วิธียื่น เงินชดเชยขาดรายได้ หลังหายป่วยโควิด

24 เมษายน 2565

เงื่อนไขขอเบิกเงินขาดรายได้ ผู้ประกันตน ม.33-ม.39-ม.40 หลังหายป่วยโรคโควิด-19 เบิกได้เท่าไร เอกสารที่ต้องใช้มีอะไรบ้าง

วิธียื่น เงินชดเชยขาดรายได้ หลังหาย ป่วยโควิด-19 สำหรับ ผู้ประกันตน ม.33-ม.39-ม.40 ต้องใช้หลักฐานอะไรบ้าง 

เงินขาดรายได้ คืออะไร

เงินทดแทนการขาดรายได้ คือ เงินที่ลูกจ้างในระบบของประกันสังคมจะได้รับ หลังกรณีเจ็บป่วยและต้องรักษาตัวตามที่แพทย์สั่ง ทำให้ไม่มีรายได้

วิธียื่น เงินชดเชยขาดรายได้ หลังหายป่วยโควิด

เงื่อนไขขอเบิกเงินขาดรายได้

มาตรา 33

- กรณีลาป่วย 30 วันแรก จะได้รับค่าจ้างจากนายจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

- กรณีจำเป็นต้องหยุดพักรักษาตัวนานเกินกว่า 30 วัน สามารถเบิกสิทธิประโยชน์กรณีขาดรายได้จากสำนักงานประกันสังคม ตั้งแต่วันที่ 31 ของการลาป่วย จะได้รับเงินทดแทนร้อยละ 50 ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ตามใบรับรองแพทย์ ครั้งละไม่เกิน 90 วัน / ปีละไม่เกิน 180 วัน หากป่วยเรื้อรังได้รับไม่เกิน 365 วัน

มาตรา 39

- จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 คำนวณจากฐานค่าจ้างอยู่ที่จำนวน 4,800 บาท ตามใบรับรองแพทย์ ครั้งละไม่เกิน 90 วันปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นได้รับวินิจฉัยว่าเป็นโรคเรื้อรัง จะสามารถได้เงินทดแทน ไม่เกิน 365 วัน

- ต้องมีการส่งเงินสมทบ 3 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนวันเข้ารับการบริการทางการแพทย์

มาตรา 40 จะได้รับเงินทดแทนตามทางเลือก ดังนี้

1. เงินทดแทนการขาดรายได้วันละ 300 บาท กรณีรับการรักษาประเภทผู้ป่วยในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel ตั้งแต่ 1 วันขึ้นไปแต่ไม่เกิน 30 วัน/ปี (สำหรับทางเลือกที่ 1และ2) และไม่เกิน 90 วัน/ปี (สำหรับทางเลือกที่ 3)

2. เงินทดแทนการขาดรายได้วันละ 200 บาท กรณีแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวที่บ้าน ตั้งแต่ 3 วันขึ้นไปแต่ไม่เกิน 30 วัน/ปี (สำหรับทางเลือกที่ 1และ2) และไม่เกิน 90 วัน/ปี (สำหรับทางเลือกที่ 3)

3. เงินทดแทนการขาดรายได้ครั้งละ 50 บาท ไม่เกิน 3 ครั้ง/ปี กรณีไม่ได้เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยในหรือไม่ได้กักตัว มีใบรับรองแพทย์มาแสดงต่อสำนักงาน (เฉพาะทางเลือกที่ 1และ2 เท่านั้น สำหรับทางเลือกที่ 3 ไม่คุ้มครอง) ผู้ประกันตนมาตรา 40 การรักษาพยาบาลใช้สิทธิของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

วิธียื่น เงินชดเชยขาดรายได้ หลังหายป่วยโควิด

ผู้ป่วยโรคโควิด-19 สามารถยื่นขอรับเงินดังกล่าวได้ภายใน 2 ปี ผ่าน 2 ช่องทาง คือ

1. ที่ สำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานครเขตพื้นที่ 1-12 แห่ง/จังหวัด/สาขา ที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)

2. ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม กรอกข้อมูล พร้อมแนบสำเนาบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ จากนั้นส่งไปยังสำนักงานประกันสังคม และทางสำนักงานจะดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีของผู้ประกันตน

เอกสารที่ต้องใช้

1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01)

2. ใบรับรองแพทย์

3. หนังสือรับรองจากนายจ้าง

4. สำเนาบัตรประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้

5. สถิติวันลาของผู้ยื่นคำขอ

6. หลักฐานอื่น ๆ ที่ทางเจ้าหน้าที่ขอเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณา

7. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของธนาคารหน้าแรกที่มีชื่อ–เลขที่บัญชี (กรณีขอรับเงินทางธนาคาร) มี 9 ธนาคาร ดังนี้

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) KTB

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) BAY

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BBL

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) SCB

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) KBank

ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) TMB

ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) TBank

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย IBANK 

ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) CIMB เดิมคือธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ ผู้ทำประกันสังคมในทุกมาตรา สามารถเบิกสิทธิประโยชน์กรณีขาดรายได้ จาก สำนักงานประกันสังคม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม www.sso.go.th หรือโทรสายด่วน 1506 ให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

ขอบคุณที่มาจาก : กระทรวงแรงงาน , สำนักงานประกันสังคม