เทคนิค "ปลูกมังคุด" ให้ได้คุณภาพ ส่งออกได้ราคาดี

13 มิถุนายน 2565

มังคุด เป็นผลไม้จากเอเชียที่ได้รับความนิยมมาก ได้รับขนานนามว่าเป็น ราชินีของผลไม้ มีรสชาติที่หวาน อร่อย และเป็นที่ต้องการของตลาดส่งออกเป็นอย่างมาก

มังคุด ราชินีแห่งผลไม้ มังคุดมีถิ่นกำเนิดบริเวณคาบสมุทรมลายู แต่สำหรับประเทศไทยนั้นมีการเพาะปลูกกันมากในภาคใต้และภาคตะวันออก ในกรุงเทพมหานครมีวังสวนมังคุด ซึ่งตั้งอยู่บริเวณวังหลัง สันนิษฐานว่าเป็นพื้นที่สำหรับปลูกมังคุดเพื่อรับรองคณะทูตที่เดินทางมาจากเมืองอื่น ปัจจุบันยังคงเหลือแนวกำแพงอิฐเก่า อยู่ในบริเวณชุมชนวัดระฆัง

สรรพคุณตามตำรายาไทย

ราก ทำให้ประจำเดือนมาปกติ รักษาโรคบิดมมูกเลือด

ต้น ใบ และดอก รักษาโรคบิดมูกเลือด

เปลือกต้น ชะล้างบาดแผล รักษาแผล

ผลดิบ สมานแผล แก้บาดแผล แก้ท้องร่วง แก้บิด

เปลือกผล แก้ท้องร่วง สมานแผล แก้ท้องเสีย

เนื้อในผล บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง

เทคนิค ปลูกมังคุด ให้ได้คุณภาพส่งออกได้ราคาดี

พันธุ์มังคุด

มังคุดพันธุ์ดีที่นิยมปลูกและบริโภคในประเทศไทย มีทั้งหมด 2 พันธุ์ ได้แก่ มังคุดพันธุ์ดั้งเดิม(พันธุ์พื้นเมือง) และ มังคุดพันธุ์ผลยาว 

  • เลือกต้นพันธุ์ที่แข็งแรง
  • มีระบบรากสมบูรณ์ไม่ขดงอ
  • อายุไม่น้อยกว่า 2 ปี
  • มีความสูงไม่ต่ำกว่า 30 เซนติเมตร

พื้นที่ปลูกมังคุด ที่เหมาะสม

  • สภาพพื้นที่ มีความอุดมสมบูรณ์สูง ระบายน้ำได้ดี หน้าดินลึกกว่า 50 เซนติเมตร มีความเป็นกรดด่าง 5.5 - 6.5
  • สภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิระหว่าง 25 - 35 องศาเซลเชียส ปริมาณน้ำฝนมากกว่า 2,000 มิลลิเมตร/ปี การกระจายตัวของฝนดี มีช่วงแล้งต่อเนื่องน้อยกว่า 3 เดือน/ปี และความขึ้นสัมพัทธ์ร้อยละ 70 - 80
  • แหล่งน้ำ มีปริมาณเพียงพอตลอดปี ไม่มีสารอินทรีย์ และอนินทรีย์ที่เป็นพิษปนเปื้อน มีความเป็นกรดด่าง 6.0 - 7.5

การเตรียมพื้นที่ปลูกมังคุด

  • พื้นที่ดอน ไถพรวน ปรับพื้นที่ให้เรียบ หากมีปัญหาน้ำท่วมขังให้ขุดร่องระบายน้ำ
  • พื้นที่ลุ่ม ยกโคกปลูก หากมีน้ำท่วมขังมากและนานควร ยกร่องสวน ให้มีขนาดสันร่องกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร ร่องน้ำกว้าง 1.5 เมตร ลึก 1 เมตร มีระบบระบายน้ำ เข้า-ออกเป็นอย่างดี

การวางผังปลูก มี 2 ระบบ คือ 

  1. ระบบสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือ สามเหลี่ยมด้านเท่า ระยะปลูก 8x8 หรือ 10x10 เมตร
  2. ระบบแถวกว้างต้นชิน ระยะปลูก 8x3 หรือ 10x5 เมตร

เทคนิค ปลูกมังคุด ให้ได้คุณภาพส่งออกได้ราคาดี

วิธีการปลูกมังคุด

  • วิธีการปลูกแบบเตรียมหลุมปลูก เหมาะกับพื้นที่ค่อนข้างแล้ง
  • วิธีการปลูกแบบนั่งแท่นหรือยกโคก เหมาะกับพื้นที่ฝนตกชุก ช่วยให้ดินระบายน้ำได้ดีขึ้น

การใส่ปุ๋ย ให้น้ำ และการดูแลรักษา

เก็บตัวอย่างดินและใบมังคุด เพื่อส่งวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารและใส่ปุ้ย ให้สอดคล้องกับค่าวิเคราะห์ดินและใบ หรือใส่ตามอัตราแนะนำ โดย

ช่วงหลังการเก็บเกี่ยว

ปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 20-30 กิโลกรัมต่อต้น + ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 1/3 ของเส้นผ่าศูนย์กลางทางพุ่ม (กิโลกรัมต่อต้น)

เช่น ถ้าทรงพุ่มกว้าง 6 เมตร ให้ใส่ปุ๋ย 2 กิโลกรัม โดยโรยรอบชายขอบของทรงพุ่มให้ทั่วถึง

ช่วงพัฒนาของผล

ปุ๋ยสัดส่วน 3:1:4 อัตรา 1/3 ของเส้นผ่าศูนย์กลางทางพุ่ม (กิโลกรัมต่อต้น) 

เช่น ปุ๋ยสูตร 15-5-20 

หรือ ตามค่าวิเคราะห์ดินหลังการติดผลร่วมพ่นปุ๋ยทางใบสัดส่วน 4:1:6 อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

ให้น้ำเพียงพอกับความต้องการของมังคุดในแต่ละช่วงการเจริญเติบโต

ระยะติดผล อายุผลประมาณ 5 สัปดาห์ ให้น้ำทุก 3 วัน อัตราร้อยละ 80 ของการให้น้ำปกติ

ระยะอายุผล 5 สัปดาห์ถึงก่อน 10 สัปดาห์ ให้น้ำอัตราร้อยละ 10 ของการให้น้ำปกติ

ระยะอายุผลประมาณ 10-12 สัปดาห์ถึงเก็บเกี่ยว ให้น้ำอัตราร้อยละ 80 ของการให้น้ำปกติ

การดูแลรักษามังคุด

การพรางแสง ช่วงแรกปลูก ควรมีร่มเงา อาจใช้วัสดุธรรมชาติ ช่วยพรางแสง หรืออาจปลูกต้นไม้โตเร็วระหว่างแถวมังคุด เช่น กล้วย

การตัดแต่งและควบคุมทางพุ่ม

มังคุดต้นเล็ก ตัดแต่ง เฉพาะกิ่งด้านล่างให้สูงจากพื้นดินประมาณ 50 เซนติเมตร และกิ่งที่ซ้อนทับกันจนแน่นทึบออก

มังคุดที่ให้ผลผลิตแล้ว ตัดแต่งกิ่งที่อยู่ด้านข้างของ ทรงพุ่มที่ประสานกันออก ให้มีช่องว่างระหว่างชายพุ่ม โดยรอบกับต้นข้างเคียงประมาณ 50-70 เซนติเมตร ตัดยอดประธานที่สูงเกินต้องการออก ตัดกิ่งรองออกให้ เหลือด้านละ 1-5 กิ่ง ให้เลี้ยงกิ่งแขนงที่อยู่ในทรงพุ่ม ไว้เพื่อได้ผลผลิตเพิ่ม

โรคพืชในมังคุด

สถานการณ์โรคมังคุด โรคที่พบ ได้แก่ โรคใบจุด โรคผลเน่า นอกจากนี้ยังพบโรคที่เกิดจากราเข้าทำลายขั้วผล ทำให้ขั้วผลเน่า ซึ่งจะมีผลต่อโรคพืชหลังการเก็บเกี่ยว ส่วนอาการยางไหล อาการเนื้อแก้ว และอาการยางตกใน เป็นอาการที่เกิดจากสภาพแวดล้อม และสรีรวิทยาของพืช

เทคนิค ปลูกมังคุด ให้ได้คุณภาพส่งออกได้ราคาดี

ระยะเก็บเกี่ยวมังคุด

เก็บผลในระยะสายเลือด วัยที่ 1 โดยเลือกแรงงานที่มีความชำนาญในการเก็บเกี่ยว

วัยที่ 0 สีเขียวตองออน

สีเขียวตองอ่อนทั้งผล เป็นผลอ่อนเกินไป ห้ามเก็บเกี่ยวโดยเด็ดขาด เพราะคุณภาพด้อยมาก ไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับการบริโภค

วัยที่ 1 ผลมีสายเลือด เกิดจุด แต้ม หรือ ประสีม่วงแดง

เหมาะต่อการเก็บเกี่ยว แต่ยังไม่เหมาะต่อการบริโภค เพราะเนื้อยังติดเปลือก แต่เหมาะต่อการส่งไปจำหน่ายยังตลาดห่างไกล ผลมังคุดในวัยนี้ใช้บริโภคได้ภายใน 4 วัน หลังการเก็บเกี่ยว (ณ อุณหภูมิเขตร้อน)

วัยที่ 2 ผลมีการเปลี่ยนสี เป็นสีน้ำตาลแดงเรื่อๆ 

ผลมีสีน้ำตาลแดงเรื่อๆ เกือบทั้งผล ผลในระยะนี้จะต้องทำการเก็บเกี่ยวให้หมด ไม่ควรปล่อยให้ผลติดกับต้นเกินวัยมากกว่านี้

วัยที่ 3 ผลมีสีน้ำตาลแดง

ผลระยะนี้อาจจะใช้บริโภคได้ แต่เปลือกยังมียางสีเหลืองอยู่บ้าง

วัยที่ 4 ผลมีสีม่วงแดง

ระยะนี้ใช้บริโภคได้

วัยที่ 5 ผลมีสีม่วงเข้มหรือม่วงดำ

เป็นระยะที่เหมาะต่อการรับประทานให้อร่อยได้มากที่สุด ผลมังคุดวัยนี้จะมีสภาพที่เหมาะต่อการรับประทาน อยู่ได้ประมาณ 10 วัน ถ้ามีการเก็บรักษาไว้ ณ อุณหภูมิห้องอย่างถูกต้อง

เทคนิค ปลูกมังคุด ให้ได้คุณภาพส่งออกได้ราคาดี

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์