"พิธา" เคลื่อนไหว ก่อนโหวตนายกฯ ถึงสมาชิกรัฐสภาทั้ง 750 คน โดยเฉพาะ 250 ส.ว.

13 กรกฎาคม 2566

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความ ถึงสมาชิกรัฐสภาทั้ง 750 คน และโดยเฉพาะ 250 ส.ว.

กลายเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายจับตาอย่างมาก กรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาโพสต์ข้อความ และพูดในสภา ก่อนโหวตนายกฯ ระบุ

ถึงสมาชิกรัฐสภาทั้ง 750 คน และโดยเฉพาะ 250 ส.ว. :

วันนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสมาชิกรัฐสภาหลายท่านที่นี้ แม้จะเห็นด้วยกับนโยบายของเราหลายประการ ชื่นชอบในแนวทางการทำงานของเราไม่น้อย และเห็นว่าประเทศไทยที่พวกเราอยากจะเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น เป็นประเทศไทยแบบเดียวกับที่ท่านอยากเห็น ไม่มากก็น้อย

"พิธา" เคลื่อนไหว ก่อนโหวตนายกฯ ถึงสมาชิกรัฐสภาทั้ง 750 คน โดยเฉพาะ 250 ส.ว.

แต่ท่านก็ยังมีความคลางแคลงใจในตัวผม คลางแคลงใจในคุณสมบัติ จุดยืนทางการเมือง หรือนโยบายบางประการของเรา ความคลางแคลงใจนี้มากพอที่จะทำให้ท่านไม่สามารถยกมือโหวตให้ผมได้ แม้จะได้ยินเสียงเรียกร้องจากพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ว่าเขาต้องการรัฐบาลแบบไหน และนายกรัฐมนตรีคนไหน

ผมจะขอใช้พื้นที่นี้ อธิบายในทุกข้อกังวลสงสัยที่ท่านมีต่อผม เพื่อให้ท่านเชื่อใจผม วางใจว่าอนาคตของประเทศไทยในอีก 4 ปีข้างหน้า จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นภายใต้การบริหารของผม

"พิธา" เคลื่อนไหว ก่อนโหวตนายกฯ ถึงสมาชิกรัฐสภาทั้ง 750 คน โดยเฉพาะ 250 ส.ว.

ผมจะฉายภาพให้ทุกท่านได้เห็นว่าถ้าหากผมได้รับเลือกให้เป็นผู้นำในการบริหารราชการแผ่นดิน ร่วมกับพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงข้างมากจากประชาชนผ่านการเลือกตั้งตามกลไกประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ประเทศไทยในระยะเวลา 4 ปีต่อจากนี้ จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร จะมีทิศทางการพัฒนาไปทางใด และชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประชาคมโลก และความสัมพันธ์ภายในสังคมไทยเราเองจะวิวัฒน์ไปเช่นใด

***จุดร่วม

ท่ามกลางกระแสที่ถูกปลุกปั่นให้เห็นแต่ความแตกต่าง เรื่องสำคัญที่สมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยมองข้ามไปคือ สังคมไทยในความใฝ่ฝันของท่านกับพวกเรานั้น อันที่จริงแล้วมีความสอดคล้องต้องกันอยู่ไม่น้อย

• การสร้างการเมืองโปร่งใสไร้คอร์รัปชัน, การปฏิรูปราชการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ, การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ตลอดจนการมองเห็นความเหลื่อมล้ำและการผูกขาดทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่ ที่ว่ามาทั้ง 5 เรื่องนี้ ล้วนเป็นเรื่องสำคัญของชาติบ้านเมืองที่เราเห็นพ้องต้องกันว่าจำเป็นต้องแก้ไขจัดการอย่างจริงจัง

ผมเชื่อว่าทุกท่านในที่นี้ปรารถนาอยากเห็น “การเมืองโปร่งใสไร้คอร์รัปชัน”การเมืองที่อาศัยกับอิทธิพลและเครือข่ายอุปถัมภ์เป็นต้นตอของการทุจริตฉ้อฉล การจัดสรรทรัพยากรที่บิดเบือน ท่านก็ต่อสู้เพื่อสร้างการเมืองโปร่งใสไร้คอร์รัปชัน ไม่ต่างจากผม

• ผมเชื่อว่าทุกท่านในที่นี้ปรารถนาอยากเห็น “การปฏิรูปราชการ” ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดกันมายาวนานหลายทศวรรษ แต่กลับส่งผลแย่ลงทุกที การเลื่อนขั้นได้ดีของข้าราชการกลับขึ้นกับการรับใช้นาย ตำแหน่งราชการกลายเป็นเครื่องมือในการหาเงินหาส่วย ท่านก็ต่อสู้เพื่อปฏิรูปราชการให้เป็นราชการเพื่อประชาชน ให้เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการส่งมอบบริการสาธารณะ ไม่ต่างจากผม

• ผมเชื่อว่าทุกท่านในที่นี้ปรารถนาอยากเห็น “การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น” เพราะถึงแม้เราจะเริ่มต้นกระบวนการมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 แต่อำนาจหน้าที่ งบประมาณ ตลอดจนความสามารถในการดูแลประชาชนในจังหวัดต่างๆ ก็ยังคงเป็นอย่างจำกัด ท่านก็ต่อสู้เพื่อให้ประเทศไทยไม่ใช่แค่กรุงเทพ อยากให้คนไทยทั่วประเทศมีถนนหนทาง น้ำประปา และการศึกษาที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะอยู่จังหวัดไหนตำบลใด ไม่ต่างจากผม

• ผมเชื่อว่าทุกท่านในที่นี้มองเห็น “ความเหลื่อมล้ำและการผูกขาด” เป็นปัญหาใหญ่ที่กัดกินชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เพราะทำให้ต้นทุนการใช้ชีวิตของคนไทยสูงขึ้นเรื่อยๆ คนที่อยากตั้งตัวทำธุรกิจก็ไม่มีหนทางจะเติบโตเหมือนรุ่นพ่อรุ่นแม่เรา ท่านก็ต่อสู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ต่อสู้เพื่อเศรษฐกิจที่แข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ไม่ต่างจากผม

นี่เป็น “ประตูแห่งโอกาส” อันยิ่งใหญ่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทยมาก่อน เป็นช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย ที่เราจะสามารถร่วมกันสร้างการเมืองโปร่งใสไร้คอร์รัปชัน, การปฏิรูปราชการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ, กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ตลอดจนแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและการผูกขาดทางเศรษฐกิจร่วมกัน เป็นโอกาสอันดีที่ผู้แทนจาก ส.ส. และ ส.ว. จะร่วมกันสร้างสังคมไทยที่เราใฝ่ฝัน

 

***จุดต่าง

แน่นอนว่ามีประเด็นที่เรายังเห็นแตกต่างกันอยู่ ซึ่งเกิดขึ้นด้านหนึ่งจากการที่ไม่มีโอกาสได้สื่อสารทำความเข้าใจกัน ผมจึงขอใช้โอกาสนี้ในการชี้แจงทำความเข้าใจใน 3 เรื่องสำคัญ คือ ความเร็วในการเปลี่ยนแปลง, การต่างประเทศ, และความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน

• เรื่องแรก ความเร็วการเปลี่ยนแปลง มีสมาชิกวุฒิสภาหลายท่านที่ผมและทีมงานมีโอกาสพูดคุย และพบว่าเราเห็นตรงกันหมดเลยเรื่องการปฏิรูปการเมือง ระบบราชการ กระจายอำนาจ แต่แสดงความกังวลว่า รัฐบาลของพิธาจะเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านั้นเร็วเกินไป

พูดอีกอย่างก็คือ เห็นด้วยกับแนวทาง แต่กังวลเรื่องความเร็วในการเปลี่ยนแปลง ก็ต้องขออธิบายว่าเราเพียงแต่กำหนดทิศทางให้ชัดเจนว่าแต่ละเรื่องต้องมุ่งหน้าไปด้านไหน จากนั้นเราก็ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามกระบวนการทางรัฐสภา ยกตัวอย่างการเสนอกฎหมาย…

• เรื่องที่สอง ในด้านการต่างประเทศ รัฐบาลของผมต้องการรักษาสมดุลบทบาทของไทยในกระแสการเมืองระหว่างประเทศที่เข้มข้น ซึ่งเราจะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องยืนยันแนวทาง Rule-based Diplomacy ซึ่งหมายถึง การดำเนินยุทธศาสตร์การต่างประเทศที่ตั้งอยู่บนหลักการสากล ไม่โอนอ่อนไหวตามกระแสหรือไปตามประเทศมหาอำนาจโดยไม่สนหลักการพื้นฐาน

-Revive เราต้องฟื้นฟูความเป็นผู้นำของไทยในอาเซียน บนพื้นฐานที่คำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย ที่ผ่านมาเรานิ่งเฉยหรือ passive เกินไป จนทำให้ปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ตลอดจนปัญหายาเสพติด ถูกซุกซ่อนเอาไว้ใต้พรมจนทวีความรุนแรงขึ้น

-Rebalance คือ การปรับและรักษาสมดุล แม้จะไม่ใช่ประเทศยักษ์ใหญ่ แต่ไทยก็ไม่ใช่ประเทศเล็กๆ ที่ไร้เกียรติภูมิ เราเป็นประเทศที่มีอำนาจปานกลาง ไม่ใช่การโอนอ่อนลู่ลม แต่การยึดในหลักการเพื่อตัดสินใจบนจุดยืนที่มั่นคงต่างหาก ที่จะทำให้เราเพิ่มอำนาจต่อรองในเวทีโลกได้

ด้วยหลักการนี้ การจะยอมให้ใครมาตั้งฐานทัพบนแผ่นดินไทยย่อมเป็นไปไม่ได้

• และเรื่องที่สาม ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน ผมอยากชวนทุกท่านมองเรื่องนี้ในมุมมองประวัติศาสตร์ให้ยาวไกลขึ้น (Think backward and think forward)

หากเรานับปี พ.ศ. 2549 เป็นหมุดหมายสำคัญในฐานะจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งในสังคมไทย เราจะเห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของคนบางกลุ่มมาตั้งแต่เวลานั้น เพื่อล้มรัฐบาลเลือกตั้งถึงสองครั้งสองครา กลุ่มคนที่มีผลประโยชน์ส่วนตนและไม่มีเครดิตทางสังคมล้วนต้องดึงสถาบันมาอ้างอิงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มธุรกิจ

ในปัจจุบัน เมื่อกลุ่มการเมืองและกลุ่มธุรกิจบางกลุ่มกำลังจะเสียผลประโยชน์ ก็จงใจดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้ปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองอีกครั้ง จับมาวางเป็นคู่ตรงข้ามกับการลงคะแนนเสียงของประชาชนในวันที่ 14 พฤษภาคม ผมอยากชวนวิญญูชนคนที่มีสติไตร่ตรองให้ดีว่าการกระทำเช่นนี้มีราคาและต้นทุนอย่างไรกับสังคม

ผมเชื่อว่า ถ้าไม่มีใครชูคำขวัญ “เราจะสู้เพื่อในหลวง” เพื่อโค่นล้มรัฐบาล ถ้าไม่มีใครอิงแอบสถาบันเพื่อก่อรัฐประหาร ถ้าไม่มีใครเอาเรื่องล้มล้างสถาบันมาปลุกปั่นทางการเมืองให้คนเกลียดชังกันเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ถ้าเราไม่ใช้ ม.112 มาเป็นเครื่องมือมาทำลายล้างกัน ความขัดแย้งในสังคมไทยคงไม่มาถึงจุดนี้ ถึงเวลาแล้ว ที่พวกเราต้องเผชิญหน้ากับปัญหาใหม่ๆ อย่างมีวุฒิภาวะ แก้ปัญหาที่ต้นตอ ด้วยการยุติการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นประเด็นการเมือง แล้วหากุศโลบายที่ดีเพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จัดวางพระราชอำนาจและพระราชสถานะให้เหมาะสมสอดคล้องกับสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ ทำแบบนี้สถาบันจึงจะดำรงอยู่ได้อย่างสง่างามในสังคมไทย

 

***ปิดท้าย “ฉันทามติใหม่ของสังคมไทย”

• เป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อสิ่งใหม่เกิดขึ้นย่อมถูกต่อต้านจากสิ่งเก่า แต่สุดท้าย ผมเชื่อว่าสังคมไทยจะหาจุดลงตัวได้ เป็นจุดลงตัวที่ไม่มีใครได้ทั้งหมด ไม่มีใครเสียทั้งหมด เป็นจุดลงตัวที่เรายอมรับร่วมกันได้ แม้จะไม่เห็นตรงกันทุกเรื่อง แต่จะไปถึงจุดนั้นได้ เราต้องสร้างสังคมไทยให้พร้อมรับความแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างหลากหลายทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา รวมทั้งความคิดทางการเมือง

• นี่คือก้าวที่สำคัญของสังคมไทยในการร่วมกันสร้าง “ฉันทามติใหม่” ที่เป็นเรื่องของกระบวนการจัดการความขัดแย้งด้วยกระบวนการทางประชาธิปไตย ฉันทามติใหม่ไม่ได้แปลว่าทุกคนในสังคมต้องคิดเหมือนกันทั้งหมด นั่นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ฉันทามติใหม่ที่เรากำลังจะสร้างร่วมกันคือการยึดถือกระบวนการที่เป็นธรรมในการตัดสินใจเรื่องสำคัญของสังคม เราควรนำเรื่องที่ผู้คนเห็นแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิรูปกองทัพ การยกเลิกการผูกขาดทางเศรษฐกิจ การจัดการที่ดิน การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด กระบวนการสร้างสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การแก้ไขปรับปรุง ม.112 หรืออื่นๆ มาหาข้อยุติร่วมกันโดยใช้กระบวนการในสภาหรือกลไกทางประชาธิปไตยต่างๆ แทนที่จะไปปะทะกันบนท้องถนน มิใช่หรือ

• เราต้องบริหารจัดการความเห็นต่างไม่ให้กลายมาเป็นความขัดแย้ง ด้วยการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก และทำให้เรามีระบบนิติรัฐ มีระบบกฎหมายที่ดี มีกระบวนการยุติธรรมที่ทุกคนเสมอภาคเท่าเทียมกัน ทำให้การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเจ้าของประเทศ เป็นเป้าหมายหลักของรัฐ ความมั่นคงของชาติคือความมั่นคงของประชาชน ไม่ใช่มองประชาชนเป็นศัตรูของชาติ

สิ่งที่เรากำลังจะร่วมกันทำต่อไปนี้ไม่ใช่การลงมติเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ใช่การลงมติเลือกพรรคก้าวไกล แต่คือการเลือกยืนยันหลักการประชาธิปไตยในฐานะกลไกหลักในการตัดสินใจร่วมกันของสังคม

นี่ไม่ใช่การลงมติเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ใช่การลงมติเลือกพรรคก้าวไกล แต่คือการเลือกให้โอกาสกับอนาคตประเทศไทย ให้ประเทศได้เดินทางต่อตามฉันทามติที่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศได้ตัดสินใจแล้ว นี่คือการตัดสินประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่ผมไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว ต้องอาศัยการตัดสินใจของสมาชิกรัฐสภาที่ยึดหลักการ กล้าหาญ และเห็นแก่อนาคตของชาติที่มีประชาชนเป็นหัวใจ

ผมขอเชิญชวนทุกท่าน อย่าให้ความคลางแคลงใจที่ท่านมีต่อผม ขวางกั้นประเทศไทยไม่ให้เดินหน้าต่อตามเสียงและเจตนารมณ์อันแรงกล้าของประชาชน

มาร่วมกันเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยกัน

ขอบคุณครับ

"พิธา" เคลื่อนไหว ก่อนโหวตนายกฯ ถึงสมาชิกรัฐสภาทั้ง 750 คน โดยเฉพาะ 250 ส.ว.