"อ.โต้ง" ตั้งข้อสงสัยเด็ก 14 ป่วยจริงหรือแสร้งทำ แนะหยุดให้แสง กันเลียนแบบ

05 ตุลาคม 2566

รองศาสตราจารย์ พันตำรวจโท ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล หรือ อาจารย์โต้ง ตั้งข้อสงสัยเด็ก 14 ป่วยจริงหรือแสร้งทำเพราะรู้ว่าจะรอด แนะหยุดให้แสงป้องกันพฤติกรรมเลียนแบบในอนาคต

จากเหตุเยาวชนอายุ 14 ปีก่อเหตุกลางห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหาทั้งหมด 5 ข้อหาแก่เด็ก 14 ปี ได้แก่ ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน,พยายามฆ่า,มีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต,พกพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และ ยิงปืนในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และได้คุมตัวเข้าสถานพินิจเหตุกระทำตัวเป็นภัยร้ายแรง ไร้เงาพ่อแม่มายื่นประกันตัว

อ.โต้ง  ตั้งข้อสงสัยเด็ก 14 ป่วยจริงหรือแสร้งทำ แนะหยุดให้แสง กันเลียนแบบ

เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ทางด้าน "รองศาสตราจารย์ พันตำรวจโท ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล" หรือ อาจารย์โต้ง ได้โพสต์ข้อความไว้สั้นๆบนเฟซบุ๊กว่า "เด็กฉลาดที่จะอำพรางตัวเองว่าเป็นโรคจิตหรือไม่ครับ? #สยามพารากอน"

อ.โต้ง  ตั้งข้อสงสัยเด็ก 14 ป่วยจริงหรือแสร้งทำ แนะหยุดให้แสง กันเลียนแบบ

โดยเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ไทยนิวส์ออนไลน์ ได้โทรสัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์ พันตำรวจโท ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาฯ ม.รังสิต ถึงประเด็นต่างๆทั้งพฤติกรรมที่แสดงออกของผู้ก่อเหตุกับอาการที่แสดงออกว่ามีอาการทางจิตเวชว่ามีความสัมพันธ์กันหรือไม่อย่างไร

โดยเรื่องนี้ พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ เผยว่าดูจากพฤติกรรมแล้วเด็กผู้ก่อเหตุมีการเตรียมตัวอย่างดี ทั้งอาวุธปืน เวลา สถานที่ เสื้อผ้าต่างๆ การคิดตรงนี้เป็นขั้นเป็นตอนมีการวางแผน และจะเห็นได้ว่ายังมีการทำตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ ทั้งการวางปืน ลดอาวุธลง คุกเข่าหันหลัง เขาก็ยอมทำตาม 

อ.โต้ง  ตั้งข้อสงสัยเด็ก 14 ป่วยจริงหรือแสร้งทำ แนะหยุดให้แสง กันเลียนแบบ

ตรงนี้เท่าที่สอบถามจากหมอจะพบว่าคนไข้จิตเวชเขาจะไม่ทำร้ายคนอื่น เขาจะทำร้ายตัวเอง กลัวคนอื่นมาทำร้ายมากกว่า แต่ตอนที่ตำรวจจับเขามาบอกว่ามีคนจะมาทำร้าย เรื่องนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าหรือว่าเขารู้ว่าถ้าเขาเป็นคนไข้จิตเวชแล้วกระทำความผิดแบบนี้อาจจะเป็นข้อยกเว้นของกฎหมายด้วย จึงแสดงอาการเหล่านั้นออกมา แต่สุดท้ายต้องให้จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ประเมิน

ตำรวจก็เช่นกัน พนักงานสอบสวนเอง หรือชั้นศาลก็ต้องฟังจากคำให้การของจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

 

จากประสบการณ์ของพ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ผู้ที่ก่อเหตุและอ้างว่ามีอาการทางจิตเวชนั้น จริงๆเขาจะก่อเหตุเลยไม่ได้มีการเตรียมการทั้งการดัดแปลงอาวุธปืน มีการซ้อมยิงปืน สิ่งเหล่านี้ก็เป็นคำถามอยู่ว่าคนไข้จิตเวชเขาจะคิดได้แบบนี้หรือ เป็นขั้นเป็นตอน

ถามว่าการเลี้ยงดูส่งผลหรือไม่ เรื่องนี้พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์เผยว่าเรื่องนี้มีผลแน่นอน ข้อมูลทางวิชาการว่าการเลี้ยงดูส่งผลอย่างมาก ความรักความอบอุ่นในครอบครัว สภาพแวดล้อมรอบตัวเป็นอย่างไร ยิ่งถ้าหากว่าผู้ก่อเหตุเคยโดนกระทำมาก็มีแนวโน้มว่าเขาจะมากระทำรุนแรงกับคนอื่นต่อ ยิ่งถ้ามีการใช้สารเสพติดหรือเมาสุรา ก็อาจจะยิ่งไปกระตุ้นให้แย่ลง 

อ.โต้ง  ตั้งข้อสงสัยเด็ก 14 ป่วยจริงหรือแสร้งทำ แนะหยุดให้แสง กันเลียนแบบ

การที่เด็กอ้างว่ามีอาการป่วยจิตเวชจะมีผลทำให้รอดหรือทำให้ไม่ได้รับโทษที่ถูกแจ้งข้อหา 5 ข้อหรือไม่นั้น พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ เผยว่าเรื่องนี้จะต้องมีแนวทางในการจัดการต้องแยกกัน อย่างแรกคือเขามีการกระทำความผิด ตามกฎหมายระบุว่าอายุไม่เกิน 15 ทำความผิดไม่ต้องรับโทษ เรื่องนี้ต้องมีมาตรการกำหนดสำหรับเด็กคนนั้น

ส่วนที่ 2 เรื่องอาการป่วยทางจิตหรือไม่นั้นเรื่องนี้ต้องให้จิตแพทย์ประเมิน ยื่นให้ศาลพิจารณาประกอบไปด้วยว่ามาตรการสำหรับเด็กคนนี้จะดำเนินการอย่างไร 

ส่วนที่ 3 เรื่องโทษที่โดน อันนี้อยู่ที่ศาลต้องพิจารณาว่าต้องทำอย่างไร ต้องอยู่สถานพินิจไหม หรือว่าที่ไหนที่ศาลเห็นว่าจะขัดเกลานิสัยเขาได้

อ.โต้ง  ตั้งข้อสงสัยเด็ก 14 ป่วยจริงหรือแสร้งทำ แนะหยุดให้แสง กันเลียนแบบ

โดยปกติเด็กจะมีมาตรการที่ต่างกับผู้ใหญ่เพราะมองว่ายังอ่อนวัย ความคิดความอ่านแตกต่างกับผู้ใหญ่ แล้วก็ยังสามารถที่จะแก้ไขฟื้นฟูนิสัยได้ 

เหตุที่เกิดขึ้นนี้เสี่ยงต่อการเกิดพฤติกรรมเลียนแบบอย่างแน่นอน ซึ่งวิธีการที่จะป้องกันได้ ใกล้ตัวสุดคือคนในครอบครัว คนที่ใกล้ชิดต้องดูแลกันและกัน ให้ความรักความเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน สถาบันการศึกษาก็มีผลในเรื่องการบ่มเพาะ การขัดเกลานิสัย สภาพแวดล้อมรอบตัวก็มีผล ผู้นำ คนที่เป็นต้นแบบของสังคมก็ต้องไม่มีการใช้ความรุนแรง เพราะสิ่งเหล่านี้หากว่าบางคนได้รับชม เด็ก เยาวชนก็จะซึมซับตัวแบบของการใช้ความรุนแรง

เรื่องการนำเสนอ ต้องหยุดให้แสง สร้างตัวตนให้กับผู้ก่อเหตุ อย่าไปนำเสนอชีวิตส่วนตัว วิธีการลงมือเตรียมการ ขั้นตอนในการลงมือ ต้องตัดเพื่อไม่ให้เกิดการเลียนแบบขึ้นมาในอนาคต

 

สุดท้ายถามถึงแนวโน้มที่เคยพบว่าหลังได้รับโทษแล้วผู้ก่อเหตุจะมีการเปลี่ยนแปลงไปได้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม แนวทางการแก้ปัญหาที่จะให้เขา เปรียบเหมือนผ้าขาวเอาไปเช็ดอะไรมาบ้าง จะใช้น้ำยาอะไรในการค่อยๆลบคราบนั้น ถ้าน้ำยาแรงไปผ้าก็อาจจะขาด เช่นเดียวกัน ก็ต้องดูว่าผ้าผืนนี้ผ่านอะไรมาบ้าง เรื่องราวชีวิตของเขาผ่านอะไรมาบ้าง และต้องคอยประเมินติดตามผลกันต่อเนื่องต่อไป