"อุทยานแห่งชาติปางสีดา" เผยภาพ คลิป เสือโคร่ง​ ผู้ล่าแห่งพงไพร​

05 มิถุนายน 2566

อุทยานแห่งชาติปางสีดา เผยภาพ/คลิปเสือโคร่ง​ ผู้ล่าแห่งพงไพร​ ตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์​ระบบนิเวศ​ในพื้นที่

เสือโคร่งจัดอยู่ในจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมและเป็นสัตว์กินเนื้อ โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Panthera tigris อยู่ในวงศ์ Felidae เป็นสัตว์ที่มีขนาดที่สุดในวงศ์นี้ และเป็นเสือชนิดที่ใหญ่ที่สุดด้วย

สีขนบนลำตัวจะมีสีตั้งแต่โทนแดงส้มไปยังเหลืองปนน้ำตาล ส่วนล่างใต้ท้องจะเป็นสีขาว ลำตัวมีลายพาดผ่านเป็นสีดำและเทาเข้ม (ลายพาดกลอน) อาจดูเหมือนหมือนกันทั้งหมด แต่ในความจริงแล้ว ลวดลายของเสือโคร่งแต่ละตัวจะมีความแตกต่างกัน แม้กระทั่งลายทั้งสองด้านของลำตัวก็ยังแตกต่างกัน

"อุทยานแห่งชาติปางสีดา" เผยภาพ คลิป เสือโคร่ง​ ผู้ล่าแห่งพงไพร​

เสือโคร่งมีอุปนิสัยชอบออกล่าในเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน โดยใช้วิธีซุ่มรอเช่นเดียวกับเสือชนิดอื่น ๆ จะอาศัยต้นไม้ใบหญ้าพรางตัวแล้วค่อย ๆ ย่องเข้าไปใกล้เหยื่อทางด้านหลังหรือด้านข้าง เมื่อได้จังหวะและระยะที่พอเหมาะก็จะกระโจนเข้าใส่อย่างรวดเร็ว จุดตายสำคัญที่เสือโคร่งเลือกกัดคือคอ มันจะกัดเข้าที่คอหอยและค้างไว้ให้เหยื่อหายใจไม่ออกจนตาย การกัดที่จุดนี้มีข้อได้เปรียบกว่าการกัดที่จุดอื่น ๆ เพราะเป็นตำแหน่งที่ปลอดภัยจากเขาและจากการเตะถีบของเหยื่อ และยังทำให้ง่ายในการบังคับไม่ให้เหยื่อลุกขึ้นยืนอีกครั้ง ซึ่งเป็นวิธีที่มักใช้กับเหยื่อขนาดใหญ่ เช่น กระทิงหรือกวาง แต่หากเป็นเหยื่อตัวเล็ก เสือมักเลือกที่จะกัดตรงด้านหลังคอที่ตำแหน่งใกล้กะโหลก แรงกัดจะทำให้กระดูกคอแตกและกดเส้นประสาทจนเหยื่อตาย

"อุทยานแห่งชาติปางสีดา" เผยภาพ คลิป เสือโคร่ง​ ผู้ล่าแห่งพงไพร​

เสือโคร่งเป็นสัตว์ที่รักสันโดษ แต่ละตัวจะมีอาณาเขตอาศัยเป็นของตัวเอง ซึ่งเสือตัวเมียครอบครองอาณาเขตราว 10-20 ตารางกิโลเมตร และ 30-70 ตารางกิโลเมตรสำหรับเสือตัวผู้ การประกาศอาณาเขตจะทำโดยการทิ้งรอยข่วนตามต้นไม้และการปล่อยปัสสาวะไว้ตามที่ต่าง ๆ เช่นพุ่มไม้ โคนไม้ หรือก้อนหิน กลิ่นของปัสสาวะจะสามารถระบุตัวเสือโคร่งได้ เมื่อเสือโคร่งตัวอื่นมาได้กลิ่นนี้ จะรู้ได้ทันทีว่าเจ้าของพื้นที่เป็นเพศใด และพร้อมที่จะสืบพันธุ์แล้วหรือไม่ กลิ่นของปัสสาวะนี้คงอยู่ได้ไม่นาน ดังนั้นเจ้าของพื้นที่จะต้องหมั่นแวะเวียนตรวจตราพื้นที่และเติมกลิ่นของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพราะถ้าหากกลิ่นหายไป เสือโคร่งตัวอื่นอาจถือว่าเป็นพื้นที่ไม่มีเจ้าของและยึดพื้นที่ไปได้ ถึงแม้ว่าเสือโคร่งจะเป็นสัตว์ที่ชอบอยู่ตามลำพัง แต่ในบางครั้งเราอาจพบเสือโคร่งอยู่รวมกัน ที่เป็นการร่วมกันล่าเหยื่อที่ใหญ่กว่าหรือเป็นแม่เสือที่เลี้ยงดูลูก

"อุทยานแห่งชาติปางสีดา" เผยภาพ คลิป เสือโคร่ง​ ผู้ล่าแห่งพงไพร​
ที่มา : รู้จัก เสือโคร่ง และงานอนุรักษ์ในประเทศไทย (seub.or.th)
ขอบคุณภาพ : อุทยานแห่งชาติปางสีดา - Pang sida National Park