อธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามโครงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ

31 กรกฎาคม 2566

อธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองไผ่ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา

   นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน และคณะลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองไผ่ ตำบลแดนสงวน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ําคลองศาลาธรรม์ ตำบลตะเครียะ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา โดยมี นายการุณ แปลงรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 16 นายสิริพล รักษนาเวศ ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง นายศุภกิจ จันทร์จุลเจิม ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธุ์ นายสมพล ชุมแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 16 กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และรายงานผลความคืบหน้าโครงการ
 

อธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามโครงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ


นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอระโนด , อำเภอกระแสสินธุ์ , อำเภอสทิงพระ และ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งที่ผ่านมาในเขตพื้นที่ระโนดเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ จึงทำให้เกิดน้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้างในฤดูฝน เกิดความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรกรรมโดยรอบ ราษฎรได้รับความเดือดร้อนในการอุปโภค-บริโภค ในช่วงฤดูแล้ง ก็ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรอีกด้วย กรมชลประทานจึงได้มีแผนดำเนินการโครงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและลดปัญหาดังกล่าว

 


โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองไผ่ ตำบลแดนสงวน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เป็นการขุดขยายคลองสำหรับการระบายน้ำ ความยาว 10.07 กิโลเมตร โดยมีอาคารประกอบเป็นประตูระบายน้ำ 1 แห่ง ท่อระบายน้ำ 3 แห่ง ท่อลอด 26 แห่ง สะพานรถยนต์ 17 แห่ง หากดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยป้องกันและบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัย พร้อมเป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับการอุปโภค บริโภค และการเกษตรกรรมในพื้นที่ประมาณ 1,500 ไร่ ราษฎรได้รับประโยชน์ 500 ครัวเรือน


โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองศาลาธรรม์ ตำบลตะเครียะ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เป็นการขุดขยายคลองศาลาธรรม์ สำหรับการระบายน้ำ ความยาว 13.035 กิโลเมตร อัตราการระบายน้ำ 16.329 ลูกบาศก์เมตร/วินาที โดยมีอาคารประกอบ เป็นประตูระบายน้ำ 2 แห่ง ท่อระบายน้ำ 11 แห่ง ท่อลอด 84 แห่ง สะพานรถยนต์ 17 แห่ง หากดำเนินการแล้วเสร็จจะเป็นแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกของราษฏรที่ใช้น้ำจากโครงการทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง ประมาณ 1,917 ไร่ และสำหรับการอุปโภค-บริโภคของราษฎรประมาณ 1.22 ล้านลูกบาศก์เมตร

 


ในการนี้ อธิบดีกรมชลฯ ได้เน้นย้ำให้เร่งรัดดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อประโยชน์ของราษฎรในพื้นที่ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและสร้างความมั่นคงด้านน้ำอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป