กรมสรรพากร ชี้แจงหลังแชร์ว่อน รัฐสั่งเก็บภาษีสินสอดงานแต่ง จริงหรือไม่

07 กันยายน 2566

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ตรวจสอบกับ กรมสรรพากร ชี้แจงแล้วหลังแชร์ว่อน รัฐสั่งเก็บภาษีสินสอดงานแต่ง จริงหรือไม่

ตามที่ได้มีการส่งต่อข้อมูลในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับเรื่อง รัฐสั่งเก็บภาษีสินสอดงานแต่ง ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

กรมสรรพากร ชี้แจงหลังแชร์ว่อน รัฐสั่งเก็บภาษีสินสอดงานแต่ง จริงหรือไม่

จากที่มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องภาษีกล่าวว่า จะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส ทางกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า รัฐบาลไม่ได้มีการออกกฎหมายใหม่ให้กรมสรรพากรไปเก็บภาษีจากเงินสินสอดงานแต่งงานตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด ซึ่งตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ข้อที่ 10 ระบุไว้ว่า เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา เงินได้ที่รับจากการรับมรดก หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ได้รับการยกเว้นภาษี

ส่วนพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 40 พ.ศ. 2558 ได้ระบุไว้ว่า เงินที่ได้รับการยกเว้นภาษี ได้แก่

  1. เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทตลอดปีภาษี
  2. เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งนี้ จากบุคคลซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 10 ล้านบาทตลอดปีภาษี

กรมสรรพากร ชี้แจงหลังแชร์ว่อน รัฐสั่งเก็บภาษีสินสอดงานแต่ง จริงหรือไม่

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมจากกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.rd.go.th หรือ โทร. 02-272-9529

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : รัฐบาลไม่ได้มีการออกกฎหมายใหม่ให้กรมสรรพากรไปเก็บภาษีจากเงินสินสอดงานแต่งงานตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง