กรมการแพทย์ ชี้แจง ไม่ชอบดื่มน้ำเปล่า เสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง จริงหรือไม่

21 กรกฎาคม 2565

กรมการแพทย์ ชี้แจงแล้ว ไม่ชอบดื่มน้ำเปล่า เสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง จริงหรือไม่ หลังจากที่มีข่าวลือออกมาตามโซเชียล

กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เผยไม่ชอบดื่มน้ำเปล่า ไม่ใช่ปัจจัยหลักโดยตรงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง หากมีอาการ พูดลำบาก ปากตก แขนขายกไม่ขึ้น ควรรีบไปโรงพยาบาลทันทีเพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว เร็วก็รอด ปลอดอัมพาต

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคหลอดเลือดสมองพบได้ทุกเพศทุกวัย แต่อาจพบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน ผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่ การใช้สารเสพติด หรือพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อการอักเสบในระบบประสาทส่วนกลาง

กรมการแพทย์ ชี้แจง ไม่ชอบดื่มน้ำเปล่า เสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง จริงหรือไม่

 

จากกรณีที่มีการแชร์ข่าวการไม่ดื่มน้ำเปล่าทำให้เป็นอัมพาตหรือโรคหลอดเลือดสมอง และมักจะดื่มน้ำอัดลม นมเปรี้ยว น้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่ม ชูกำลัง ทำให้เป็นโรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพฤกษ์อัมพาตนั้น อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด อย่างไรก็ตามการที่จะบอกว่าดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้แทนน้ำ อาจเป็นสาเหตุโดยอ้อมเนื่องจากเครื่องดื่มเหล่านี้มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง และมีปัจจัยเสี่ยงอีกหลายอย่างที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ สำหรับอาการของโรคหลอดเลือดสมองมักไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า หากมีอาการแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกข้างใดข้างหนึ่ง พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว มองไม่ชัด โดยเป็นทันทีทันใด ควรรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดในทันที หรือโทรแจ้งสายด่วน1669

กรมการแพทย์ ชี้แจง ไม่ชอบดื่มน้ำเปล่า เสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง จริงหรือไม่

 

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติม ปัจจุบันมีเครือข่ายโรคหลอดเลือดสมองครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งโรงพยาบาลของรัฐขนาดเล็กขนาดใหญ่ โรงพยาบาลเอกชน สามารถให้การดูแลตามมาตรฐานของการรักษาโรคหลอดเลือดสมองได้ทั่วประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือทุกการตรวจรักษาสำหรับโรคหลอดเลือดสมองชนิดเฉียบพลันไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับคนไทยในทุกสิทธิ์การรักษา เพราะถือเป็นอาการป่วยฉุกเฉินที่ได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ถ้าผู้ป่วยมาทันในเวลาที่กำหนด จะได้รับการรักษาด้วยยาฉีดสลายลิ่มเลือด หากฉีดยาสลายลิ่มเลือดไม่ได้เนื่องจาก เกินกำหนดเวลา หรือฉีดยาแล้วไม่สามารถเปิดหลอดเลือดแดงใหญ่ได้ ผู้ป่วยจะได้รับการพิจารณารักษาด้วยการใส่สายสวนลากลิ่มเลือดต่อไป แม้ว่าไม่สามารถทำการรักษาชนิดนี้ได้ในทุกจังหวัด แต่เครือข่ายโรคหลอดเลือดสมองที่กระจายอยู่ ทั่วประเทศ สามารถติดต่อเพื่อส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้ทั่วประเทศ โดยกระบวนการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทยก้าวหน้าและครอบคลุมทุกพื้นที่แล้ว แต่สิ่งที่จะทำให้รักษาได้ผลดีที่สุด ผู้ป่วยอาการดีขึ้นและหายเป็นปกติมากที่สุด คือการไปถึงโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดเมื่อเกิดอาการ เพราะทุกวินาทีที่ช้าออกไป เซลล์สมองที่ขาดเลือดไปเลี้ยงจะเสียหายมากขึ้นไปเรื่อย ๆ เพราะโรคหลอดเลือดสมอง เร็วก็รอด ปลอดอัมพาต

กรมการแพทย์ ชี้แจง ไม่ชอบดื่มน้ำเปล่า เสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง จริงหรือไม่

 

ขอบคุณข้อมูลจาก Tnews