ความหมาย ดอกไม้ประจำวันเกิด สมเด็จพระพันปีหลวง

12 สิงหาคม 2565

เปิดความหมาย ดอกไม้ของแม่ ดอกไม้มงคล ดอกไม้ประจำวันเกิด พรรณไม้ทรงคุณค่า สูงค่าและงดงาม ด้วยพระนาม "สิริกิติ์"

เปิด ความหมายดอกไม้ประจำวันเกิด หรือ พรรณไม้ดอกที่ทรงคุณค่า ดอกไม้มงคล สูงค่าและงดงาม ดอกไม้ที่มีนามตามพระนามาภิไธย ดอกไม้นามพระราชทาน และ ดอกไม้ทรงโปรดของ “สมเด็จพระพันปีหลวง” ซึ่งล้วนต่างเป็นพรรณไม้มงคลทรงคุณค่างดงาม ควรค่าแก่การอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง

ดอกไม้ที่มีนามตามพระนามาภิไธย ดอกไม้นามพระราชทาน และดอกไม้ทรงโปรดของ สมเด็จพระพันปีหลวง”

พรรณไม้ดอก มีความเกี่ยวพันกับ สมเด็จพระพันปีหลวง นั้น มีอยู่หลายชนิด อาจ สามารถจำแนกแยกได้ดังนี้คือ  ดอกไม้ในพระนามาภิไธยมีจำนวน 3 ชนิด ได้แก่ 

  1. กุหลาบควีนสิริกิติ์ 
  2. คัทลียาควีนสิริกิติ์ 
  3. ดอนญ่าควีนสิริกิติ์ 

ซึ่งมีที่มาจากการที่นักวิจัยทางพฤกษศาสตร์ชาวต่างประเทศได้พัฒนาสายพันธุ์ ของดอกไม้ทั้ง 3 ชนิด จนได้สายพันธุ์ใหม่ซึ่งมีโครงสร้างของลำต้นและองค์ประกอบดอกที่สวยงามสมบูรณ์ จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาตเชิญพระนามาภิไธย “สิริกิติ์” ขานท้ายชื่อของดอกไม้ชนิดนั้น  เพื่อเป็นการ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีของไทย

ส่วนดอกไม้ที่เกี่ยวข้อง จากการได้รับพระราชทานนามมีจำนวน 7 ชนิด คือ  

  1. ทิพเกสร
  2. สรัสจันทร
  3. โมกราชินี
  4. นิมมานรดี
  5. สร้อยสุวรรณา
  6. ดุสิตา
  7. มณีเทวา

ส่วนใหญ่เป็น พันธุ์ไม้ที่เกิดขึ้นในทุ่งหญ้า ป่าเขาตามธรรมชาติบางชนิดเป็น พันธุ์ไม้ประจำถิ่น ที่ หายาก ซึ่งได้ทอดพระเนตรเห็น เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร และโปรดเกล้าฯ ให้นักพฤกษศาสตร์ปลูกขยายพันธุ์ดอกไม้ป่าดังกล่าว ภายในบริเวณพระตำหนักที่ประทับ บางชนิดโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามแก่ดอกไม้นั้น ตามที่มีผู้ทรงกราบบังคมทูลขอพระราชทานนาม และได้ทูลเกล้าฯ ถวายนามดอกไม้ให้ทรงเลือก ซึ่งแต่ละนามที่ทรงเลือกนั้น ล้วนสะท้อนความหมายตามความสวยงาม และลักษณะที่โดดเด่นของดอกไม้แต่ละชนิด

และยังมีอีก 2 ชนิด ซึ่งเป็นดอกไม้ที่ทรงโปรดคือ 

  1. กุหลาบมอญ 
  2. ชบาสีฟ้า 

จัดเป็นดอกไม้ที่มีสีสันงดงาม มีโครงสร้างของดอกที่อ่อนช้อยละเมียดละไม เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยยิ่งนัก ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547 ประเทศไทยเราได้ พรรณไม้พระนามาภิไธยใหม่ ซึ่งเป็นชนิดใหม่ของโลกด้วย นั่นคือ “มหาพรหมราชินี” ติดตามรายละเอียดดอกไม้ได้ดังนี้

คัทลียาควีนสิริกิติ์  ความหมาย ดอกไม้ประจำวันเกิด สมเด็จพระพันปีหลวง

กุหลาบควีนสิริกิติ์

กุหลาบ "ควีนสิริกิติ์" อยู่ในวงศ์ ROSACEAE เป็นลูกผสมระหว่างกุหลาบพันธุ์ Konigin der Rosen และ Golden Giant เกิดเป็นพันธุ์ " Peer Gynt " ซึ่งมีความสวยงามระดับโลก ได้นำออกเผยแพร่ในปี 2511 และปี 2513 ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดกุหลาบที่กรุง Belfast ประเทศไอร์แลนด์ นาย Andre' Hendricx ชาวเบลเยี่ยม ผู้อำนวยการเรือนกุหลาบ " Grandes Roseraiea Du Val De Loire " ประเทศฝรั่งเศส จึงได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ขอพระราชทานพระราชานุญาตเชิญพระนามาภิไธย "สิริกิติ์" เป็นชื่อของกุหลาบลูกผสมพันธุ์นี้ว่า กุหลาบ "ควีนสิริกิติ์"

กล้วยไม้คัทลียา "ควีนสิริกิติ์"

กล้วยไม้คัทลียา "ควีนสิริกิติ์" อยู่ในวงศ์  ORCHIDACEAE  เป็นลูกผสมระหว่าง Catleya Bow Bells และ  CatleyaObrieniana var. aba ที่บริษัท Black & Flory Ltd. ประเทศอังกฤษเป็นผู้ผสมขึ้น และในปี 2501 ได้จดทะเบียนชื่อพันธุ์ว่า Exquisite คัทลียาลูกผสมนี้มีความสวยงามจนได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจาก The Royal Horticulture Society ประเทศอังกฤษ  จึงได้มีการกราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขอพระราชทานพระราชานุญาตเชิญพระนามาภิไธย "สิริกิติ์" เป็นชื่อของกล้วยไม้ลูกผสมพันธุ์นี้ว่า "คัทลียา "ควีนสิริกิติ์"

ดอนญ่า"ควีนสิริกิติ์"

ดอนญ่า "ควีนสิริกิติ์" อยู่ในวงศ์  RUBIACEAE  เป็นลูกผสมระหว่าง Mussaenda Luz และ M.philipica 'Aurorae' ที่มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ผสมขึ้น  ในปี  2506 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนประเทศฟิลิปปินส์อย่างเป็นทางการ ทางมหาวิทยาลัยจึงได้กราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเชิญพระนามาภิไธย "สิริกิติ์" เป็นชื่อของดอนญ่าลูกผสมพันธุ์ใหม่นี้ว่า ดอนญ่า "ควีนสิริกิติ์"

มหาพรมราชินี

มหาพรมราชินี เป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก อยู่ในสกุลมหาพรมซึ่งค้นพบโดย ดร.ปิยะเฉลิมกลิ่น ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย โดยพบว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณยอดเขาสูงชัน ที่ระดับสูง 1,100 เมตร ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รับการตรวจรับรองพรรณไม้ดังกล่าวจาก Dr. Aruna Weerasooriya ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้สกุลมหาพรมแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง ข้อมูลพรรณไม้ดังกล่าวลงตีพิมพ์ในวารสาร Nordic Journal of Botany  แห่งประเทศเดนมาร์ก โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระนามาภิไธยเป็นชื่อพรรณไม้ชนิดใหม่ว่า มหาพรมราชินี ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mitrephora siriketiae Weerasooriya ,Chalermglin & M.K.R.Saunders เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ ในวันที่ 12 สิงหาคม 2547

ทิพเกสร

ทิพเกสร เป็นดอกไม้ที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานชื่อไว้ อยู่ในวงศ์ LENTIBULARIACEAE เป็นไม้ล้มลุกกินแมลง สูง 10-30 ซม. ลำต้นเล็กมากอยู่ใต้ดิน ใบเดี่ยว และมีใบที่เปลี่ยนเป็นถุงสำหรับดักจับแมลงเป็นอาหาร ดอกสีม่วงอ่อนแกมชมพู ผลเป็นผลแห้งชนิดแตกเมื่อแก่ พบในอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย ขึ้นตามบริเวณพื้นที่โล่ง ชุ่มชื้น ในประเทศไทยพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

สรัสจันทร

สรัสจันทร เป็นดอกไม้ที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานชื่อไว้ อยู่ในวงศ์ BURMANNACEAE เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก สูง 10-30 ซม. ลำต้นเล็ก เรียว ดอกสีชมพูจนถึงสีม่วงอ่อนอมฟ้า ส่วนปลายมีสีเหลืองหรือสีครีมออกเป็นช่อกระจุกที่ปลายยอด ผลเป็นผลแห้งไม่แตกเมื่อแก่ พบตามบริเวณทุ่งหญ้าเปิด ริมหนองน้ำและบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ

โมกราชินี

โมกราชินี เป็นดอกไม้ที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานไว้ อยู่ในวงศ์ APOCYNACEAE เป็นต้นไม้ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงได้ถึง 6 เมตร ดอกสีขาว ออกเป็นช่อ ผลเป็นฝักคู่สีน้ำตาล แก่แล้วแตกตามยาว เมล็ดแบนรี เป็นไม้ถิ่นเดียว พบเฉพาะในประเทศไทย ตามบริเวณเขาหินปูน ที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี มีสถานภาพเป็นไม้หายากที่ใกล้สูญพันธุ์ ศ.ดร.ธวัชชัย สันติสุข และ ศ.ดร.เต็ม สมิตินันทน์ ได้ค้นพบและเก็บตัวอย่างไว้ ต่อมาได้มีการทบทวนตรวจสอบความถูกต้องร่วมกับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ และยกขึ้นเป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก

สร้อยสุวรรณา

สร้อยสุวรรณา เป็นดอกไม้ที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานชื่อไว้ อยู่ในวงศ์ LENTIBULARIACEAE เป็นไม้ล้มลุก กินแมลง ขึ้นเป็นกอเล็กๆ สูง 10-15 ซม. อายุปีเดียว มีอวัยวะจับแมลงเกิดตามข้อของไหลหรือบนใบรูปกลมขนาดเล็ก มีก้านชูสั้นๆ ดอกสีเหลือง ออกเป็นช่อ ผลเป็นผลแห้งชนิดแตกเมื่อแก่ พบในอินเดีย เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และอินโดนีเซีย ในประเทศไทยพบตามพื้นที่โล่งและชุ่มชื้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

ดุสิตา

ดุสิตา เป็นดอกไม้ที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานชื่อไว้ อยู่ในวงศ์ LENTIBULARIACEA เป็นไม้ล้มลุกกินแมลง อายุปีเดียว ขึ้นเป็นกอเล็ก สูง 10-20 ซม. มีใบที่เปลี่ยนเป็นถุงสำหรับดักจับแมงขนาดเล็ก ดอกสีม่วงเข้มออกเป็นช่อ ผลเป็นผลแห้งชนิดแตกเมื่อแก่ พบในอินเดีย เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย ในประเทศไทยพบตามพื้นที่โล่งและชุ่มชื้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

มณีเทวา

มณีเทวา เป็นดอกไม้ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานชื่อไว้ อยู่ในวงศ์ ERIOCAULACEAE เป็นไม้ล้มลุกลักษณะเป็นกอขนาดเล็กคล้ายหญ้า สูง 2-6 ซม. ดอกสีขาวออกเป็นช่อ ตั้งจากโคนกอสูง 5-15 ซม. ลักษณะเป็นก้อนกลมที่ปลายยอด ผลเป็นผลแห้ง ชนิดเมื่อแก่แล้วไม่แตก ขึ้นตามพื้นที่โล่งชุ่มชื้นหรือชายป่าโปร่ง ในภาคตะวันออกและตะวันออเฉียงเหนือของประเทศไทย

กุหลาบมอญ

กุหลาบมอญ เป็นดอกไม้อีกชนิดหนึ่งที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โปรด ด้วยมีกลิ่นหอม อยู่ในวงศ์ ROSACEAE มีบันทึกกล่าวไว้ว่า ได้มีการนำกุหลาบมอญเข้ามาปลูก ราวปี 2112 - 2133 ในกรุงศรีอยุธยา กุหลาบมอญเป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม จึงสามารถนำมาสกัดเป็นหัวน้ำหอมได้

ชบาสีฟ้า

ชบาสีฟ้า (Genus Hibiscus Blue) เป็นดอกไม้ที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โปรดสี ไม้ชนิดนี้นำเข้าจากต่างประเทศ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ไปทรงเยือนรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา อย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2503 และศาสตราจารย์พิเศษ ประชิด วามานนท์ ได้เขียนเล่าไว้ว่าใน 2509 ได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทรงรับสั่งให้ ศ.ดร.ประชิด วามานนท์  ทำการขยายพันธุ์ชบาสีฟ้าให้มากๆ

นิมมานรดี

นิมมานรดี อยู่ในวงศ์ ORCHIDACEAE ชื่อสามัญว่า Eria amica Rchb.f. เป็นกล้วยไม้ที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานชื่อไว้เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพรรณไม้ที่บริเวณโคกนกกะบา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2534 เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ออกดอกเป็นช่อ ยาว 12-15 ซม. ก้านดอกมีขนนุ่มสีขาว กลีบเลี้ยงและกลีบดอกสีขาว มีขีดตามยาว สีแดงเข้ม กลีบปากที่ปลายมีพื้นสีเหลืองเข้มและมีแต้มสีแดงเข้มที่โคนกลีบ พบในอินเดียและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

นิมมานรดี ความหมาย ดอกไม้ประจำวันเกิด สมเด็จพระพันปีหลวง

ขอบคุณที่มาจาก : ดอกไม้ของแม่