สธ. จับตา 3 กลุ่มอาการเสี่ยง ที่อาจมีผลเกี่ยวเนื่อง ซีเซียม-137

22 มีนาคม 2566

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย 3 กลุ่มอาการอาจมีผลเกี่ยวเนื่อง ซีเซียม-137 ใช้เวลา 30 ปี สารดังกล่าวจะสลายไปครึ่งเดียว

จากกรณีที่ ซีเซียม - 137 (Cesium-137, Cs-137) ได้หายไปจากโรงงานไฟฟ้าแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ นิคมอุตสาหกรรม 304 ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ ปราจีนบุรี ก่อนเจ้าหน้าที่จะพบในโรงหลอมเหล็กในพื้นที่กบินทร์บุรี ซึ่งพบว่าถูกบดและหลอมไปแล้ว ทำให้น่าห่วง ถึงผลกระทบ จากสารเคมีอันตรายที่จะส่งผลต่อร่างกายและสภาพแวดล้อม เนื่องจากสารก่อมะเร็งจะถูกแพร่กระจายออกมา และในระยะยาวจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ

สธ. จับตา 3 กลุ่มอาการที่อาจมีผลเกี่ยวเนื่อง ซีเซียม-137

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้แถลงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมเผย 3 กลุ่มอาการที่อาจเสี่ยงที่อาจมีผลเกี่ยวเนื่องกับซีเซียม-137 ได้แก่

  1. กลุ่มมีอาการทางผิวหนังและเนื้อเยื่อ 
  2. กลุ่มอาการทั่วไป คลื่นไส้อาเจียน  
  3. อาการผิดปกติผิดสังเกต จะมีการลงรายละเอียด เช่น คนมีเม็ดเลือดขาวต่ำกว่าปกติจำนวนมาก

สธ. จับตา 3 กลุ่มอาการที่อาจมีผลเกี่ยวเนื่อง ซีเซียม-137

ส่วนทางด้านการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ต้องรอให้สำนักงานปรมาณูฯ ระบุความชัดเจนก่อน ซึ่งมาตรการเฝ้าระวังของ สธ. ยังระบุเวลาที่แน่ชัดไม่ได้ จนกว่าสำนักงานปรมาณูฯ จะออกประกาศการควบคุมออกมา ซึ่งอนุภาคของกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่สามารถประเมินได้ด้วยตาเปล่า ต้องใช้เครื่องมือวัดอนุภาคของสารเท่านั้น

นอกจากนี้ นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า นับตั้งแต่มีการแจ้งว่า ซีเซียม-137 หายไปตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี

สำหรับอนุภาคของสารซีเซียม-137 มีค่าครึ่งชีวิตนานถึง 30 ปี หมายความว่ากว่าสารดังกล่าวจะสลายไปได้ร้อยละ 50 นั้นต้องใช้เวลานานถึง 30 ปี ขณะที่การวัดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สธ.ไม่สามารถทำได้ ต้องใช้เครื่องมือของสำนักงานปรมาณูฯ 

ส่วนการวัดว่าคนได้รับผลกระทบจากอนุภาคของกัมมันตรังสี จะใช้การตรวจวัดจากปัสสาวะว่าสารดังกล่าวตกค้างในร่างกายหรือไม่ ซึ่งระบบการตรวจวัดต้องจำกัดคน จำกัดพื้นที่ ทำให้ห้องปฏิบัติการมีความรัดกุม