ตำนาน วันสงกรานต์ เรื่องเล่าสู่ ประเพณีสงกรานต์

28 มีนาคม 2567

มาย้อนดูจุดกำเนิดวันสงกรานต์ จากตำนานสู่ประเพณี สงกรานต์ ในประเทศไทย จนได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรม วันนี้รายการปาฏิหาริย์ ช่วงเจนจิราหามาเล่า จะพาทุกคนไปย้อนฟังเรื่องราวความเป็นมากันคะ

ในอดีต ถือ "วันสงกรานต์" เป็น "วันขึ้นปีใหม่ไทย" ตรงกับช่วงหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหาร คนสมัยโบราณจึงคิดทำกิจกรรมเพื่อเป็นการพักผ่อนหลังจากทำงาน และเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้พบกัน และเล่นสาดน้ำกัน เพื่อคลายความร้อนในเดือน เมษายน

ตำนานนางสงกรานต์ ทั้ง 7 นาง เป็นคติความเชื่อที่ปรากฏอยู่ใน "ตำนานสงกรานต์" ซึ่งเป็นโบราณอุบายให้คนสมัยก่อนได้รู้ว่า "วันมหาสงกรานต์" อันเป็นวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนสู่ราศีเมษ ที่สมัยก่อนถือเป็นวันปีใหม่นั้น ตรงกับวันเวลาใด โดยสมมุติผ่านนางสงกรานต์ทั้ง 7 เทียบกับแต่ละวันในสัปดาห์ เพื่อให้จดจำได้ง่าย

ตำนาน วันสงกรานต์ เรื่องเล่าสู่ ประเพณีสงกรานต์

แม้ นางสงกรานต์ บางนางจะมีชื่อเป็นยักษ์เป็นมาร แต่ภาพวาดแต่ละนางก็มักมีรูปร่างอรชรอ้อนแอ้น และหน้าตาสวยงามตามลักษณะนางฟ้าไม่ได้วาดรูปเป็นนางยักษ์อย่างชื่อ นอกจากนี้สัตว์พาหนะ คือ ครุฑ พยัคฆ์ วราหะ คัสพะ กุญชร มหิงสะ และนกยูง ท่านก็ตั้งข้อสงสัยว่าล้วนเรียกเป็นคำศัพท์เกือบทั้งหมด ซึ่งน่าจะให้ฟังดูขลัง อย่าง หมูหรือสุกร ก็เรียกเป็น วราหะ ลา ก็เรียกว่า คัสพะ แต่ก็แปลกที่ไม่เรียก นกยูงว่า มยูร และสัตว์ทั้งหมดยกเว้น ครุฑ แล้ว ต่างก็เป็นสัตว์ธรรมดาในเมืองมนุษย์ทั้งสิ้น

 

และการทรงพาหนะมาของนางสงกรานต์นั้น ในแต่ละปีไม่ได้ขี่มาอย่างธรรมดาเสมอไป บางปีก็ยืนมา บางปีก็นอนลืมตาบ้าง หลับตาบ้าง ซึ่งอาการเหล่านี้ ท่านว่าเป็นความฉลาดของคนโบราณที่จะทำให้คนไม่รู้หนังสือมองรูปปราดเดียวก็รู้ได้ทันทีว่า วันมหาสงกรานต์หรือช่วงที่พระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษอันเป็นวันปีใหม่ เริ่มเวลาใดโดยดูจากท่าของนางสงกรานต์นั่นเองคะ

 

ตำนาน วันสงกรานต์ เรื่องเล่าสู่ ประเพณีสงกรานต์

 

สำหรับใน ปี 2567 นี้ ฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ได้มีประกาศสงกรานต์ไว้ ดังนี้

- ปีมะโรง (เทวดาผู้ชาย ธาตุทอง) ฉอศก จุลศักราช 1386 ทางจันทรคติ เป็น ปกติ มาสวาร ทางสุริยคติ เป็น อธิกสุรทิน
- วันที่ 13 เม.ย. เป็น วันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติตรงกับวันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 เวลา 22.24 น.
- นางสงกรานต์ ทรงนามว่า มโหธรเทวี
- วันที่ 16 เม.ย. เวลา 02.15 น. เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น 1386
- ปีนี้ วันอังคาร เป็น ธงชัย, วันพฤหัสบดี เป็น อธิบดี, วันจันทร์ เป็น อุบาทว์, วันเสาร์ เป็น โลกาวินาศ
- ปีนี้ วันอังคาร เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 300 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 30 ห่า ตกในมหาสมุทร 60 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 90 ห่า ตกในเขาจักรวาล 120 ห่า นาคให้น้ำ 7 ตัว
- เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 5 ชื่อ วิบัติ ข้าวกล้าในภูมินาจะเกิดกิมิชาติ จะได้ผลกึ่ง เสียกึ่ง
- เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีวาโย (ลม) น้ำน้อย

 

ตามตำนานมมี ความเชื่อ ว่าหากในปีใด นางสงกรานต์นอนลืมตา ประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข และหากปีใดนางสงกรานต์ยืนมาจะเกิดความเดือดร้อนเจ็บไข้ หาก นางสงกรานต์นั่งมา จะเกิดความเจ็บไข้ ผู้คนล้มตายและเกิดเหตุเภทภัยต่าง ๆ

และในปี 2567 นางสงกรานต์ นามว่า "นางมโหธรเทวี" ทัดดอกสามหาว ทรงพาหุรัด อาภรณ์ด้วยแก้วนิลรัตน์ ภักษาหารคือเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา

 

คำทำนายนางสงกรานต์ ตำนาน วันสงกรานต์ เรื่องเล่าสู่ ประเพณีสงกรานต์

 

ประวัติวันสงกรานต์ ตามความเชื่อของคนไทย ส่วนใหญ่จะอ้างอิงตามจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทำให้เกิดตำนานนางสงกรานต์ทั้ง 7 เมื่อวันสงกรานต์ตรงกับวันใดในแต่ละปี ก็จะมีนางสงกรานต์ประจำวันนั้น ๆ นั่นเองคะ

1. นางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์ คือ "นางสงกรานต์ทุงษะเทวี" ทรงพาหุรัด ทัดดอกทับทิม ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วปัทมราช (แก้วทับทิม) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคืออุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ

2. นางสงกรานต์ประจำวันจันทร์ คือ "นางสงกรานต์โคราคะเทวี" ทรงพาหุรัด ทัดดอกปีบ ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วมุกดาเป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ)

3. นางสงกรานต์ประจำวันอังคาร คือ "นางสงกรานต์รากษสเทวี" ทรงพาหุรัด ทัดดอกบัวหลวง ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วโมรา ภักษาหารคือโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังวราหะ (สุกร)

4. นางสงกรานต์ประจำวันพุธ คือ "นางสงกรานต์มณฑาเทวี" ทรงพาหุรัด ทัดดอกจำปา ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วไพฑูรย์ ภักษาหารคือนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเข็ม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา)

5. นางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี คือ "นางสงกรานต์กิริณีเทวี" ทรงพาหุรัด ทัดดอกมณฑา (ยี่หุบ) ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วมรกต ภักษาหารคือถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังคชสาร (ช้าง)

6. นางสงกรานต์ประจำวันศุกร์ คือ "นางสงกรานต์กิมิทาเทวี" ทรงพาหุรัด ทัดดอกจงกลนี ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วบุษราคัม ภักษาหารคือกล้วยและน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (กระบือ)

7. นางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ คือ "นางสงกรานต์มโหธรเทวี" ทรงพาหุรัด ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วนิลรัตน์ ภักษาหารคือเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง)

ประวัตินางสงกรานต์ ตำนาน วันสงกรานต์ เรื่องเล่าสู่ ประเพณีสงกรานต์