ใบแดง ใบดำ ใบเหลือง ใบส้ม บทลงโทษ เลือกตั้งใหม่ ไปจนตัดสิทธิเลือกตั้งตลอดชีพ แตกต่างกันอย่างไร
ถ้าหากมีการตรวจสอบพบว่า ผู้สมัคร ส.ส.คนใด กระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง มีสิทธิที่ได้รับ ใบเหลือง, ใบส้ม, ใบแดง, ใบดำ โดยความหมายของแต่ละใบ และแต่ละสี จะมีบทลงโทษแตกต่างออกไป ซึ่งมีความหมายดังนี้
ใบแดง (ถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี)
กรณีประกาศผลเลือกตั้งแล้ว ได้เป็นส.ส.ไปแล้ว ถ้ามีหลักฐานเชื่อได้ว่า มีการกระทำอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง กกต.ต้องยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือถอนสิทธิเลือกตั้ง หากศาลตัดสินผิดผู้สมัครหรือส.ส.คนนั้น ก็จะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี ลงสมัครส.ส.ไม่ได้ เป็นรัฐมนตรีก็ไม่ได้
กรณีผู้ใดโดนใบแดง นอกจากจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัคร หรือสิทธิรับเลือกตั้งแล้ว สิ่งที่ดูจะรุนแรงขั้นสูงสุด คือถ้ามีการจัดเลือกตั้งใหม่ ผู้ได้ใบแดงนั้นต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ตามหลักฐานการใช้จ่ายที่กกต.เสนอต่อศาล
ใบเหลือง (เลือกตั้งใหม่เฉพาะเขต)
เกิดขึ้นเมื่อ กกต.มีหลักฐานอันควร เชื่อได้ว่าการเลือกตั้งใดไม่สุจริต เที่ยงธรรม หรือการนับคะแนนเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง ถ้ากกต.มีการสั่งให้เลือกตั้งใหม่ และให้ผู้สมัครยังเป็นคนเดิม ลักษณะอย่างนี้เรียกว่าผู้สมัครโดนใบเหลือง คือเขตเลือกตั้งนั้นไม่สุจริต แต่หาคนผิดยังไม่ได้
ใบส้ม (ถอนสิทธิเลือกตั้ง 1 ปี)
จะเกิดขึ้นในกรณี กกต.มีหลักฐานอันควรเพิ่มเติม เรียกได้ว่าผู้สมัครหรือผู้ใดก็ตาม กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งเชื่อมโยงมาถึงผู้สมัคร ถ้ากกต.สั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครส.ส.คนนั้น อย่างนี้เรียกว่าโดนใบส้ม ผู้สมัครส.ส.คนดังกล่าวจะถูกตัดออกจากการแข่งขัน
กรณีโดนใบส้ม มีหลายขยัก ถ้า กกต. แจกใบส้ม หลังวันที่สมัคร แต่ยังไม่ถึงวันเลือกตั้ง คือผู้สมัครนั้นได้เบอร์ไปแล้ว ถ้าเป็นอย่างนี้ในวันเลือกตั้ง ใครไปกาบัตรเบอร์นี้ ก็ถือว่าเป็นบัตรเสีย
แต่ถ้าผู้สมัครโดนใบส้มหลังวันลงคะแนนเลือกตั้ง คือ กกต. แจกใบส้มหลังวันเลือกตั้ง ถ้าไม่ชนะเลือกตั้ง คะแนนที่ได้ไม่ให้นำไปคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ แต่ถ้าบังเอิญผู้สมัครที่โดนใบส้มชนะเลือกตั้งในเขตนั้น ถ้าเกิดกรณีนี้ให้ กกต. สั่งยกเลิกการเลือกตั้ง และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตนั้น
ใบดำ (ถอนสิทธิเลือกตั้งไม่มีกำหนด)
เป็นการกำหนดให้มีโทษการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง โดยไม่ได้มีกำหนดระยะเวลารับโทษว่าจะนานกี่ปี เพิ่มเติมเข้ามานอกเหนือจากโทษของการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ที่จะมีการกำหนดไว้ชัดเจนว่า 5 หรือ 10 ปี จึงเทียบเท่าว่า หากผู้สมัคร หรือ ส.ส.คนใด ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งแล้วนั้น ก็จะถือว่าเป็นผู้ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีพ ซึ่งการถูกเพิกถอนสิทธิ สมัครรับเลือกตั้ง เป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ ทางการเมือง และกรรมการองค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. ด้วย
สามารถ Add Friends (เพิ่มเพื่อน) เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2566 ได้ที่ LINE Official Account : ECT Thailand https://lin.ee/jETxaeu