งตาย ควรขุดออกนำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วราดดินในหลุมและบริเวณโดยรอบ ด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทิ้งไว้ระยะหนึ่ง จึงปลูกทดแทน

5. ตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบส่วนของกิ่ง ใบ ดอก และผลที่เป็นโรค ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรค รวมทั้งเก็บผลเน่าที่ร่วงหล่นไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วพ่นด้วยสาร เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ทั่วทรงพุ่ม จำนวน 1-2 ครั้ง ทุก 7-10 วัน และควรหยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยวผล อย่างน้อย 15 วัน

6. ไม่นำเครื่องมือตัดแต่งที่ใช้กับต้นเป็นโรคไปใช้ต่อกับต้นปกติ และควรทำความสะอาดเครื่องมือก่อนนำไปใช้ใหม่ทุกครั้ง

7. เมื่อพบต้นที่ใบเริ่มมีสีซีด ไม่เป็นมันเงาหรือใบเหลืองหลุดร่วง ใช้สาร ฟอสโฟนิก แอซิด 40% SL ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ใส่กระบอกฉีดยาฉีดเข้าลำต้น อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อต้น และ/หรือราดดินด้วยสารฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

8. เมื่อพบอาการโรคบนกิ่งหรือที่โคนต้น ถากหรือขูดผิวเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออก แล้วทาแผลด้วยสาร ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 70 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WG อัตรา 90 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 40-60 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ แมนโคเซบ + วาลิฟีนาเลท 60% + 6% WG อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ โพรพาโมคาร์บไฮโดรคลอไรด์ + เมทาแลกซิล 10% + 15% WP อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ทุก 7 วัน จนกว่าแผลจะแห้ง หรือ ใช้ฟอสโฟนิก แอซิด 40% SL ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ใส่กระบอกฉีดยา ใช้อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อต้น ฉีดเข้าลำต้นหรือกิ่งในบริเวณตรงข้ามอาการโรค หรือส่วนที่เป็นเนื้อไม้ดีใกล้บริเวณที่เป็นโรค

9. หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ตัดแต่งกิ่งเป็นโรค กิ่งแห้ง และตัดขั้วผลที่ค้างอยู่ นำไปทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดการสะสมของเชื้อสาเหตุโรค

สนับสนุนโดย : ปุ๋ยมงกุฎ

กรมวิชาการเกษตร เตือนระวัง โรค-หนอนแมลง  ในช่วงมีฝนตก