บุญข้าวประดับดิน กับ ความเชื่อทำบุญเดือนเก้า ให้ผู้ล่วงลับ

ประเพณีไทยภาคอีสาน มีวันไหว้และทำบุญให้ผู้ล่วงลับ ในเดือน 9 กันยายน เรียกว่า บุญข้าวประดับดิน เป็นประเพณีที่สืบทอดมาแต่โบราณ
บุญเดือน 9 หลายคนสงสัยว่า บุญข้าวประดับดิน กับ บุญข้าวสาก เหมือนกันหรือไม่ เราจะอธิบายให้ฟังในท้ายบทความ แต่วันนี้ วันพระ วันที่ 14 กันยายน 2566 ตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 เป็นวันสำคัญทางภาคอีสาน บุญข้าวประดับดิน กับ ความเชื่อทำบุญเดือนเก้า ให้ผู้ล่วงลับ มีความเป็นมาอย่างไร
ประวัติบุญข้าวประดับดิน
บุญข้าวประดับดิน ในปี 2566 ตรงกับ วันพฤหัสบดี ที่ 14 กันยายน 2566 บุญเดือนเก้า ประเพณีภาคอีสาน ที่จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และสัตว์นรกหรือเปรต ประเพณีบุญข้าวประดับดิน บุญเดือนเก้า เป็นอีกหนึ่งประเพณีที่สืบทอดกันมาในภาคอีสาน โดยบุญข้าวประดับดิน เป็นงานประเพณีที่ถูกจัดขึ้นในวันแรม 14 ค่ำ เดือนเก้า ของทุก ๆ ปี
ทั้งนี้ในการทำ บุญข้าวประดับดิน นั้น ชาวบ้านจะนำข้าวปลา อาหาร คาวหวาน ผลไม้ หมาก พลู บุหรี่ มาห่อด้วยใบตอง และทำเป็นห่อเล็ก ๆ ก่อนจะนำไปวางตามโคนต้นไม้ใหญ่หรือตามพื้นดินบริเวณรอบ ๆ เจดีย์ หรือโบสถ์ โดยการทำบุญข้าวประดับดินนี้ ชาวบ้านเชื่อว่า เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว รวมถึงอุทิศส่วนกุศลให้กับสัตว์นรก หรือเปรต นอกจากนี้ บุญข้าวประดับดิน ยังถือว่าเป็นการให้ทานแก่ผู้ยากไร้รวมทั้งสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ ที่ต้องหิว อดมื้อกินมื้อมาตลอดทั้งปีอีกด้วย เพราะการที่ตั้งอาหารไว้ที่พื้นทำให้สัตว์เหล่านั้นสามารถเข้ามากินอาหารได้อย่างเต็มที่
ความเป็นมาบุญข้าวประดับดิน
การทำบุญข้าวประดับดินนี้ เกิดจาก ความเชื่อ ตามนิทานธรรมบทว่า ญาติของพระเจ้าพิมพิสาร ได้ยักยอกเงินวัดไปเป็นของตนเอง ครั้นตายไปแล้วได้ไปเกิดเป็นเปรตในนรก และเมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายทานแด่พระพุทธเจ้าแล้วมิได้อุทิศให้ญาติที่ตาย กลางคืนพวกญาติที่ตายมาแสดงตัวเปล่งเสียงน่ากลัวให้ปรากฏใกล้พระราชนิเวศน์ รุ่งเช้าได้เสด็จไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทูลเหตุให้ทราบ พระเจ้าพิมพิสารจึงถวายทานอีก แล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้ ญาติที่ตายไปจึงได้รับส่วนกุศล ดังนั้น การทำบุญข้าวประดับดิน คือการทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ญาติผู้ตายแล้ว ถือเป็นประเพณีที่ต้องทำเป็นประจำทุกปี
บุญข้าวประดับดิน มีขั้นตอนและพิธีกรรมอย่างไร
- จัดขึ้นในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9
- เตรียมอาหารคาว-หวาน-หมาก-พลู ให้พร้อม
- ใบตองใช้เย็บเป็นกระทง
- นําข้าวปลาอาหารคาว-หวาน หมาก-พลู บุหรี่อย่างละเล็กละน้อย ห่อด้วยใบตองเป็น 2 ห่อกลัดติดกันเตรียมไว้ตั้งแต่หัวค่ำ หรือบางบ้านจะใส่ใบตองที่เย็บเป็นกระทงก็ได้
- ประมาณ 04.00-06.00 น. ชาวบ้านจะนำอาหารที่ห่อหรือใส่กระทงไว้ไปถวายหรือแขวนในบริเวณวัด บริเวณโบสถ์ ต้นโพธิ์ ศาลา ตามกิ่งไม้หรือต้นไม้ใหญ่ ๆ ในบริเวณวัด หรือเรียกว่า การยายห่อข้าวน้อย
- จุดเทียนและบอกกล่าวแก่เปรตหรือญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว ให้มารับเอาอาหารและผลบุญในครั้งนี้
- เตรียมหุงหาอาหารตอนรุ่งเช้าของวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 เพื่อนําไปทําบุญตักบาตรเลี้ยงพระ จากนั้นพระสงฆ์จะแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับอานิสงส์ของบุญข้าวประดับดินและให้พร พร้อมกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญกุศลไปให้ญาติผู้ล่วงลับด้วย
บุญข้าวประดับดิน และ บุญข้าวสากต่างกันอย่างไร
แม้ว่าจะเป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเหมือนกัน แต่แตกต่างกันที่ บุญข้าวประดับดิน นิยมทำกันในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 เป็นการทำบุญให้ทานแบบไม่เฉพาะเจาะจง เน้นไปที่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว สัมภเวสี และเปรต แต่สำหรับ บุญข้าวสาก จะนิยมทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 และมีการระบุชื่อผู้ที่ต้องการให้ได้รับผลบุญอย่างชัดเจน
บุญข้าวประดับดิน นับเป็นประเพณีที่สืบทอดมาแต่โบราณ เรียบง่ายตามวิถีของชาวไทยอีสาน และส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวของสมาชิกในหมู่บ้านเพื่อมาทำบุญทำทานร่วมกันด้วย
ขอขอบคุณ : สำนักประชาสัมพันธ์เขต 2 อุบลราชธานี

"ดาวเกตุย้าย" 6 ราศี ดวงเปลี่ยนปาฏิหาริย์ โชคลาภ การเงินมาเต็ม

ริว จิตสัมผัส สื่อสาร แตงโม นิดา ร้องให้ช่วยแล้ว แต่ไม่มีใครช่วย

อภัยให้ไม่ได้ "ไอ้แบงค์" รับสารภาพสิ้น สาเหตุปลิดชีพพยาบาลสาว

ใบบัวบกไม่ได้แค่แก้ช้ำใน คุณประโยชน์จึ้ง กว่าที่คิด!
