ก่อเจดีย์ทราย ภาคไหน เพื่ออะไร และมีความเป็นมาอย่างไร

11 เมษายน 2565

ประเพณีไทย ก่อเจดีย์ทราย ขนทรายเข้าวัด มีความเป็นมาอย่างไร มีความสำคัญหรือไม่ ก่อเจดีย์ทรายในวันที่เท่าไหร่

ก่อเจดีย์ทราย มีความสำคัญกับ วันสงกรานต์ อย่างไร วันนี้ Thainews Online จะพามาทำความรู้จัก ประเพณีไทย ก่อเจดีย์ทราย หรือ ขนทรายเข้าวัด มีประวัติความเป็นมาอย่างไร สำคัญกับชาวพุทธมากน้อยแค่ไหน 

ก่อเจดีย์ทราย ภาคไหน เพื่ออะไร และมีความเป็นมาอย่างไร

ประเพณีก่อเจดีย์ทรายเนื่องในวันสงกรานต์

ความเป็นมา ประเพณีการก่อเจดีย์ทราย ใน เทศกาลสงกรานต์ นั้น เป็นสิ่งที่ชาวไทยพุทธปฏิบัติสืบเนื่องกันมาเป็นเวลาช้านานตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยการ ก่อพระเจดีย์ทราย ถือเป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนาโดยตรง

ด้วยเหตุที่ว่าเมื่อเรา เข้าวัดทำบุญ หรือ ประกอบกิจกรรมต่างๆ ภายในวัด เมื่อเดินออกมาจากวัด เศษดินเศษหินต่างๆ จะติดรองเท้าเราออกมาด้วย ซึ่งตามความเชื่อของชาวพุทธจะถือว่าสิ่งก่อสร้างทุกอย่างภายในวัดไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ ศาลาการเปรียญ อาคารต่างๆ แม้กระทั่ง ก้อนหิน ดิน ทราย ต้นไม้ ทุกอย่างญาติโยมได้ถวายไว้เป็นสมบัติของพระศาสนาแล้ว

ดังนั้น เมื่อเราเอาสิ่งใดออกไปจากวัดโดยพละการคือไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าอาวาส แล้วถือเป็นการละเมิดศีลข้อที่ 2 (ห้ามลักทรัพย์)ทั้งสิ้น

คนโบราณจึงหาวิธีการแก้ปัญหานี้ด้วยการให้มีประเพณีการขนทรายเข้าวัดเพื่อเป็นการใช้หนี้คืนสงฆ์ และก่อพระเจดีย์ทรายเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในการก่อพระเจดีย์ทรายจะถูกประดับตกแต่งด้วยดอกไม้และธงสีต่างๆ เพื่อความสวยงามตามแต่ละคนจะสร้างสรรค์

ก่อเจดีย์ทราย สงกรานต์ จะมีการประกวดเจดีย์ทราย ให้ชุมชนได้ร่วมกันขนทรายเข้าวัดเพื่อได้ร่วมกันทำบุญและร่วมใจกันก่อเจดีย์ทรายด้วยความรัก ความอบอุ่นของครอบครัว รวมทั้งสร้างความสามัคคีกันในชุมชน

ก่อเจดีย์ทราย ภาคไหน เพื่ออะไร และมีความเป็นมาอย่างไร

ประเพณีก่อเจดีย์ทราย

เป็นคติความเชื่อเรื่องของเวรกรรมในพระพุทธศาสนา การก่อเจดีย์ทรายเพื่อนำเศษดินทรายที่ติดเท้าเราออกจากวัด คืนวัดใน รูปเจดีย์ทราย เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาให้เป็นกุศลอานิสงส์แก่ตนเองและครอบครัว คือจะได้อานิสงส์มาก คือจะไม่ตกนรกหลายร้อยชาติ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเพียบพร้อมด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ มีบริวารและเกียรติยศชื่อเสียง หากตายไปจะได้ขึ้นสวรรค์ พรั่งพร้อมด้วยสมบัติและมีนางฟ้าเป็นบริวาร จึงทำให้คนโบราณนิยมก่อเจดีย์ทรายเป็นประเพณีมาจนถึงทุกวันนี้คะ

ก่อเจดีย์ทรายวันไหน

การจัดงานเป็นประจำทุกปี เริ่ม วันที่ 13 เดือนเมษายน ถึง วันที่ 15 เดือนเมษายน

อานิสงส์ของการก่อเจดีย์ทราย

ในกาลสมัยของโลกที่ว่างจากพระพุทธเจ้าพระวสภะเถระได้เกิดในตระกูลพราหมณ์เมื่อเจริญวัยขึ้นเป็นผู้มีอัธยาศัยไปในเนกขัมมะ ละการครองเรือนออกบวชเป็นดาบสแล้วไปสร้างอาศรมอยู่บนภูเขาชื่อว่าสมัคคะไม่ไกลป่าหิมพานต์

วันหนึ่งคิดว่าตนเป็นผู้หาคนบูชาไม่ได้ เป็นผู้มีความทุกข์ในโลกคิดได้อย่างนี้แล้วก็เนรมิตพระสถูปทราย กระทำการบูชาทุกวันตลอดอายุตายแล้วไปเกิดในพรหมโลก ต่อมาจุติจากพรหมโลกไปบังเกิดในดาวดึงส์ ท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายภพสุดท้ายได้ไปเกิดในตระกูลลิจฉวี กรุงเวสาลีในพุทธุปบาทกาลนี้ นามว่า วสภะเป็นผู้มีจิตศรัทธาบวชแล้ว ไม่นานนักก็ได้บรรลุอรหัตผล

นอกจากนี้ยังเป็นกุศโลบายของคนโบราณที่จะปลูกฝังความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมและความสามัคคีให้แก่ลูกหลานรุ่นต่อๆไป คือ

1. เป็นการสอนไม่ให้ทำผิดศีลข้อ 2 (ลักทรัพย์)  เพราะการที่เศษดิน เศษทรายจากวัดติดรองเท้าเราออกไปทั้งๆที่เราอาจไม่มีเจตนาแต่ก็ถือว่าเป็นการทำให้ศีลข้อที่ 2 ของเราด่างพร้อยไปด้วย

2. สอนไม่ให้เป็นคนดูเบาว่าผิดศีลเพียงเล็กน้อยคงไม่เป็นไร เพราะเมื่อเราทำผิดบ่อยๆ เข้ามันจะกลายเป็นความเคยชินเมื่อทำมากขึ้นเรื่อยๆ จะเริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่ทำเป็นเรื่องธรรมดา  การเกรงกลัวต่อบาปกรรมจะลดน้อยถอยลง

3. เป็นการสอนให้เห็นคุณค่าของบุญ คือสิ่งของทุกอย่างภายในวัดได้มาจากญาติโยมถวายด้วยความศรัทธา เมื่อถวายให้แก่วัดแล้วจึงถือว่าเป็นสมบัติของพระศาสนา  เมื่อไหร่ที่วัดนำสิ่งของนั้นมาจัดกิจกรรมงานบุญผู้ถวายก็ย่อมะได้อานิสงส์ผลบุญนั้นอย่างต่อเนื่อง

4. เป็นการสร้างความคุ้นเคย และสามัคคีให้เกิดแก่หมู่ญาติพี่น้องคนในชุมชน  และพระภิกษุสงฆ์ ด้วยการทำกิจกรรมร่วมกัน

5. ทำให้ใจผูกพันอยู่กับพระพุทธเจ้าด้วยการก่อพระเจดีย์ทรายน้อมถวายเป็นพุทธบูชา

ก่อเจดีย์ทราย ภาคไหน เพื่ออะไร และมีความเป็นมาอย่างไร

ขอบคุณ : กระทรวงวัฒนธรรม