นักวิจัย มก. เผยข่าวดี พบ "กุ้งเต้นปั่นท่อ" ชนิดใหม่บริเวณแม่น้ำแม่กลอง

18 ธันวาคม 2566

ล่าสุด ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยข่าวดี พบ "กุ้งเต้นปั่นท่อ" ชนิดใหม่ของโลก บริเวณแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม

    เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2566 ทางด้านเพจเฟซบุ๊ก Kasetsart University ได้มีการออกมาเผยข่าวดี โดยระบุว่า ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้พบกุ้งเต้นปั่นท่อชนิดใหม่ของโลกบริเวณแม่น้ำแม่กลอง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งถือเป็นรายงานแรกที่พบในอ่าวไทยและในแม่น้ำ

 

นักวิจัย มก. เผยข่าวดี พบ \"กุ้งเต้นปั่นท่อ\" ชนิดใหม่บริเวณแม่น้ำแม่กลอง

 โดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แก่ ผศ.ดร. กรอร วงษ์กำแหง นางสาวชนิกานต์ เกตุนวม และ ดร.ทศพล แซ่ตั้ง กีฏพิชญกุล ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ Assoc. Prof. Dr. Azman Abdul Rahim จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (Universiti Kebangsaan Malaysia) ร่วมกันพบกุ้งเต้นปั่นท่อชนิดใหม่ของโลกบริเวณแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม โดยทั่วไปกุ้งเต้นปั่นท่อชนิดอื่นๆ พบกระจายบริเวณชายฝั่งในเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก 

 

   การค้นพบครั้งนี้เป็นรายงานแรกของกุ้งเต้นปั่นท่อในอ่าวไทยและเป็นรายงานแรกที่พบกุ้งเต้นปั่นท่อในแม่น้ำ ผศ.พงษ์รัตน์ ดำรงโรจน์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานจึงได้ตั้งชื่อให้ว่า Cerapus rivulus ซึ่งหมายถึงแหล่งอาศัยของกุ้งเต้นปั่นท่อที่พบในแม่น้ำนั่นเอง

 

   ทั้งนี้ แม่น้ำแม่กลองถือเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลลงสู่อ่าวไทย โดยมีปลายทางคือจังหวัดสมุทรสงคราม มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ บริเวณที่เป็นน้ำจืดคือในเขตอำเภอบางคนทีมีการทำเกษตรกรรม และอำเภออัมพวาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง ส่วนปากแม่น้ำบริเวณดอนหอยหลอดก็เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญของประเทศ

 

นักวิจัย มก. เผยข่าวดี พบ \"กุ้งเต้นปั่นท่อ\" ชนิดใหม่บริเวณแม่น้ำแม่กลอง

   ซึ่งในปีที่ผ่านมามีการค้นพบกุ้งเต้นชนิดใหม่ของโลกที่อำเภออัมพวา 2 ชนิดและเมื่อศึกษาต่อเนื่อง ในปีนี้ทีมสำรวจได้สำรวจไกลขึ้นไปในเขตอำเภอบางคนที และได้พบกุ้งเต้นปั่นท่อสร้างท่อติดไว้กับเครื่องมือวิจัยที่ติดไว้ที่ท่าน้ำบริเวณหน้าโรงเรียนดรุณานุเคราะห์ กุ้งเต้นชนิดนี้มีการปรับรยางค์ให้ดำรงชีวิตอยู่ในท่อได้ตลอดชีวิต


   ทีมงานวิจัยได้ลองเลี้ยงและบันทึกพฤติกรรมในการสร้างท่อ การสืบพันธุ์และการกินอาหารพบว่ากุ้งเต้นปั่นใยจับตะกอนแขวนลอยในมวลน้ำกินเป็นอาหาร ช่วยให้น้ำในพื้นที่นั้นสะอาดขึ้น ใยที่กุ้งเต้นปั่นท่อสร้างออกมาจากขาเดินคู่ที่ 3 และ 4 ยังมีคุณสมบัติที่เหนียวและสามารถยึดกับวัสดุใต้น้ำได้ มีรายงานการพบกุ้งเต้นปั่นท่อในพื้นที่ที่น้ำไหลค่อนข้างแรงจึงทำให้มีการปรับตัวที่น่าสนใจ ซึ่งการค้นพบดังกล่าวอาจนำไปต่อยอดในแง่ของชีวลอกเลียน (Biomimic) ในการสร้างกาวที่มีความยืดหยุ่นสูงและยึดติดใต้น้ำได้ โดยได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยค้นพบกุ้งเต้นปั่นท่อเผยแพร่ลงในวารสาร Zoosystematics and Evolution เมื่อวันที่  4 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา