สป.อว. จับมือ เอ็มเท็ค สวทช. และ สจล. วิจัยนวัตกรรมเพื่อชาติ 6 โครงการ

28 พฤษภาคม 2565

สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. ให้การสนับสนุนและบริหารจัดการ “โครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า” แก่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เพื่อส่งเสริมกระบวนการพัฒนาและสร้างเทคโนโลยีภายในประเทศให้ทัดเทียมกับนานาชาติ ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ และเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย จากผลงานนวัตกรรมที่เป็นผลงานฝีมือคนไทย

วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 - รศ.ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ รักษาการแทนอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.), นายธนาภรณ์ โกราษฎร์ หัวหน้าโครงการบริหารจัดการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า วิศวกรอาวุโส สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (MTEC สวทช.) และ นางวนิดา บุญนาคค้า ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.สป.อว.) ร่วมกันแถลงข่าว “โครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า 6 โครงการ” 

สป.อว. จับมือ เอ็มเท็ค สวทช. และ สจล. วิจัยนวัตกรรมเพื่อชาติ 6 โครงการ

 

นายธนาภรณ์ โกราษฎร์ หัวหน้าโครงการบริหารจัดการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า วิศวกรอาวุโส MTEC สวทช. กล่าวถึงที่มาของโครงการนี้ว่า ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยบริหารให้กับกองส่งเสริมและประสานประโยชน์เพื่อวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.สป.อว.) ซึ่งเป็นแหล่งทุน โครงการนี้เริ่มจากกิจกรรมการพัฒนาองค์ความรู้จากการทำวิศวกรรมย้อนรอย (Reverse Engineering) ต่อยอดองค์ความรู้เดิม สู่การบริหารจัดการโครงการ และได้พัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในเครือข่าย สวทช. และ อว. และปัจจุบันโครงการได้ปรับเปลี่ยนแนวทางมาสู่กระบวนการพัฒนาองค์ความรู้ขึ้นเอง เป็นโครงการเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า ปัจจุบันผลงานที่ร่วมพัฒนาภายใต้โครงการนี้ มีมากกว่า 200 โครงการ และ สจล. เป็นหนึ่งในหน่วยงานพันธมิตรที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาสร้างสรรค์ผลงานอย่างมีประสิทธิภาพในฐานะผู้รับทุน

“ด้วยองค์ความรู้และขีดความสามารถเชิงวิชาการของทั้ง 3 หน่วยงาน คือ อว. สวทช. และ สจล. ผมมั่นใจว่าโครงการเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า จะได้รับความสนใจและได้รับการสนับสนุนเพื่อนำไปต่อยอด รวมทั้งนำไปใช้เป็นประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ลดการนำเข้า และขยายมูลค่าในภาคอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อสร้างคุณประโยชน์แก่สาธารณชนในวงกว้างต่อไป”

รศ.ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ รักษาการแทนอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล.มีความมุ่งมั่นที่จะศึกษาวิจัยและพัฒนา และคิดค้นงานทางด้านวิศวกรรมยุคใหม่ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง เพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยีและนวัตกรรม เสริมสร้างการพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวหน้า ทั้งด้านการแพทย์ การคมนาคม เทคโนโลยีการเกษตร ฯลฯ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและสังคมไทยให้สะดวกสบาย ปลอดภัยยิ่งขึ้นในอนาคต 

นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ สามารถเปลี่ยนแปลงโลกและวงการอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็ว ประเทศไทยมีการวิจัยและพัฒนาคิดค้นหลายด้านอย่างต่อเนื่อง วิกฤตโควิด-19 ทำให้สจล. และผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายในบ้านเราตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์จากฝีมือคนไทยภายในประเทศ เพื่อให้สามารถนำมาใช้ได้อย่างทันท่วงที”
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ด้วยความสนับสนุนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) และ เอ็มเท็ค สวทช. ภายใต้ “โครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า” ได้ดำเนินการด้วยความมุ่งมั่นและมีเป้าหมายเพื่อสร้างความสำเร็จแก่สังคมและเศรษฐกิจส่วนรวม เป็นที่พึ่งแก่สังคม ตอบโจทย์ตามแผนพัฒนาชาติ โดยได้ดำเนินการไปแล้ว 6 โครงการ ดังนี้

1.    โครงการพัฒนาสร้างระบบพลาสมาบำบัดน้ำเสียเพื่อการนำมาใช้ใหม่ 
ดร.วิจิตร กิณเรศ และทีมงาน ได้พัฒนาเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำ ด้วยการบำบัดน้ำเสียด้วยพลาสมา ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ประหยัดพลังงาน ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ และยังช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีอายุการใช้งานยาวนาน สามารถควบคุมการบำบัดน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดที่ต่างกันภายในเครื่องเดียวอย่างมีประสิทธิภาพ และยังสามารถนำน้ำที่ได้จากการบำบัดด้วยพลาสมา กลับมาใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตรและการอุปโภคบริโภคได้อีกด้วย โครงการนี้สามารถนำไปขยายผลในเชิงพาณิชย์เพื่อการบำบัดน้ำเสียด้วยเทคโนโลยีภายในประเทศได้

โครงการพัฒนาสร้างระบบพลาสมาบำบัดน้ำเสียเพื่อการนำมาใช้ใหม่ 
 
2.    โครงการพัฒนาเครื่องจ่ายออกซิเจนในอัตราการไหลสูง
วิจัยและพัฒนาโดย ดร.ภูมิ คงห้วยรอบ โครงการนี้ออกแบบเพื่อตอบโจทย์การทำงานภายในโรงพยาบาล การทำงานของเครื่องจ่ายออกซิเจนชิ้นนี้ อากาศบริสุทธิ์จะผ่านการกรองด้วย Filter สามารถควบคุมให้อัตราออกซิเจนคงที่ เป็นไปตามการรักษา ปรับค่าออกซิเจนได้ 21-100% ควบคุมอัตราการไหลของออกซิเจนและอุณหภูมิของอากาศผ่านมือถือและควบคุมระยะไกล สะดวกต่อคนไข้ บุคลากรทางการแพทย์มีความปลอดภัยในกรณีที่ต้องทำการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคร้ายแรง เครื่องนี้มีส่วนช่วยในกระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วยที่อ่อนแรงจากภาวะโรคอื่น ๆ นอกเหนือจากโควิด-19 ได้อีกด้วย

 โครงการพัฒนาเครื่องจ่ายออกซิเจนในอัตราการไหลสูง

3. โครงการสร้างเครื่องช่วยหายใจ Ambubag เพื่อส่งต่อผู้ป่วย และ 
4. โครงการสร้างเครื่องช่วยหายใจ Ambubag แบบบีบอัตโนมัติ
โครงการที่ 3 และ 4 พัฒนาโดย ดร.ธีรพล โพธิ์พงศ์วิวัฒน์ และทีมงาน เพื่อใช้เป็นเครื่องทุ่นแรงสำหรับบุคลากรทางการแพทย์นำมาใช้แทน Ventilator หลักการคือ ใช้อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ควบคุมการบีบ Ambubag แทนมือ สามารถควบคุมปริมาตรของอากาศ ความดันของอากาศ และ I:E ratio หรืออัตราส่วนระหว่างเวลาที่ใช้ในการหายใจเข้าต่อหน่วยเวลาที่ใช้ในการหายใจออกได้ มีการเสริมฟังก์ชั่นให้สามารถทำงานได้เทียบเท่า Ventilator โครงการนี้สามารถส่งมอบให้กับโรงพยาบาลได้มากกว่า 100 เครื่อง 

 โครงการสร้างเครื่องช่วยหายใจ Ambubag เพื่อส่งต่อผู้ป่วย

 โครงการสร้างเครื่องช่วยหายใจ Ambubag เพื่อส่งต่อผู้ป่วย
  

5. โครงการพัฒนาสร้างต้นแบบหุ่นยนต์ตรวจการเพื่อการพาณิชย์
รศ.ดร.ปิติเขต สู้รักษา และทีมทำการวิจัยและพัฒนาร่วมกับ บริษัท ดีเท็กซ์ ดีไซน์ จำกัด โดยนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาใช้ทดแทนกำลังพลในอุตสาหกรรมบริการซึ่งมีความเสี่ยงสูง เช่น การตรวจการของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย โดยนำหุ่นยนต์มาใส่ฟังก์ชั่นการทำงานของ Guard Tour ช่วยลดความเสี่ยงภัยกรณีพบการบุกรุก การต่อสู้ การปะทะ การบาดเจ็บ สามารถบันทึกเส้นทางการเดินของหุ่นยนต์ ดูย้อนหลังได้เหมือนกล้องวงจรปิด ทั้งนี้ ผู้ควบคุมหุ่นยนต์หรือเจ้าหน้าที่ขับหุ่นยนต์ ต้องได้รับการอบรมการมองภาพผ่านหุ่นยนต์ การวิเคราะห์ภาพจากกล้องวงจรปิดภายในห้องควบคุม การใช้วิทยุบังคับ การควบคุมจากระบบ auto มายังระบบ manual รวมทั้งการรับมือกับเหตุผิดปกติอื่น ๆ 

โครงการพัฒนาสร้างต้นแบบหุ่นยนต์ตรวจการเพื่อการพาณิชย์

โครงการพัฒนาสร้างต้นแบบหุ่นยนต์ตรวจการเพื่อการพาณิชย์


6. โครงการพัฒนาสร้างโครงสร้างกระดูกภายนอกสำหรับเพิ่มสมรรถนะการเดินและการยกของ พัฒนาและออกแบบโดย อ.นพ.อนวัช เสริมสวรรค์ ร่วมกับ บริษัท ดีเท็กซ์ ดีไซน์ จำกัด ผลงานโครงสร้างกระดูกภายนอก (Exoskeleton) ที่มนุษย์สามารถสวมใส่ภายนอกร่างกาย และทำงานประสานกับโครงสร้างร่างกายของมนุษย์ โดยเป็นอุปกรณ์ที่เกิดจากการประยุกต์ศาสตร์ ทั้งวิทยาการหุ่นยนต์ ไบโอเมคาโทรนิกส์ และกายวิภาคศาสตร์ไว้ด้วยกัน เพื่อเพิ่มสมรรถนะและประสิทธิภาพในการทำงานหรือเคลื่อนไหวของผู้สวมใส่ให้เหมาะสม อาทิ ใช้เพื่อการผ่อนแรงขณะยกของหนัก การผ่อนแรงขณะที่เดิน การแก้ไขความพิการหรือการบาดเจ็บของมนุษย์ ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งในคนปกติและผู้พิการ และยังช่วยป้องกันการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นได้ อุปกรณ์เหล่านี้สามารถประยุกต์ใช้ในการแพทย์ การทหาร อุตสาหกรรม บุคคลทั่วไป และยังรองรับสังคมผู้สูงวัยของไทยอีกด้วย

โครงการพัฒนาสร้างโครงสร้างกระดูกภายนอกสำหรับเพิ่มสมรรถนะการเดินและการยกของ

โครงการพัฒนาสร้างโครงสร้างกระดูกภายนอกสำหรับเพิ่มสมรรถนะการเดินและการยกของ
  
นางวนิดา บุญนาคค้า ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.สป.อว.) กล่าวว่า ปัจจุบันหน่วยงานทางวิชาการของไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกหลายแห่ง กระบวนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของนักวิชาการและนักวิจัยไทยมีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาชาติ และ สจล. ที่เป็นหน่วยงานกลุ่มสถาบันการศึกษา ได้สร้างสรรค์ผลงานและมีบทบาทเด่นชัดในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อใช้ภายในประเทศและส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ให้กับประเทศไทย 
“ในฐานะที่ กปว.สป.อว. เป็นแหล่งทุนของโครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า ซึ่งมีพันธกิจหลักในการส่งเสริมกระบวนการพัฒนาและสร้างเทคโนโลยีขึ้นในประเทศ จากเดิมที่เราเคยพึ่งพาการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศในกลุ่มเครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ มีความรู้สึกชื่นชมยินดีในความสำเร็จและก้าวหน้าของนักวิจัยและนักวิชาการไทยที่สามารถสร้างสรรค์ผลงาน นำไปต่อยอด ขยายผลในเชิงพาณิชย์ เพิ่มคุณค่าเชิงวิชาการและเศรษฐกิจ ให้กับโครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่าต่อไป” 

สป.อว. จับมือ เอ็มเท็ค สวทช. และ สจล. วิจัยนวัตกรรมเพื่อชาติ 6 โครงการ

สป.อว. จับมือ เอ็มเท็ค สวทช. และ สจล. วิจัยนวัตกรรมเพื่อชาติ 6 โครงการ