กรมทางหลวง เปิดใช้สะพานข้ามจุดตัดทางรถไฟ สายทางเลี่ยงเมืองจักราช

12 กุมภาพันธ์ 2567

กรมทางหลวง เปิดใช้สะพานข้ามจุดตัดทางรถไฟ สายทางเลี่ยงเมืองจักราช จ.นครราชสีมา เพิ่มประสิทธิภาพด้านการจราจร และแก้ปัญหาอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟ

กรมทางหลวง โดยสำนักก่อสร้างสะพาน ได้ดำเนินการโครงการก่อสร้างสะพานข้ามจุดตัดทางรถไฟ สายทางเลี่ยงเมืองจักราช จ.นครราชสีมา ระยะทาง 1.859 กิโลเมตร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน แก้ปัญหาอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟ เป็นไปตามนโยบายของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการสัญจรแก่ประชาชน

กรมทางหลวง เปิดใช้สะพานข้ามจุดตัดทางรถไฟ สายทางเลี่ยงเมืองจักราช

สะพานจุดตัดทางรถไฟ สายทางเลี่ยงเมืองจักราช จ.นครราชสีมา ดำเนินการในพื้นที่บริเวณจุดตัดทางรถไฟกับทางหลวงหมายเลข 226 ตอน หัวทะเล - หนองกระทิง (นครราชสีมา - บุรีรัมย์) ซึ่งในปัจจุบันมีปริมาณการจราจรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และประสบปัญหาที่สำคัญ ได้แก่ การเกิดอุบัติเหตุในบริเวณจุดตัดผ่านทางรถไฟบนทางหลวง ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกและความปลอดภัย ซึ่งกรมทางหลวงได้ดำเนินการเพื่อป้องกันอุบัติเหตุดังกล่าว โดยทำการปรับปรุงจุดตัดผ่านทางรถไฟให้สอดคล้องกับมาตรการความปลอดภัยของการรถไฟแห่งประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกและความปลอดภัยตลอดการเดินทาง และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว

กรมทางหลวง เปิดใช้สะพานข้ามจุดตัดทางรถไฟ สายทางเลี่ยงเมืองจักราช

กรมทางหลวงจึงได้ดำเนินการโครงการก่อสร้างสะพานข้ามจุดตัดทางรถไฟ สายทางเลี่ยงเมืองจักราช จ.นครราชสีมา ระหว่างทางหลวงหมายเลข 226 ตอน หัวทะเล - หนองกระทิง (นครราชสีมา - บุรีรัมย์) ตั้งแต่ กม.ที่ 39+800 ถึง กม.ที่ 41+050 และทางหลวงหมายเลข 2162 ตอน ทางเข้าเมืองจักราช ตั้งแต่ กม.ที่ 0+000 ถึง กม.ที่ 0+609 รวมระยะทางทั้งหมด 1.859 กิโลเมตร มีลักษณะงานก่อสร้างเป็นสะพานคอนกรีตอัดแรง (U-Girder) ขนาด 4 ช่องจราจร มีความยาว 443 เมตร และความกว้าง 16.6 เมตร จำนวน 1 แห่ง พร้อมก่อสร้างเชิงลาดและกำแพงกันดินคอสะพาน ผิวจราจรแอสฟัลต์คอนกรีต รวมงานวางท่อระบายน้ำและบ่อพัก งานติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง งานตีเส้นจราจร และงานอำนวยความปลอดภัย วงเงินงบประมาณ 288.65 ล้านบาท

กรมทางหลวง เปิดใช้สะพานข้ามจุดตัดทางรถไฟ สายทางเลี่ยงเมืองจักราช

ปัจจุบัน โครงการฯ ได้ทำการเปิดให้บริการแก่ประชาชนเพื่อใช้ในการสัญจรแล้ว และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจราจรให้แก่ประชาชนให้ได้รับความสะดวกและความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ลดการเกิดอุบัติเหตุ ร่นระยะเวลาในการเดินทางระหว่าง จ.นครราชสีมา และ จ.บุรีรัมย์ และรองรับการพัฒนาโครงการขนส่งทางราง ได้แก่ รถไฟทางคู่ ในอนาคต

กรมทางหลวง เปิดใช้สะพานข้ามจุดตัดทางรถไฟ สายทางเลี่ยงเมืองจักราช