'สุทิน' ลุกเสนอชื่อ 'พิธา' ในโหวตนายกรอบ2 กลับโดนงัดข้อบังคับ 41 โต้เดือด

19 กรกฎาคม 2566

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นเสนอชื่อ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ในโหวตนายกรอบ2 ไม่ใครเพิ่มเติม ก่อนโดน สส.ราชบุรี งัดข้อบังคับ 41 โต้แย้งเดือด

กลายเป็นประเด็นการเมืองร้อนแรงที่หลายฝ่ายแห่จับตา กรณี การประชุมสภาครั้งล่าสุด โหวตนายกรอบ2 ซึ่งการประชุมร่วมรัฐสภา ครั้งนี้ที่มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ครั้งที่ 2 ซึ่งนายสุทิน คลังแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ลุกขึ้นเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นนายกฯคนที่ 30 โดยไม่มีผู้อื่นเสนอชื่อเพิ่มเติม และมีผู้รับรองด้วยการยกมือแบบไม่ตรงตามข้อบังคับ

 

สุทิน ลุกเสนอชื่อ พิธา ในโหวตนายกรอบ2 กลับโดนงัดข้อบังคับ 41 โต้เดือด

ต่อมาทำให้ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ลุกขึ้นประท้วงว่า การที่สมาชิกรัฐสภาเสนอนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นรัฐสภากำลังทำผิดข้อบังคับข้อที่ 41 ที่บัญญัตติว่าญัตติใดที่ตกไปแล้ว ห้ามนำเสนอซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นมาเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ยังไม่ได้ลงมติ ซึ่งเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ได้มีการลงมตินี้ไปแล้ว โดยนายพิธาได้เสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา และข้อบังคับของรัฐสภามีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ดังนั้น สมาชิกรัฐสภาจะต้องยึดถือปฏิบัติ

 


ด้าน นายรังสิมันต์​ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จึงประท้วงว่า เรากำลังดำเนินการตามระเบียบวาระของการประชุม ในการที่จะต้องเลือกผู้ที่จะไปเป็นนายกฯ​ และตามข้อบังคับที่ 5 ประธานรัฐสภา มีอำนาจที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดเอาไว้ ซึ่งเรากำลังดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ แต่การที่นายอัครเดชหารือเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง และเรากำลังดำเนินการในการเลือกบุคคลที่มีความเหมาะสม ซึ่งอยู่ตามบัญชีที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ ดังนั้น กระบวนการเช่นนี้สุ่มเสี่ยงอย่างมาก ผิดขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ
 

สุทิน ลุกเสนอชื่อ พิธา ในโหวตนายกรอบ2 กลับโดนงัดข้อบังคับ 41 โต้เดือด

ขณะเดียวกัน นายวันมูหะมัดนอร์จึงวินิจฉัยว่า ไม่ผิดข้อบังคับ ถือว่ายังอยู่ในข้อบังคับอยู่ เพราะยังไม่มีการโหวต เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นแล้วได้อย่างเต็มที่ จากนั้นให้นายอัครเดชอภิปรายต่อ


นายอัครเดช อภิปรายว่า ตนไม่ได้ลุกขึ้นมาอภิปรายว่านายพิธาเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งนายกฯหรือไม่ แต่กำลังอภิปรายว่าถ้ารัฐสภามีการอภิปรายญัตตินี้เป็นการกระทำที่ขัดกับข้อบังคับ ซึ่งมีสถานะเป็นกฎหมาย


ทำให้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ประท้วงกระบวนการที่กำลังดำเนินการอยู่ว่า ขัดกับข้อบังคับการประชุมข้อที่ 36 เพราะนายสุทินได้เสนอบุคคลเป็นนายกฯแล้ว ดังนั้น อยู่ในขั้นตอนของรัฐสภาที่จะให้การรับรองโดยเสียบบัตรแสดงตนอย่างเปิดเผย แต่นายอัครเดชลุกขึ้นมาเร็วไป เพราะกระบวนการยังไม่ครบถ้วน ดังนั้น ขอให้ประธานรัฐสภาได้ดำเนิการรับรองญัตตินี้ให้เรียบร้อย แล้วจึงเดินหน้าถกเถียงว่าเข้าข้อบังคับที่ 41 หรือไม่ จึงขอให้ดำเนินการให้ถูกขั้นตอน


จากนั้นประธานรัฐสภาได้ดำเนินการให้มีการรับรองนายพิธา ด้วยการกดบัตรแสดงตนเฉพาะ ส.ส. ปรากฏว่ามี 304 เสียง แต่เนื่องจาก ส.ว.ร่วมแสดงตนด้วย 4 คน ทำให้เหลือ 299 คน ถือว่ารับรองถูกต้อง โดยไม่มีผู้ใดเสนอชื่อบุคคลอื่นอีก จึงถือว่ามีนายพิธาเพียงคนเดียวที่เป็นบุคคลให้ที่ประชุมรัฐสภาเลือก

สุทิน ลุกเสนอชื่อ พิธา ในโหวตนายกรอบ2 กลับโดนงัดข้อบังคับ 41 โต้เดือด


พร้อมกันนี้ นายอัครเดชยืนยันว่าการเสนอชื่อนายพิธาให้โหวตรอบ 2 ไม่สามารถทำได้ เพราะจะขัดกับข้อบังคับข้อ 41 ทำให้ ส.ส.พรรคก้าวไกลและมีทีท่าว่าจะทำให้บรรยากาศในที่ประชุมวุ่นวาย ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ ชี้แจงว่า การประชุมวิป 3 ฝ่ายมีข้อตกลงร่วมกันว่าหลังจากการเสนอญัตติบุคคลที่จะเสนอเป็นนายกฯแล้วต้องให้เสนอญัตติเพื่อถกเถียง ซึ่งจะให้ใช้เวลา 2 ชั่วโมง

 

ทั้งนี้ นายรังสิมันต์ได้ลุกขึ้นกล่าวว่า วานนี้ (18 ก.ค.) ตนอยู่ในการประชุมด้วย ซึ่งไม่มีข้อสรุปดังกล่าว ดังนั้น ขอให้ประธานรัฐสภาวางตัวเป็นกลาง อีกทั้งในกระบวนการเลือกนายกฯต้องยึดการทำงานในสภา ต้องยึดระเบียบข้อบังคับ

 


นายวันมูหะมัดนอร์ชี้แจงว่า การอภิปรายยังอยู่ในระเบียบวาระ ไม่ได้นอกวาระ เพราะอภิปรายเรื่องการเสนอชื่อบุคคลที่จะถูกเลือกเป็นนายกฯ ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่ขอให้ว่ากันอีกที และเมื่อวาน (18 ก.ค.) เป็นการหารือไม่ได้ข้อยุติ แต่ต้องนำข้อหารือที่ไม่มาร่วมหารือแจ้งให้ตรงกัน หากมีความคิดเห็นไม่ตรงกันเรื่องเสนอชื่อซ้ำ หากไม่ตรงกับข้อบังคับข้อใดข้อหนึ่งอาจมีความคิดเห็นหลายฝ่าย จะให้แสดงความคิดเห็นได้ ใช้เวลา 2 ชั่วโมง หรือ 120 นาที ดังนั้น เพื่อความเรียบร้อย เสมอภาค เท่าเทียม จะให้เวลา 3 ฝ่าย ฝ่ายละ 40 นาที

 


นายรังสิมันต์จึงลุกใช้สิทธิพาดพิง ยืนยันว่า ผลการหารือ 3 ฝ่ายยอมรับว่ามีข้อเสนอจริง แต่พรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วย ดังนั้น ต้องเข้าสู่กระบวนการเลือกนายกฯตามมาตรา 272 เพื่อให้เป็นไปตามวาระ ซึ่งกรณีที่หารือนั้นเป็นเรื่องที่อยู่นอกวาระ

สุทิน ลุกเสนอชื่อ พิธา ในโหวตนายกรอบ2 กลับโดนงัดข้อบังคับ 41 โต้เดือด

หลังจากนั้นบรรยากาศของการประชุม สมาชิกได้ลุกอภิปรายโต้แย้งในประเด็นดังกล่าวอย่างเข้มข้น โดย ส.ว.สนับสนุนต่อการอภิปรายข้อหารือในประเด็นญัตติที่ตกไปตามข้อบังคับข้อ 41 ต่อไปเพราะการหารือของวิปนั้น หากข้อเสนอใดที่ไม่มีใครโต้แย้งถือว่าไดด้รับการยอมรับ และย้ำว่าญัตติเสนอชื่อพิธานั้นต้องตกไปตามข้อบังคับ แต่ยังถูก ส.ส.พรรคก้าวไกล โต้แย้งเป็นระยะๆ

 


อย่างไรก็ตาม ล่าสุดในที่ประชุมก็ยังถกเถียงกันอยู่เรื่องการเป็นญัตติ หรือ ไม่เป็นญัตติ ในการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย แต่ก็ยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกันว่า ข้อถกเถียงดังกล่าวเป็นญัตติหรือไม่