คุณแม่เตือนภัย โรค Ear pit รูเล็กๆ ข้างหู หลังเกิดขึ้นกับลูกวัย 1 ขวบ

29 ตุลาคม 2564

คุณแม่ท่านหนึ่งได้แชร์ประสบการณ์โรค Ear pit หรือ รูเล็ก ๆ ข้างหู เป็นลักษณะหนึ่งของความผิดปกติแต่กำเนิด ซึ่งจะพบรูขนาดเล็กอยู่ที่หน้าใบหูของเด็ก พร้อมทั้งเผยอาการและวิธีการรักษาที่ถูกต้อง

เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่หลายคนให้ความสนใจ เมื่อคุณแม่ท่านหนึ่งได้แชร์ประสบการณ์โรค Ear pit หรือ รูเล็ก ๆ ข้างหู เป็นลักษณะหนึ่งของความผิดปกติแต่กำเนิด ซึ่งจะพบรูขนาดเล็กอยู่ที่หน้าใบหูของเด็ก พร้อมทั้งเผยอาการและวิธีการรักษาที่ถูกต้อง

 

โดยเจ้าของโพสต์เผยว่า Ear pit หรือ รูเล็ก ๆ ข้างหู เป็นลักษณะหนึ่งของความผิดปกติแต่กำเนิด ซึ่งจะพบรูขนาดเล็กอยู่ที่หน้าใบหูของเด็ก โดยทั่วไปไม่ก่อให้เกิดอันตราย หากไม่มีอาการใด ๆ จึงไม่จำเป็นต้องมีการรักษา แต่สำหรับบางคนอาจเกิดการติดเชื้อ บวมแดง มีน้ำเหม็น ๆ ไหลออกมา หรือมีการอักเสบขึ้นได้ และหากเป็นเช่นนั้นควรพบแพทย์โดยด่วนค่ะ

 

คุณแม่เตือนภัย โรค Ear pit รูเล็กๆ ข้างหู หลังเกิดขึ้นกับลูกวัย 1 ขวบ

 

เริ่มต้นจากการที่ลูกมีรูข้างหูมาแต่กำเนิดทั้ง 2 ข้าง ซึ่งหมอได้แจ้งแล้วว่าเป็นกระบวนการสร้างรูหูที่ไม่สมบูรณ์ในขณะตั้งครรภ์ โดยจะไม่มีอันตรายหากมีการรักษาความสะอาดที่ดี ซึ่งเราเองก็ไม่ได้พบปัญหาในตัวเด็กแต่อย่างใด จนกระทั่งเราส่งน้องไปเรียนว่ายน้ำตั้งแต่อายุ 6-7 เดือน จะเห็นได้ทั่วไปที่เริ่มมีการสอนเด็กตั้งแต่ 6 เดือน ว่ายน้ำและเริ่มดำน้ำในวัยนี้ เรามองว่า รร. สอนว่ายน้ำสำหรับเด็กเอง ก็มีครูสอนผู้ชำนาญ และตัวน้องเองก็ชอบเล่นน้ำ ไม่ได้กลัวน้ำ จึงลงเรียนมาได้สักพักจนถึงประมาณ 1 ขวบ

 

จนพบว่าน้องมีอาการบวมแดงบริเวณรูเล็ก ๆ ข้างหู หลังการว่ายน้ำ ซึ่งเริ่มมีการดำน้ำได้บ้างแล้วประมาณ 3 วินาที ซึ่งเราเดาว่าน่าจะเกิดจากการดำน้ำ จนมีแรงดันน้ำเข้าไปในรูเล็กๆ และน้ำน่าจะขังในรูจนเกิดอาการอักเสบบวมแดงขึ้น หลังเกิดอาการเราได้พาไป รพ. ทันที ซึ่งแพทย์ได้แจ้งว่าเกิดอาการอักเสบภายในรูด้านใน ถ้าอาการบวมไม่ยุบลง หรือหัวหนองไม่โผล่ขึ้นมา จะกลายเป็นฝีทันที และต้องทำการผ่าฝีออก จนระยะเวลาผ่านมา 3-4 วัน กินยาตามที่แพทย์สั่งแล้ว อาการบวมไม่ลดลง และหัวหนองไม่เปิด และน้องเริ่มมีอาการปวดที่บริเวณแผล จึงได้ไปพบแพทย์ที่ รพ. เดิม แต่แพทย์ไม่สามารถผ่าได้เนื่องจากเป็นเด็กเล็ก ซึ่งแพทย์ได้แนะนำให้ไป รพ. เฉพาะทางสำหรับเด็ก

เราเองได้โทร. ไปสอบถาม รพ. เด็กเฉพาะทาง รวมถึง รร. แพทย์หลาย ๆ ที่ต้องมีการรับคิวตรวจของเช้าวันถัดไปเช่นกัน สอบถาม รพ. เอกชนหลายที่ ค่าผ่าค่อนข้างสูงมาก และต้องมีการนัดแพทย์ล่วงหน้า รวมถึงอาจต้องดมยาสลบ สุดท้ายเราจึงเลือกไป รพ.รามาธิบดี แบบพรีเมียม แต่เนื่องด้วยเราไม่เคยไป สอบถามพนักงานจนเดินเข้าไปผิดแผนก ไปส่วนของ รพ.รามาธิบดี ปกติได้รับคิวช่วงบ่าย

 

คุณแม่เตือนภัย โรค Ear pit รูเล็กๆ ข้างหู หลังเกิดขึ้นกับลูกวัย 1 ขวบ

 

ด้วยความโชคดีและด้วยความน่าสงสาร น่าเอ็นดูของน้อง พยาบาลหน้าเคาน์เตอร์อุ้มไปหาแพทย์ทันที เพราะอาการของน้องคือบวมมาก ฝีต้องได้รับการผ่าทันที แพทย์จึงเรียกให้ต่อคิวพบแพทย์ได้เลย จากการตรวจของแพทย์ ได้ตัดสินใจทำการผ่าทันทีเลย เพราะการเข้าใจผิด ไปในส่วนรามาธิบดี ปกติทำให้หมดค่าใช้จ่ายแค่หลักพัน  เพราะไม่ได้เปิดห้องผ่าตัด

หลังการผ่าทำการรักษาปกติ หากใครเคยเป็นฝีจะทราบ ต้องคว้านทำความสะอาดแผลต่อเนื่องเพื่อป้องกันการเกิดหนอง เด็ก 1 ขวบกับการคว้านล้างแผลโดยยัดผ้าก๊อซ เช้า-เย็น หลัง ๆ ขอหมอทำแค่ 1 ครั้งต่อวันเพราะแม่แทบใจสลาย ตอนนัดพบแพทย์ รพ.รามาธิบดี ตอนแผลหายดี แพทย์เองอยากให้น้องทำการผ่า Ear pit ออก เนื่องจากด้านในเป็นโพรงใหญ่ และเคยเป็นฝีแล้ว อาจเกิดอาการขึ้นได้อีก

 

คุณแม่เตือนภัย โรค Ear pit รูเล็กๆ ข้างหู หลังเกิดขึ้นกับลูกวัย 1 ขวบ

 

เราและสามีคิดทบทวนนานมาก และได้สอบถามคนใกล้ชิดที่เป็นแพทย์ ได้คำแนะนำว่า อยากให้น้องโตขึ้นมาอีกหน่อย เพราะการผ่าอาจต้องวางยาสลบ การวางยาสลบในเด็กเล็กอาจส่งผลให้เด็กฝันร้ายไปจนโต ซึ่งเราเคยได้ยินเรื่องนี้เหมือนกัน รวมไปถึงการผ่า Ear pit ในเด็กเล็ก ตำแหน่งที่ผ่า และด้วยความที่เป็นเด็กเล็ก พื้นที่การผ่ามีน้อย เกรงอาจไปโดนเส้นประสาทที่อาจทำให้ปากเบี้ยว จึงแนะนำให้ผ่าตอนเด็กโตขึ้นมาแล้ว

บางคนก็บอกว่าผ่าตอนเด็กแต่เนิ่นๆ จะดีกว่า เพราะความทรงจำ ความเจ็บปวดจะไม่ติดไปจนเป็นผู้ใหญ่ เรื่องทั้งหมดที่มาแชร์ เพราะตอนลูกเริ่มมีอาการอักเสบหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตไม่ได้เลย เนื่องจากเป็นเด็กเล็กด้วย จึงอยากให้พ่อ แม่ที่ตั้งใจจะส่งลูกเล็กที่เป็น Ear pit เรียนว่ายน้ำว่าอาจมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ให้ระมัดระวังในเด็กเป็นพิเศษ เพราะตอนลูกต้องล้างแผล โดนคว้านยัดผ้าก๊อซทุกวัน สงสารลูกมาก

 

คุณแม่เตือนภัย โรค Ear pit รูเล็กๆ ข้างหู หลังเกิดขึ้นกับลูกวัย 1 ขวบ

 

ซึ่งตอนแพทย์เห็นที่ รพ.รามาธิบดี เอง แพทย์ก็ตกใจมากที่ให้น้องเรียนว่ายน้ำตั้งแต่ 6-7 เดือน แต่ส่วนตัวเรามองว่ามันเป็นอุบัติเหตุเพราะน้องเองก็ชอบ และทำให้น้องแข็งแรง รวมไปถึงพัฒนาการในหลาย ๆ ด้านเร็วกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มเดิน หรือการพบเพื่อน ๆ และถึงแม้จะไม่ได้ว่ายน้ำ แต่เป็น Ear pit ก็มีโอกาสเป็นฝีได้เช่นกันหากไม่รักษาความสะอาด

และในปัจจุบันเอง เราก็ยังคงให้น้องว่ายน้ำต่อนะคะ เรา Drop เรียนว่ายน้ำช่วงรักษาแผลจนหายสนิท แล้วกลับไปเรียนใหม่โดยหาวิธีป้องกันโดยเฉพาะตอนดำน้ำ ซึ่งเราได้นำพลาสเตอร์ปิดแผลชนิดกันน้ำมาตัดเป็นวงกลมเล็กเพื่อปิดแผล และปิดด้วยเทปกาวชนิดพิเศษทับอีกทีอีกชั้น สำหรับป้องกันแรงดันน้ำตอนดำน้ำ

 

คุณแม่เตือนภัย โรค Ear pit รูเล็กๆ ข้างหู หลังเกิดขึ้นกับลูกวัย 1 ขวบ

 

จากหลังผ่าจนถึงปัจจุบันน้องเรียนไปแล้วมากกว่า 20 ครั้ง ก็ไม่พบปัญหาแต่อย่างใด แต่เราก็ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะพาน้องไปผ่าตอนช่วงอายุเท่าไหร่ หากใครเป็นแพทย์ หรือมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ที่เป็น Ear pit สามารถแนะนำได้นะคะ เรายินดีรับฟังทุกความคิดเห็นค่ะ และสุดท้ายต้องขอขอบคุณ พยาบาลหน้าเคาน์เตอร์ ที่อุ้มไปให้แพทย์ดูอาการทันที และคุณหมอ รพ.รามาธิบดี ที่ช่วยเหลือตัดสินใจผ่าน้องทันที ในวันนั้น ต้องขอขอบคุณจริง ๆ ค่ะ