How To 10 เคล็ดลับปลดหนี้ให้หมดไว เพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักหนี้สิน

27 พฤษภาคม 2567

ไม่ว่าใครก็ไม่อยากที่จะเป็นหนี้ หากเริ่มมีอาการแบบนี้ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ตั้งสติและยอมรับความจริงว่ากำลังเผชิญกับปัญหาหนี้สินจากนั้นต้องวางแผนการชำระนี้อย่างเป็นขั้นตอน ดังต่อไปนี้

How To 10 เคล็ดลับปลดหนี้ให้หมดไว เพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักหนี้

How To 10 เคล็ดลับปลดหนี้ให้หมดไว เพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักหนี้สิน

1. เช็กลิสต์รายการหนี้ว่ามีอะไรบ้าง
ก่อนจะเริ่มต้นปลดหนี้ เราจำเป็นต้องรู้ก่อนว่ามีหนี้อะไรบ้าง เพราะหลายคนอาจมีหนี้มากกว่า 1 รายการ ไม่ว่าจะเป็นหนี้นอกระบบ, หนี้บัตรเครดิต, หนี้บัตรกดเงินสด รวมไปถึงหนี้สินระยะยาว เช่น หนี้บ้าน หรือหนี้รถยนต์ เมื่อลิสต์รายการหนี้ออกมาแล้ว จะทำให้วางแผนชำระหนี้ได้ตรงเวลา และเห็นภาพรวมการบริหารจัดหนี้ชัดเจนขึ้น

อย่าลืมลิสต์รายการหนี้ที่เกิดจากการยืมกันระหว่างคนรู้จัก เช่น เพื่อน, ญาติ หรือคนในครอบครัวเข้าไปด้วย เพราะถึงแม้จะไม่มีการคิดดอกเบี้ยเหมือนกับหนี้สินอื่นๆ แต่ก็ต้องหาทางชำระคืนหลังจากที่คุณปลดหนี้ดอกเบี้ยสูงๆ เสร็จเรียบร้อยเช่นกัน

 

2. จัดอันดับความสำคัญของหนี้ จากอัตราดอกเบี้ย
หลังจากเช็กลิสต์รายการหนี้แล้ว ขั้นตอนต่อไปของการปลดหนี้ คือ จัดอันดับความสำคัญของหนี้สิน โดยพิจารณาจากอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อแต่ละประเภท เช่น ปิดหนี้นอกระบบให้หมดก่อน เพราะอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าสินเชื่อในระบบ จากนั้นค่อยหาทางชำระหนี้ในระบบที่อัตราดอกเบี้ยสูงอย่างบัตรกดเงินสด หรือบัตรเครดิตเป็นอันดับต่อไป

 

3. วางแผนชำระหนี้สิน
เมื่อจัดอันดับความสำคัญของหนี้เสร็จเรียบร้อย ให้คุณวางแผนผ่อนชำระหนี้สินเพื่อปลดหนี้ โดยกำหนดว่าแต่ละเดือนไม่ควรชำระหนี้เกินกว่า 60% ของรายได้ ไม่อย่างนั้นจะกระทบต่อการดำรงชีวิตในประจำวันมากเกินไป เช่น เงินเดือน 20,000 บาท ระดับการจ่ายหนี้ที่เหมาะสมต่อเดือน คือ 12,000 บาท

นอกจากวางแผนผ่อนชำระหนี้ต่อเดือนแล้ว เราอาจจัดการหนี้ในระบบด้วยการใช้สินเชื่อรีไฟแนนซ์ เพื่อให้ดอกเบี้ยต่ำลง เช่น หากเป็นหนี้บ้านแนะนำให้รีไฟแนนซ์ทุกๆ 3 ปี ส่วนรถยนต์สามารถรีไฟแนนซ์ได้ทันทีเมื่อผ่อนเกินกว่า 50% ของยอดหนี้ขึ้นไป และถ้าเป็นหนี้ส่วนบุคคล อาจขอสินเชื่อรวมหนี้เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยต่ำลงก็ได้เช่นกัน

 

 

4. เน้นชำระหนี้ก่อนใช้จ่ายเป็นอันดับแรก
หลังจากเงินเดือนออก เชื่อว่าหลายคนคงอยากใช้จ่ายเพื่อให้รางวัลแก่ตนเอง ไม่ว่าจะเป็น

ไปดูหนังเรื่องใหม่ หรือฉลองกับเพื่อนที่ร้านอาหาร แต่สำหรับผู้มีหนี้สินสิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกคือ จ่ายหนี้ก่อนเริ่มใช้จ่าย ไม่อย่างนั้นแล้วมีโอกาสเผลอใช้เงินหมด จนไม่สามารถหาทางปลดหนี้ได้แน่นอน

 

5. อย่าลืมวางแผนรายรับ-รายจ่าย
เมื่อวางแผนชำระหนี้สินเพื่อปลดหนี้เรียบร้อย ก็ถึงเวลาวางแผนรายรับ-รายจ่าย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะอย่าลืมว่าคุณต้องใช้ชีวิตถึงวันสิ้นเดือน ด้วยเงินที่เหลืออยู่หลังจากผ่อนชำระหนี้ออกไปแล้ว โดยคุณสามารถทำบัญชีรายรับรายจ่ายด้วยตนเอง เพื่อให้บริหารค่าใช้จ่ายในแต่ละวันเพียงพอจนถึงวันเงินเดือนออก

อย่างไรก็ตาม การทำบัญชีรายรับรายจ่ายมีข้อควรรู้คือ ต้องจดบันทึกทุกรายการแม้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายเล็กน้อย เช่น ค่าขนมจุกจิก หรือค่ารถโดยสารสาธารณะ มิเช่นนั้นแล้วตัวเลขในบัญชีจะน้อยกว่าความเป็นจริง ทำให้ประเมินแผนการเงินผิดพลาดไป และคุณควรลงรายการบัญชีอย่างสม่ำเสมอ โดยการพกพาสมุดเล่มเล็กติดตัว เพื่อป้องกันไม่ให้ลืมลงรายการใช้จ่าย

 

6. เจรจาประนอมหนี้
หากต้องการปลดหนี้ สิ่งที่ควรทำคืออย่าหลีกเลี่ยงการชำระ เพราะจะทำให้ปัญหาหนี้สินรุนแรงจนแก้ไขไม่ได้ในระยะยาว แต่ให้หาทางเจรจากับเจ้าหนี้โดยอาจขอพักชำระหนี้ ขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระ หรือเสนอเงื่อนไขอื่นๆ ที่คิดว่าจะสามารถจ่ายคืนเงินต้นได้

 

7. หาเงินเพื่อชำระหนี้
ถึงแม้ว่าจะวางแผนปลดหนี้อย่างเป็นระบบแล้วก็ตาม หากไม่มีเงินมาชำระหนี้เพราะรายได้ไม่เพียงพอ ก็จำเป็นต้องมองหาแหล่งรายได้อื่นๆ เช่น ทำงานเสริม หรือเปลี่ยนงานใหม่ และไม่ใช่แค่หาทางเพิ่มรายได้ การลดรายจ่ายก็สำคัญเช่นกัน โดยอาจพิจารณาลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ซึ่งจะช่วยให้มีเงินจ่ายหนี้เพิ่มอีกทาง

 

8. เงินออมก็สำคัญ อย่าละเลยที่จะเก็บไว้เพื่ออนาคต
นอกจากโฟกัสกับการปลดหนี้ ก็อย่าลืมเก็บเงินเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย เพราะอาจมีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เช่น ตกงานกะทันหัน หรือคนในครอบครัวป่วย ถ้าคุณไม่มีเงินออมเผื่อเอาไว้เลย ก็ไม่พ้นต้องไปกู้หนี้ใหม่ ทำให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินเป็นเรื่องยุ่งยากยิ่งกว่าเดิม

ซึ่งวิธีเก็บเงินสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีหนี้อยู่ทำได้ง่ายๆ คือ หักออมอย่างน้อย 3% ของรายได้เป็นประจำ แล้วฝากไว้ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง หรือฝากเงินในบัญชีเงินฝากประจำก็ได้ แต่ไม่แนะนำให้ลงทุนในหุ้น หรือกองทุนรวม เพราะมีความเสี่ยงจากการสูญเสียเงินต้นนั่นเอง

 

9. พยายามหลีกเลี่ยงการก่อหนี้เพิ่ม
เมื่ออยู่ในระหว่างการปลดหนี้ พยายามก่อหนี้ใหม่ให้น้อยที่สุด ยกเว้นว่าต้องกู้เพราะเกิดเหตุไม่คาดฝัน หรือต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อหาเงินมาจ่ายหนี้ เพราะหากสร้างหนี้ใหม่จากทัศนคติที่ว่าของมันต้องมี ด้วยการซื้อของฟุ่มเฟือย การแก้ปัญหาหนี้สินจะเป็นเรื่องยากขึ้น

ดังนั้น เพื่อให้สามารถปลดหนี้ได้ตามที่ต้องการ ควรหลีกเลี่ยงการใช้งานบัตรเครดิต และหันมาเก็บเงินซื้อของด้วยเงินสดแทน ทำให้ไม่ใช่แค่มีเงินปลดหนี้เท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างวินัยทางการเงินที่ดีอีกด้วย

 

10. หลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้
นอกจากไม่ควรก่อหนี้เพิ่มแล้ว หากต้องการปลดหนี้ให้ไวก็ไม่ควรผิดนัดชำระหนี้ เพราะการผิดนัดชำระแต่ละครั้ง สถาบันการเงินจะคิดค่าปรับ และค่าทวงถามเข้าไปในยอดหนี้ ด้วยเหตุนี้ปัญหาหนี้สินจะยิ่งเรื้อรังกว่าเดิม แถมการผิดนัดชำระหนี้บ่อยๆ ทำให้ความน่าเชื่อถือส่วนบุคคลลดลง เมื่อผู้กู้ต้องการเจรจาประนอมหนี้ ก็อาจไม่ได้ผลตามที่คาดหวังไว้

 

ที่สำคัญการผิดนัดชำระหนี้ยังส่งผลต่อเครดิตทางการเงินอื่นๆ ในอนาคต เช่น หากคุณวางแผนเก็บเงินซื้อบ้านแล้วต้องการขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย แต่เมื่อสถาบันการเงินเช็กเครดิตบูโรแล้วพบว่าเคยมีประวัติผิดนัดชำระหนี้มาก่อน ก็มีโอกาสขอสินเชื่อไม่ได้นั่นเอง

 

สรุปการปลดหนี้ อย่างมีแบบแผน จะต้องมีวินัยที่สูงอย่างการทำบัญชีรายรับรายจ่าย ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หากเงินที่ได้มาไม่พอก็หาเงินจากรายได้เสริมมาช่วยโปะหนี้ จัดลำดับการชำระหนี้ให้ดี และหวังว่าบทความนี้จะสามารถช่วยให้มนุษย์เงินเดือนทั้งปลดหนี้ได้ครับ!

 

 

Cr. MAKE by KBank