ซีเอ็นเอ็นออกแถลงการณ์ ทำข่าวภายในจุดเกิดเหตุ ย้ำมี "เจตนาดี"

09 ตุลาคม 2565

สถานีข่าวซีเอ็นเอ็นออกแถลงการณ์ "แสดงความเสียใจ" กรณีทีมข่าวเข้าไปทำข่าวภายในจุดเกิดเหตุฆาตกรรมหมู่ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ย้ำ กระทำไปด้วย "เจตนาดี"

ซีเอ็นเอ็นออกแถลงการณ์ เสียใจเหตุทีมข่าว ทำข่าวภายในจุดเกิดเหตุ ย้ำมี "เจตนาดี" จากกรณีที่เกิดเหตุคนร้ายที่เป็นอดีตตำรวจกราดยิงเกิดเหตุกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอย่างสะเทือนขวัญ ที่จังหวัดหนองบัวลำภู จนทำให้ผู้สื่อข่าวให้ความสนใจไปทั่วโลก จนมีประเด็นดราม่าจาก นักข่าวซีเอ็นเอ็นเข้าไปรายงานภายในสถานที่เกิดเหตุกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์ ทำให้สังคมเกิดความไม่พอใจ และมีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อตำรวจให้ดำเนินการตามกฎหมายในข้อหาบุกรุก

ภาพทีมข่าวสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศฯ เผยแพร่

วันนี้ (9 ต.ค.) สถานีข่าวซีเอ็นเอ็น ออกแถลงการณ์ถึงการรายงานจากภายในจุดเกิดโศกนาฏกรรมในจังหวัดหนองบัวลำพูของทีมข่าวซีเอ็นเอ็น ลงนามโดย ไมค์ แมคคาร์ธี รองประธานผู้บริหาร และผู้จัดการทั่วไป ซีเอ็นเอ็น อินเทอร์เนชันแนล โดยอธิบาย ดังนี้

“ทีมข่าวได้ขออนุญาตเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขที่อยู่ตรงจุดนั้นแล้ว เพื่อเข้าไปในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทีมข่าวเข้าใจแล้วในเวลานี้ว่า เจ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่สามารถให้อนุญาตเข้าพื้นที่ก่ออาชญากรรมได้ หากทีมข่าวตระหนักถึงข้อเท็จจริงนี้ ว่า อาคารและห้องเรียนเหล่านี้ เป็นพื้นที่หวงห้าม ทีมข่าวจะไม่เข้าไป ทีมข่าวไม่มีเจตนาใด ๆ ที่จะก้าวล่วงกฎข้อบังคับ”

“ทีมข่าวเข้าไปในพื้นที่ผ่านประตูหน้าที่เปิดอยู่ ซึ่งมีนักข่าวอีกหลายคนอยู่ด้วย เวลานั้นไม่มีเทปของตำรวจปิดกั้นอยู่ โดยหลังทำข่าวด้วยความเคารพต่อสถานที่ภายในอาคารราว 15 นาที ทีมข่าวจึงออกมา แต่ประตูทางเข้าได้ถูกปิด และมีการใช้เทปตำรวจปิดล้อมแล้ว ทำให้ทีมข่าวต้องปีนออกมา”

“ทีมข่าวเข้าไปในอาคารด้วยเจตนาดี เพื่อให้เข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายใน และฉายภาพความเป็นมนุษย์แก่ผู้ชมถึงโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้น”

ตอนนี้ ซีเอ็นเอ็นได้ระงับการเผยแพร่รายงานชิ้นดังกล่าว และถอดวิดีโอออกจากเว็บไซต์แล้ว "เราเสียใจต่อความกังวลใจและการก้าวล่วงใด ๆ ที่รายงานของเราก่อขึ้น รวมถึงการทำให้ตำรวจไทยต้องเผชิญความยากลำบากในห้วงเวลาที่น่าสลดใจของประเทศชาติ"

เพิกถอนวีซ่าท่องเที่ยวนักข่าวซีเอ็นเอ็น

ซีเอ็นเอ็นออกแถลงการณ์ ทำข่าวภายในจุดเกิดเหตุ ย้ำมี "เจตนาดี"

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์กับสื่อ ภายหลังเข้าพูดคุยกับ น.ส. แอนนา โคเรน ผู้สื่อข่าวหญิงของซีเอ็นเอ็น ระบุว่า เบื้องต้นได้เพิกถอนวีซ่านักข่าวและช่างภาพแล้ว หลังได้นำตัวมาสอบปากคำ ภายหลังพบว่ามีความผิดฐานปฏิบัติงานในประเทศ เพราะเข้าไทยมาด้วยวีซ่าท่องเที่ยว

"เพราะฉะนั้นหลักการวีซ่าท่องเที่ยว ก็ต้องท่องเที่ยว ไม่ใช่ทำงาน แล้วทำข่าวแบบเผยแพร่ข่าวไปทั่วดลก อันนี้เป็นความผิดเรื่อง พรบ. การจัดการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งมีอัตราโทษปรับ 5 พันไม่เกิน 1 หมื่นบาท"

"เมื่อเราเพิกถอนวีซ่า เขาก็อยู่ในความควบคุมแล้ว เบื้องต้น ตกเป็นผู้ต้องหาแล้ว แต่เป็นผู้ต้องหาในฐานทำงานโดยผิดกฎหมาย" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ระบุ พร้อมเสริมว่า จะดำเนินการให้เสร็จในวันนี้ เพื่อตอบคำถามสังคมและประชาชนคนไทย

สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) ออกแถลงการณ์เมื่อคืนที่ผ่านมา (9 ต.ค.) ตำหนิการกระทำของทีมข่าวสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นในสหรัฐฯ กรณีเข้าไปในที่เกิดเหตุศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหนองบัวลำภู เพื่อรายงานเหตุกราดยิง โดยชี้ว่า เป็นการกระทำที่ไม่มืออาชีพและละเมิดจริยธรรมสื่อมวลชนอย่างร้ายแรง

สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย ระบุว่าทางสมาคม "รู้สึกผิดหวัง" กับรายงานข่าวของซีเอ็นเอ็น เนื่องจากมีการเข้าไปในสถานที่เกิดเหตุที่มีการกั้นที่เกิดเหตุไว้อย่างชัดเจนโดยไม่ได้รับอนุญาต

รายงานข่าวของซีเอ็นเอ็นชิ้นหนึ่งที่มีความยาวกว่า 3 นาที ที่ออกอากาศไปแล้ว ปรากฏภาพของผู้สื่อข่าวหญิงเข้าไปรายงานภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู พร้อมทั้งมีภาพที่เผยรายละเอียดของจุดเกิดเหตุ โดยที่หน้าเว็บไซต์ของรายงานข่าวชิ้นนี้ ระบุว่า ซีเอ็นเอ็น "ได้รับอนุญาตให้เข้าไปยังภายในสถานที่เกิดเหตุ"

สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย ระบุว่า "นี่ไม่ใช่สกู๊ปหรือตัวอย่างของการรายงานที่เจาะลึก เพราะไม่มีองค์กรข่าวอื่น ทั้งต่างประเทศหรือท้องถิ่น เตรียมที่จะประพฤติผิดจรรยาบรรณแบบนี้ และหนึ่งในนั้นสามารถทำได้เช่นนั้น"

แถลงระบุต่อว่า ประเทศไทยได้บอบช้ำจากเหตุโศกนาฏกรรมและมีความกังวลอย่างยิ่งถึงเรื่องภาพที่ไม่เหมาะสมที่จะถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะไม่ว่าทั้งในสื่อมวลชนหรือโซเชียลมีเดีย โดยหนึ่งในเหตุผลเรื่องนี้คือการเคารพต่อผู้เสียชีวิตและครอบครัวของพวกเขา ทั้งนี้ ประเทศไทย มีประวัติศาสตร์ที่ย่ำแย่เกี่ยวกับเรื่องภาพที่ไม่เหมาะสมที่มีความรุนแรงในสื่อ แต่ในหลายปีมานี้ก็มีความก้าวหน้าขึ้นมากเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้

"สื่อต่างประเทศและสื่อท้องถิ่นที่ไม่ยอมลดมาตรฐานในการทำผิดจริยธรรมดังกล่าว ภายใต้น้ำหนักของผลประโยชน์ระหว่างประเทศและแรงกดดันในการรายงานข่าว ควรได้รับการยกย่อง"

"ขณะเดียวกันซีเอ็นเอ็นควรตอบคำถามพื้นฐานง่าย ๆ ว่า ทีมข่าวซีเอ็นเอ็นจะทำพฤติกรรมแบบเดียวกันนี้หรือไม่ กับสถานที่เกิดเหตุอาชญากรรมร้ายแรงในสหรัฐฯ"

ภายหลังแถลงการณ์ของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย ถูกเผยแพร่ลงในบัญชีทวิตเตอร์ ทวิตเตอร์ที่ชื่อว่า CNN International PR

@cnnipr ชี้แจงว่า ทีมข่าวซีเอ็นเอ็นได้เข้าไปถ่ายทำในศูนย์เด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู กับสื่ออื่น ๆ ในช่วงเวลาที่เส้นแนวกั้นของตำรวจถูกเอาออกไปแล้ว ขณะกำลังเก็บภาพ เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข 3 คน เข้ามาพูดและบอกทีมข่าวว่าให้เข้าไปถ่ายทำด้านในได้ ทีมข่าวได้ใช้เวลาในการเห็บภาพฟุตเทจราว 15 นาที และออกมา ขณะนั้นเส้นแนวกันของตำรวจกลับถูกติดตั้งให้เหมือนเดิม ทีมข่าวจึงต้องปีนข้ามรั้วของศูนย์เด็กเล็กเพื่อออกจากจุดดังกล่าว

ซีเอ็นเอ็นออกแถลงการณ์ ทำข่าวภายในจุดเกิดเหตุ ย้ำมี "เจตนาดี"

ซีเอ็นเอ็นออกแถลงการณ์ ทำข่าวภายในจุดเกิดเหตุ ย้ำมี "เจตนาดี"