อาลัย "จุมพล มั่นหมาย" อดีตรองเลขาธิการพระราชวัง เสียชีวิตแล้ว

01 พฤศจิกายน 2565

อาลัย "จุมพล มั่นหมาย อดีตรองเลขาธิการพระราชวัง และอดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" เสียชีวิตแล้ว ด้วยวัย 72 ปี

วันที่ 1 พ.ย. 2565 จากกรณีมีรายงานข่าว นายจุมพล มั่นหมาย อดีตรองเลขาธิการพระราชวัง และอดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เสียชีวิตแล้ว ด้วยอาการปอดติดเชื้อที่โรงพยาบาลศิริราช หลังรักษาตัวมาร่วม 2 เดือน สิริอายุรวม 72 ปี 

อาลัย จุมพล มั่นหมาย อดีตรองเลขาธิการพระราชวัง เสียชีวิตแล้ว

 

สำหรับประวัติของ จุมพล มั่นหมาย เกิดเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ.2493 ที่อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เป็นบุตรชายของ พล.ต.ท.จุฑา และนางขวัญใจ มั่นหมาย ศึกษาจบระดับมัธยมจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยรุ่นที่ 82, โรงเรียนตำรวจนครบาลรุ่น 34 , โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานรุ่นที่ 26 รุ่นเดียวกับ นายทักษิณ ชินวัตร ศึกษาเพิ่มเติม สาขาพัฒนาบริหารศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), หลักสูตรบริหารงานตำรวจชั้นสูง รุ่นที่ 15, วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 4212

อาลัย จุมพล มั่นหมาย อดีตรองเลขาธิการพระราชวัง เสียชีวิตแล้ว

จุมพล มั่นหมาย เริ่มต้นชีวิตราชการจากการเป็นตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ก่อนที่จะย้ายเข้าสู่พื้นที่นครบาล ในตำแหน่ง สารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ (สวป.สน.บางซื่อ) จากนั้นย้ายไปอยู่กองบังคับการปราบปราม จนเป็นรองผู้บังคับการปราบปราม (รอง ผบก.ป.) เคยดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี แล้วเลื่อนเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 (ผู้ช่วย ผบช.ภ.1) ก่อนเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 (ผบช.ภ.3) แล้วย้ายมาดูแลงานด้านการข่าวและปราบปราม ด้วยการเป็นผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล
 

ได้ใกล้ชิดกับการเมืองมากขึ้น ด้วยการเป็นรักษาการ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ, ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ คนที่ 12 (มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2549 ตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข), ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ (นักบริหาร 11), ที่ปรึกษา (สบ 10) (ทำหน้าที่หัวหน้าที่ปรึกษาด้านความมั่นคง) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ในปี พ.ศ. 2552 จุมพล มั่นหมาย ถูกจับตาว่าอาจจะได้เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต่อจาก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ โดยมีชื่อถูกเสนอเคียงคู่มากับ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ และได้รับการสนับสนุนจากทาง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ดูแลด้านความมั่นคง, นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และกลุ่มของทางนายเนวิน ชิดชอบ ด้วย แต่สุดท้าย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เลือกที่จะเสนอชื่อ พล.ต.อ.ปทีป แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ นายอภิสิทธิ์จึงแต่งตั้ง พล.ต.อ.ปทีป เป็นรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยาวนานกระทั่งเกษียณอายุราชการ พร้อมกับ จุมพล มั่นหมาย ในปี พ.ศ. 2553


ต่อมาในเมื่อปี 2560 นายจุมพล ถูกแจ้งความดำเนินคดีบุกรุกที่ดินอุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และสำนักพระราชวังลงโทษไล่ออกจากราชการในเวลาต่อมา ฐานประพฤติชั่วร้ายแรง ใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการในทางที่ไม่ถูกต้อง ต่อมา ศาลจังหวัดนครราชสีมา ตัดสินให้จำคุกความผิดฐานรุกป่า 2 ปี ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โทษจำคุก 4 ปี รวมจำคุก 6 ปี โดยนายจุมพล รับสารภาพ จึงลดโทษเหลือ 3 ปี และมีคำสั่งให้รื้ออาคารและสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่พิพาทออกไป และให้ชดใช้ควาเสียหายแก่รัฐ


ทั้งนี้ มีรายงานว่า นายจุมพล ภายหลังพ้นโทษคดีบุกรุกป่า สร้างบ้านในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา สุขภาพร่างกายได้ป่วยไปตามวัย ก่อนเสียชีวิต ได้เข้ารักษาตัวที่ รพ.ศิริราช มาร่วม 2 เดือน กระทั่งอาการทรุดลง และเสียชีวิตเมื่อคืนที่ผ่านมา (1 พ.ย.65) เวลา 00.38 น. 

 

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมที่ Tnews