หลายคนยังไม่รู้ ขับรถร้อน ๆ ระวังโดนสาดน้ำเย็น เสี่ยงกระจกรถแตกได้

14 เมษายน 2567

"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ออกมาเตือนช่วงเทสกาลสงกรานต์ หากโดนสาดน้ำเย็นใส่กระจกรถร้อน ๆ ระวังกระจกแตกได้

เชื่อว่าหลายคงสนุกกับเทศกาลสงกรานต์อย่างมาก โดยเฉพราะการขึ้นท้ายรถกระบะเพื่ออกไปสาดน้ำกัน และมีหลายคนที่ยังไม่เคยรู้ เมื่อสาดน้ำเย็นใส่กระจกรถเสี่ยงที่กระจกจะแตกได้ ล่าสุดทางด้าน "อ.เจษฎ์" หรือ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความเตือน ระบุรายละเอียดว่า

"สาดน้ำเย็นใส่กระจกรถร้อนๆ ระวังกระจกแตกได้ครับ"

วันก่อนพึ่งโพสต์อธิบาย กรณีที่มีคนพบว่ากระจกรถยนต์ของเขา แตกเองโดยไม่ทราบสาเหตุ .. ซึ่งก็เกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งมีของแข็งมากระทบ (แต่เจ้าของรถไม่รู้) หรือเกิดการแตกจากความเครียดของเนื้อกระจก (stress crack) เมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนแปลง ร้อน-เย็น เร็วเกินไป

ตัวอย่างเช่น รถตากแดดร้อนจัดอยู่ แล้วคนขับพอกลับขึ้นมา ก็เปิดแอร์เร่งให้เย็นของเครื่องปรับอากาศเต็มที่ (หรือ ล้างรถด้วยน้ำเย็น หรือ ไปเจอกับฝนตกกระทันหัน ) กระจกก็แตกได้

วันนี้ก็มีข่าว อ้างถึงที่เพจเฟสบุ๊ค "บอสนุ หมอลำเสียงวิหค" โพสต์คลิปเตือนเป็นอุทาหรณ์ หลังขับรถมาดีๆ เจอคนเมาสาดน้ำถังใหญ่ใส่กระจก จนกระจกแตก

โดยเมื่อขับรถมาถึงจุดเกิดเหตุ คุณลุงในคลิปซึ่งมีอาการมึนเมาด้วย ได้ใช้ถังสีเปล่าตักน้ำเต็มถัง และสาดมาที่บริเวณกระจกด้านหน้าด้านซ้ายของรถตู้ กระจกร้าวจนเกือบแตกขนาดประมาณ 50 ซม.

หลายคนยังไม่รู้ ขับรถร้อน ๆ ระวังโดนสาดน้ำเย็น เสี่ยงกระจกรถแตกได้

ซึ่งตนคาดว่า อาจจะเป็นเพราะรถร้อนมาก แล้วมาเจอกับน้ำเย็น อีกทั้งยังมีมวลขนาดใหญ่ จึงทำให้กระจกเกิดร้าว 

แม้ว่าสาเหตุการแตกของกระจกรถครั้งนี้ จะยังไม่แน่ชัด ไม่อาจฟันธงได้ว่าเป็นผลจากการ "สาดน้ำเย็น ใส่กระจกรถร้อน" จริงๆ แต่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ควรระมัดระวังกัน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้นะครับ

ลองอ่านรายละเอียดคำอธิบายในรีโพสต์ด้านข้างนี้ครับ

หลายคนยังไม่รู้ ขับรถร้อน ๆ ระวังโดนสาดน้ำเย็น เสี่ยงกระจกรถแตกได้

 

(รีโพสต์) "กระจกรถ แตกเองได้ เกิดจากสาเหตุใดบ้าง ?"

วันนี้นักข่าวไลน์มาถาม ถึงกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ้คโพสต์ภาพ กระจกข้างของรถแตกทั้งบาน พร้อมทั้งแคปชั่นว่า "ขนาดจอดไว้ในบ้าน กระจกยังแตก ช่วงนี้แนะนำให้แง้มกระจกกันไว้นิดนึงนะคะ" ว่ามีสาเหตุเกิดขึ้นจากความร้อนของอากาศช่วงนี้ ทำให้กระจกรถแตกเองเลยหรือ ?

คำตอบคือ ความร้อนของอากาศก็เป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้กระจกรถแตกได้ แต่ก็มีอีกหลายสาเหตุที่เป็นไปได้ครับ ต้องตรวจสอบเป็นกรณีๆ ไป

อย่างกรณีในภาพนั้น จะเห็นว่าเป็น "กระจกด้านข้าง" ของรถ ซึ่งกระจกด้านข้างและกระจกด้านหลังของรถยนต์นั้น จะเป็นกระจกนิรภัยแบบ Tempered Glass (ขณะที่กระจกด้านหน้าจะเป็น Laminated Glass ฉะนั้น การรับแรงกระแทกจะไม่เหมือนกัน) ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดการแตกเนื่องจากภาวะเครียดของกระจก (หรือ Stress Crack) ได้ ทำให้บางทีการจอดรถยนต์ในที่ร้อนมากๆ แล้วมีลักษณะเปลี่ยนสภาพอากาศอุณหภูมิกะทันหัน (ร้อน-เย็น) ก็สามารถแตกเองได้ และเกิดขึ้นค่อนข้างบ่อยด้วย

 

ตัวอย่างเช่น รถตากแดดร้อนจัด แล้วคนขับพอกลับขึ้นมา ก็เปิดแอร์เร่งให้เย็นของเครื่องปรับอากาศเต็มที่ (หรือ ล้างรถด้วยน้ำเย็น หรือ ไปเจอกับฝนตกกระทันหัน ) กระจกที่อาจจะมีรอยร้าวเล็กๆ ซึ่งมองไม่เห็นอยู่แล้ว หรือมีโพรงอากาศระหว่างชั้นของกระจก ก็จะเกิดการหดและขยายตัวของชั้นกระจก ที่ไม่เป็นไปในสัดส่วนที่ถูกต้อง จนกระจกแตกได้

และจริงๆ แล้ว สาเหตุอันดับต้น ๆ ของการที่กระจกรถแตก คือ มีของตกใส่ครับ ให้ลองพิจารณาดูรอบ ๆ คันรถก่อน อาจจะเจอผลไม้ที่หนัก ๆ หรือกิ่งไม้ หรือกระถางต้นไม้ ตกลงมาใส่รถ หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยง อย่างเช่น แมว กระโดดลงมาใส่ .. ยิ่งบางครั้งกระจกเคยมีรอยร้าวมาก่อนแล้ว เช่น โดนหินกระเด็นใส่โดยไม่รู้ตัว ก็ยิ่งมีโอกาสแตกได้ง่ายขึ้น

ดังนั้น การแตกของกระจก จึงสามารถเกิดได้จากทั้งมีของแข็งมากระทบ หรือจาก Stress Crack ซึ่งวิธีสังเกตคือ ถ้ากระจกรถยนต์ที่แตก ไม่มีร่องรอยของจุดกระทบหรือจุดประทะ นั่นคือ การแตกร้าวเนื่องจากความเค้น (Stress Crack)

ซึ่งถ้ารถคันนั้น เป็นรถยนต์เก่าที่มีอายุหลายปี หรือรถยนต์ที่ผ่านการชนมาแล้ว อาจจะเกิดความผิดปกติจากตัวโครงสร้างรถที่บิดเบี้ยว ทำให้กระจกรถบิดตัวตามไปด้วยและอาจแตกได้ง่ายขึ้น / รถที่เก่า กระจกรถก็อาจจะเสื่อม เสียสภาพไปตามเวลา หมดอายุการใช้งาน และแตกร้าวได้ง่าย

ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นรถยนต์ใหม่ๆ ขับรถอยู่ดี ๆ กระจกแตกทุกบาน ก็อาจเกิดจากข้อผิดพลาดตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต และโครงสร้างของรถ ซึ่งจะต้องนำรถเข้าศูนย์บริการ ให้ทางบริษัทตรวจสอบหาสาเหตุต่อไป

สำหรับคำแนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงกระจกรถยนต์แตก ได้แก่

- อย่าไปจอดรถยนต์ตากแดดไว้นานๆ เพราะจะทำให้รถยนต์ของเราจะเกิดสภาพเสื่อมเร็ว

- หมั่นตรวจสอบร่องรอยบนกระจกรอบตัวรถ รวมทั้งตรวจสอบตัวถังรถว่ามีรอยบุบรอยเบี้ยวตรงไหน มีโอกาสไหมที่จะสร้างแรงดันให้กับกระจกรถ

- ถ้าต้องจอดตากแดดไว้ แล้วจะใช้รถ ให้เปิดกระจกลงเพื่อระบายอากาศร้อนออกก่อนบ้าง แล้วค่อยๆ เร่งอุณหภูมิแอร์ให้เย็นขึ้น

- ติดตั้งฟิล์มกรองแสดงที่มีคุณสมบัติในการระบายความร้อนที่ดี นอกจากช่วยลดความร้อนแล้ว ยังช่วยเวลาเกิดอุบัติเหตุด้วย

- ควรหลีกเลี่ยงการจอดรถในพื้นที่เสี่ยงกับ การระเบิด อาทิ เหมือง การทำลายตึก การซ้อมรบ หรือฐานปล่อยจรวด แม้แต่การจอดรถใกล้กับรันเวย์หรือสนามฝึกซ้อมเครื่องบินขับไล่ ที่มีการระเบิดของคลื่นเสียง (โซนิคบูม) เพราะสามารถทำให้เกิด stress cracks ได้เช่นกัน

- อย่าวางสิ่งของที่อาจเกิดการระเบิดไว้ในรถเมื่อจอดแตกแดด เช่น ไฟแช็ก กระป๋องสเปรย์ พาวเวอร์แบงค์ ฯลฯ